วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ศาสนาและพิธีกรรม


ศาสนาและพิธีกรรม

ระบบความเชื่อของกะเหรี่ยงมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ เชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติและมนุษย์กับสิ่งที่ลี้ลับ
ความเชื่อถือของกะเหรี่ยงได้แผ่แทรกซึมและมีอิทธิพลมากต่อการประพฤติปฎบัติในชีวิตประจำวัน ดังนั้นคนกะเหรี่ยงจึงให้ความสำคัญในทางศาสนามากนั่น คือการนับถือผีและพุทธรวมกัน ผีที่นับถือซึ่งมีความสำคัญ ได้แก่ ผีหน้าที่ และผีต่างๆ (ต่ามึข่า) ที่สิงสถิตอยู่ตามป่า ภูเขา ลำห้วย ในไร่ ในนา ในหมู่บ้าน และในเรือนของตนเอง เป็นต้น ผีที่ถือว่าเป็นผีร้ายนั้นเชื่อว่าเป็นผีที่จะทำให้ประสบภัยพิบัติทั้งปวงจึงต้องมีการเอาอกเอาใจด้วยการเซ่นสังเวยด้วยอาหารต่างๆ ซึ่งได้แก่ หมู,ไก่,เหล้า,ข้าว,ขนม เป็นต้น
นอกจากมีความเชื่อในเรื่องผีต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันต่อพวกเขาแล้ว กะเหรี่ยงยังเชื่อในเรื่องขวัญซึ่งมีประจำตัวของแต่ละคน กะเหรี่ยงยังเชื่อว่าในร่างกายคนเรามีอยู่ทั้งหมด 33 ขวัญ ส่วนใหญ่ไม่สามารถนับได้หมดว่า ขวัญอยู่ในส่วนไหนบ้างขวัญอยู่ที่ศรีษะ ขวัญสองที่ใบหูทั้งสองข้าง ขวัญจะละทิ้งหรือหายไปก็ต่อเมื่อคนๆนั้นได้ตายไป นอกจากนั้นแล้วเชื่อกันว่าขวัญชอบที่จะหนีไปท่องเที่ยวตามความต้องการของมันเอง และก็อาจจะถูกผีร้ายต่างๆ ทำร้ายหรือกักขังไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วย การรักษาพยาบาลหรือวิธีที่จะช่วยเหลือคนเจ็บป่วยได้ ก็คือการล่อและเรียกขวัญให้กลับมาสู่บุคคลที่เจ็บป่วย พร้อมกับทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญด้วย ในสังคมของกะเหรี่ยงนั้นถือเป็นปกติธรรมดา เมื่อวันในหมู่บ้านจะทำพิธีเลี้ยงผีและการเรียกขวัญของคนเจ็บป่วยแทนการรักษาด้วยสมัยใหม่ บางครั้งแม้หมอจะมีหมอข้าไปช่วยรักษาให้ตามแบบทันสมัย แต่ถ้าหากที่บ้านผู้ป่วยนั้นได้รักษาด้วยการเลี้ยงผีแล้วเขาจะปฏิเสธที่จะรักษาทันทีอย่างน้อย 3 วัน
คนกะเหรี่ยงนับถือทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และนับถือผี เกือบร้อยละเก้าสิบถือผี ผีมีอยู่ทุกแห่ง ในป่า ในไร่นา ในลำธาร ผีและวิญญาณเป็นบ่อเกิดของคุณธรรมและค่านิยมหลายประการ เช่นการอยู่อย่างผัวเดียวเมียเดียว ไม่ประพฤติผิดลูกเมียใคร หรือการเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ชรา กับความเชื่อที่ว่าวิญญาณของบรรพบุรุษ คือผีบ้านเรือนที่คอยคุ้มครองดูแลลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นต้น ผีที่นับถือ คือผีบ้านและผีเรือน ผีบ้านเป็นผีเจ้าที่ที่คอยปกป้องดูแลหมู่บ้าน ผีเรือนเป็นผีดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งคอยปกป้องรักษาบุตรหลานเหลนผู้สืบตระกูลของตนด้วยความห่วงใย นอกนี้ยังมีผีประจำไร่หรือผีนา ซึ่งจะช่วยทำให้ผลิตผลของไร่นาเจริญงอกงาม ดังนั้จึงมีการทำร้านเลี้ยงผีไร่หรือผีนาก่อนทำการปลูกข้าวหรือพืชไร่
เมื่อเก็บเกี่ยวได้ผล ก็จะมีการเลี้ยงอีกครั้ง เรียกว่าประเพณีงานกินข้าวใหม่ มีการฆ่าไก่ฆ่าหมูเป็นเครื่องเซ่นบูชาดังเช่นประเพณีขึ้นปีใหม่ ชาวกะเหรี่ยงที่นับถือพุทธก็จะนำอาหารหรือเงินมาถวายพระที่วัด
คนกะเหรี่ยงมีความเกรงกลัวผีป่า ซึ่งถือว่าเป็นผีร้าย คอยทำร้ายผู้คนมากกว่าจะคุ้มครองป้องกันภัย ผีป่ามี 2 พวกคือ ผีป่าบก และผีป่าน้ำ ผีป่าบกจะรวมไปถึงผีป่า ผีภูเขา ผีเจ้าบ้าน ผีเจ้าเมือง เจ้าที่ ผีหลวงและผีฟ้า ส่วนป่าน้ำ ได้แก่ ผีซึ่งสถิตอยู่ตามลำห้วย ลำธาร บึง หนองน้ำ เป็นต้น
กาเสี่ยงทาย
เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น จะมีการเสี่ยงทายถึงสาเหตุ โดยให้หมอผีปักกระดูกไก่หรือจับข้าวสารเสี่ยงทายดู เช่น เมื่อเดินป่ากลับมาบ้านและเกิดอาการเจ็บป่วย จะทำพิธีปักกระดูกไก่และถามดูว่า ไปถูกผีที่ไหนทำร้ายเอา เมื่อกระดูกไก่แจ้งตรงกับตำราว่าไปถูกผีประเภทนั้นประเภทนี้ ก็จะตามไปเลี้ยงผีตรงนั้น ถ้าอาการป่วยยังไม่ทุเลา ก็ปักกระดูกไก่ไต่ถามอีกว่าถูกผีป่าหรือผีน้ำทำร้ายเอา และถามว่าเป็นผีกินไก่ กินหมู กินเป็นคู่หรือเดี่ยว เมื่อกระดูกไก่บอกอย่างไรก็ไปเลี้ยงผีตรงนั้นอีก
การเลี้ยงผี
การเลี้ยงผีมีหลายพิธีและต่างวาระกัน เช่น การเลี้ยงผีเพื่อฉลองโชคฉลองชัย ในโอกาสย้ายหมู่บ้านไปตั้งอยู่ในที่แห่งใหม่ การเลี้ยงผีเพื่อขอขมาลาโทษต่อเจ้าบ้านเจ้าเมือง ซึ่งเป็นผีป่า ผีหลวง ผีฟ้า และการเลี้ยงผีเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
พิธีเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษ
ในสังคมกะเหรี่ยง การเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษจะทำกันปีละครั้ง หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนวันทำพิธีลูกหลานทุกคนจะต้องมาค้างคืนที่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน หากมีใครขาดผู้ทำพิธีจะต้องเอาข้าวก้อนที่คนต้องกิน เก็บไว้ให้เขากินเมื่อเขากลับมาบ้าน หากเขาไม่กลับมาได้ส่งไปให้เขา มิฉะนั้นจะถือว่าการเลี้ยงผีไม่ได้ผล ในพิธีนี้คนกะเหรี่ยงนิยมใส่เสื้ออย่างกะเหรี่ยงทุกคนต้องสำรวมกิริยาวาจา จะพูดมากไม่ได้ มิฉะนั้นจะต้องเลิกพิธีเสียกลางคัน และต้องทำพิธีกันใหม่ในเดือนถัดไป และยังมีข้อควรปฏิบัติและห้ามอื่นๆ เช่น ต้องกินข้าวในขันโตกเดียวกันหมด ต้องหุงข้าวหม้อเดียวกินเส็จแล้วแม่บ้านต้องล้างขันโตกล้างจานคนเดียวจะใหห้คนอื่นช่วยไม่ได้ ถ้ายังมีคนกินข้าวไม่เสร็จคนอื่นๆ จะลงจากบ้านไม่ได้ ในวันทำพิธีห้ามการตัดผม ห้ามกินของที่มีรสเปรี้ยวอีกด้วย การทำพิธีเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษมี 2 แบบคือ แบบไม่มัดมือ และแบบมัดมัดมือ
  • -แบบไม่มัดมือ พิธีเริ่มด้วยการที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวนั่งล้อมรอบโตกข้าว พ่อบ้านหรือแม่บ้านจะเริ่มรับประทานก่อนด้วยข้าว 1 คำ กับเนื้อไก่ต้มและน้ำ จากนั้นแม่บ้านหรือพ่อบ้านก็ทำตาม และลูกๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ลูกคนโตไปจนถึงลูกคนเล็กสุด ทุกคนกินได้คนละคำเท่านั้น และกินได้รอบเดียว พอกินครบทุกคน ผู้ทำพิธีก็หยิบข้าวสุก 1 ก้อนและเนื้อไก่ที่ต้มกับแกง วางลงบนพื้นแล้วสวดมนต์ขอเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษทั้งหลาย มารับอาหารเครื่องเซ่น และขอให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นช่วยปกป้องคุ้มครองกันภัย ขอให้ชีวิตความเป็นของครอบครัวดีขึ้น ให้มีความสุขไม่เจ็บป่วย ทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้นก็รับประทานอาหารร่วมกันได้
  • -แบบมัดมือ พิธีเริ่มด้วยการที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวนั่งล้อมรอบขันโตกข้าว ในขันโตกข้าวมีข้าวและกับข้าวที่ทำจากไก่หรือหมู และมีด้ายขวัญขาวพาดบนอาหาร จากนั้นแม่บ้านเริ่มทำพิธีด้วยการหยิบด้ายขวัญมามัดมือให้พ่อบ้าน พร้อมกับกล่าวถ้อยคำเรียกขวัญ และวิงวอนขอให้ผีบรรพบุรุษและผีเรือนอำนวยความสุขความเจริญให้แก่พ่อบ้าน จากนั้นพ่อบ้านก็ผูกมือให้แม่บ้านและเรียกขวัญในทำนองเดียวกัน เสร็จแล้วทั้งพ่อและแม่ก็ผูกมือให้ลูกๆ คน พร้อมให้พรและเรียกขวัญให้ เมื่อมัดมือทุกคนแล้ว พ่อบ้านหรือแม่บ้านก็หยิบก้อนข้าว 1ก้อน ให้ตกลงลงบนพื้นดินเพื่ออุทิศให้กับผีบ้านผีเรือน จากนั้นทุกคนก็ร่วมกันกินข้าวได้
การเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษทั้ง2 แบบ ไม่ใช้เหล้าในการประกอบพิธี การเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษ นอกจะทำตามปกติปีละครั้งแล้ว เมื่อสมาชิกในบ้านอยู่ไม่สุขสบายมีคนเจ็บป่วยบ่อย และเลี้ยงหมู,ไก่ไม่เติบโต ก็อาจมีการเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษอีกได้ การเลี้ยงในลักษณะนี้มีพิธีการมากมาย จะต้องใช้เหล้าในพิธี รวมทั้งทำข้าวเหนียวต้มด้วย ต้องมีการเชิญหมอผีมาทำพิธี และเชิญแขกมาร่วมกินด้วย ซึ่งต่างจากพิธีเลี้ยงผีเรือนตามปกติที่ห้ามคนนอกครอบครัวกินอาหารด้วยเป็นอันขาด
พิธีกรรมงานศพ
งานศพเป็นงานที่ทุกคนต้องไปร่วมพิธี โดยเฉพาะหนุ่มสาว จะได้มีโอกาสทำความรู้จักสนิทสนมกัน แสดงความรักต่อกัน และอาจตกลงปลงใจแต่งงานกันในเวลาต่อมา กะเหรี่ยงที่มีฐานะดีจะเก็บศพไว้นานหลายวัน ส่วนมาก3 วัน 3 คืนเท่านั้น ศพจะถูกบรรจุไว้ในโลงและประดับประดาอย่างดี และมีการทำบุญกันอย่างเต็มที่ถ้าฐานะไม่ดีก็ใช้เสื่อหุ้มห่อศพแล้วเอาเส้นด้ายดิบพันรอบ นำไปฝังหรือเผา ตามความประสงค์ของญาติผู้ใหญ่ ถ้าผู้ตายเป็นแม่บ้านหรือแม่เรือนจะรื้นบ้านทั้งหลัง เพราะของเหล่านี้เป็นสมบัติของแม่บ้าน ถ้าเก็บไว้จะไม่เป็นมงคล
ในงานศพจะมีการฉีกทำลายเครืองนุ่งห่มและเครื่องใช้สอยของผู้ตายทั้งหมด แล้วนำไว้ในป่าช้า บางทีมีการฉีกธนบัตรชนิดต่างๆ ของผู้ตาย ทิ้งไว้บนหลุมฝังศพหรือเผา และมักจะเอาเหรียญโลหะเงินไปฝังตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่ให้ผู้ใดทราบว่าฝังไว้ที่ไหน เพื่อว่าผู้ตายจะได้เอาไปใช้ในเมืองผี
ในตอนกลางคืน พวกหนุ่มสาวจะเดินเป็นแถวเรียงหนึ่งรอบๆ ศพ พร้อมกับร้องเพลงรำพันถึงผู้ตาย ไว้อาลัยแก่ผู้ตายตลอดคืน และผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าศพ
พวกชาวกะเหรี่ยงเวลาคนตายจะเก็บศพไว้นานสามวันสามคืน เพื่อรอญาติพี่น้องทุกคนผู้ทุกคนมาเคารพศพ หากผู้ตายเป็นหญิงสาวหรือชายโสด บิดามารดาก็จะแต่งตัวให้ด้วยเสื้อแม่บ้านหรือพ่อบ้าน และนำไม้ที่แกะสลักเป็นอวัยวะเพศตามลำดับ เมื่อนำไปเผาเพราะเชื่อว่าเมื่อเสียชีวิตลง ก่อนวิญญาณจะไปสู่สุคติจะต้องผ่านด่านพระยมบาลเสียก่อน ยมบาลจะค่อยตรวจสอบว่าคนใดแต่งงานแล้ว และคนใดยังไม่แต่งงาน
คนที่แต่งงานแล้วก็จะให้ผ่านด่านไปสุคติได้ แต่คนใดที่ยังไม่แต่งงานก็ไม่ให้ผ่านด่าน ถือว่ายังทำหน้าที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เมื่อตอนมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ อีกความหมายหนึ่งเพื่อเป็นการป้องกันผีเลวทรามและซุกซนทั้งหลาย ไม่ให้มาฉุดคร่าพาหญิงสาวและชายโสดไปจากสุคติ โดยเหตุนี้การนำไม้มาแกะสลักเป็นตามเพศจึงเป็นสัญลักษณ์บอกให้พระยมบาลรู้ว่าพวกเขาแต่งงานแล้วนะ ยอมให้พวกเขาไปสู่สุคติแต่โดยดีเถอะ
ในคืนแรก ช่วงหัวค่ำจะมีกลุ่มพ่อบ้านและหนุ่มๆ ขึ้นมาเดินรอบศพและขับลำนำสำหรับศพโดยเฉพาะ ซึ่งเนื้อหาจะมีความหมายไปในทางอวยพรและส่งวิญญาณสู่สุคติ ให้กลับไปอยู่ดีมีสุขในโลกหน้า ช่วงขับลำนำสำหรับศพนี้ จะไม่มีหญิงสาวขึ้นมาขับด้วยเพราะถือเป็นข้อห้าม บทลำนำที่ผู้ขับต้องการให้วิญญาณกลับไปอย่างมีความสุขในสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า และอีกบทหนึ่งที่กล่าวถึงการชี้หนทางให้วิญญาณกลับไปสู่สุคติ ซึ่งเชื่อว่ามีความตรงกันข้ามกับโลกนี้อย่างสิ้นเชิง ให้ผู้ตายรับรู้ล่วงหน้าว่ากาลข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เพื่อจะได้เห็นทางและกลับไปถึงที่หมายอย่างอย่างปลอดภัย
หลังจากเสร็จสิ้นการขับลำนำสำหรับศพแล้ว ก็จะเป็นโอกาสของหนุ่มสาวขึ้นมาขับลำนำต่อ ซึ่งการขับลำนำในช่วงที่สองนี้จะขับตลอดสามวันสามคืน จะไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศพเลย แต่จะเกี่ยวข้องกับการเกี๋ยวพาราสีและพูดจาหยอกล้อกันระหว่างหนุ่มสาว เพื่อสร้างบรรยากาศไม่ให้ญาติผู้ตายเศร้าโศกเสียใจมากจนเกินไป นับเป็นโอกาสพิเศษที่พวกเขาเหล่านั้นได้มาพบปะกันพูดคุยและเกี๋ยวพาราสีกันและกัน หลายครั้งหลายคู่ได้จับตาหมายหมั้นและตกลงปลงใจมาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นฝั่งเป็นฝา
เมื่อครบสามคืน ช่วงสายของวันรุ่งขึ้นญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านก็จะช่วยกันนำศพไปเผาที่ป่าประจำหมู่บ้าน โดยจะช่วยกันหามไปเมื่อถึงป่าช้าก็ช่วยกันหาเศษไม้แห้งบ้างและสดบ้างมากองไว้เป็นกองใหญ่ แล้ววางศพไว้บนกองนั้น จากนั้นก็จะจุดไฟเผาและรอจนกว่าจะไหม้ บางคนนิยมการฝังก็ไปฝังกัน
ส่วนเสื้อผ้าอาภรณ์และของใช้ของผู้ตายนั้นไม่มีการเผาพร้อมศพ แต่ญาติพี่น้องก็จะนำไปกองไว้ที่โคนต้นไม้คต้นในต้นหนึ่งระหว่างทางเดินไปป่าช้า กองเสื้อผ้าและของใช้เหล่านี้เรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า “เสอะเล” การที่ไม่มีการเผาและเก็บเอาไว้นี้เพื่อป้องกันวิญญาณไม่ให้กลับบ้านมาทางถามเสื้อผ้าอีก หากกลับมาให้กลับมาถึงเสอะเลก็พอแล้ว ด้วยเกรงว่าจะเป็นการมารบกวนลูกหลานหรือญาติพี่น้อง ซึ่งอาจทำให้พวกเขาล้มป่วยลงอีก
เมื่อผู้ร่วมไปเผาศพกลับมาถึงหมู่บ้านก็จะไม่กลับขึ้นบ้านของตนทันที จะต้องกลับไปที่บ้านของศพเสียก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่หามศพหรือจับต้องเครื่องใช้และเสื้อผ้าของคนตาย เพื่อกลับรดน้ำสระหัวด้วยส้มป่อยและขมิ้นที่ญาติของผู้ตายเตรียมไว้ให้แล้ว ซึ่งหมายถึงการขอขมาลาโทษ ขออย่าให้เจ็บไข้ได้ป่วยและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ประการใด
หลังจากนั้นสามวันสามคืน ลูกหลานหรือญาติพี่น้องจะไม่เข้าไปนอนตรงบริเวณที่ของผู้ตาย และช่วงเวลาเดียวกันนี้จะห้ามการออกไปทำงานด้วยเช่นกัน เรียกข้อห้ามนี้ในภาษากะเหรี่ยงว่า “ดึนา เกราะ” โดยถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องรอให้วิญญาณกลับจนว่าจะถึงสุคติเรียบร้อยและแน่ใจว่าจะไม่กลับมาที่บ้านอีกแล้ว

ประเพณีและข้อห้าม


ประเพณีและข้อห้าม

การแต่งกาย
เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง แยกออกเป็นการแต่งกายของผู้ชาย,การแต่งกายของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และการแต่งกายของผู้หญิงโสด การปักและลวดลายประดิษฐ์มีทั้งลวดลายในการถักทอมีความหมายของลวดลายที่ถักทอลงไป ส่วนเครื่องประดับนั้นมี ต่างหู,เคาะกลอ,โข่กลอ,กิ๊ป,ลูกปัด,กำไลข้อมือ เป็นต้น ชาวกะเหรี่ยงในแต่กลุ่มจะมีเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะตัวในด้านสีสัน แต่รูปแบบลักษณะการแต่งกายจะเหมือนกันคือผู้ชายจะนิยมใส่ชุดเสื้อคอสีแดง ใส่กางเกงทรงกระบอก ส่วนผู้หญิงที่เป็นโสดจะใส่ชุดเสื้อทรงกระบอกผ้านี้ทอเองด้วยมือ มีทั้งสีขาวและสีแดง ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่ชุดเป็น 2 ส่วนคือผ้าซิ้นสีแดงและใส่เสื้อคอสีดำ บนเสื้อจะมีการประดับด้วยลูกเดือยหรือปักด้วยด้ายหลากสีในลวดลายชนิดต่างๆ ซึ่งแต่ละชนิดจะเลียนแบบจากธรรมชาติ ซึ่งมีการเรียกชื่อเฉพาะโดยจะให้ความรู้สึกและอารมณ์ที่แตกต่างกันไป
เนื่องด้วยในปัจจุบันผู้ชายกะเหรี่ยงสะกอ นิยมแต่งกายเหมือนคนไทยในท้องถิ่นทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีเสื้อสีแดงสำหรับไว้ใส่ในโอกาสสำคัญ เสื้อแดงตัวนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย นั่นคือความอดทนแข็งแรง ส่วนเด็กผู้ชายกะเหรี่ยงจะใส่เสื้อแดงตัวเดียวยาวถึงหัวเข่า
เสื้อสีแดงของชายกะเหรี่ยงเป็นเสื้อทรงกระสอบคอเสื้อรูปตัววี ตรงชายคาเสื้อจะติดพู่ห้อยลงมา สมัยก่อนเสื้อแดงของชายโสดจะมีพู่ห้อยยาวลงมาเลยชายเสื้อ ส่วนเสื้อแดงของชายที่แต่งานแล้วจะติดพู่ห้อยลงมาเสมอชายเสื้อ เพราะชายที่แต่งงานแล้วต้องทำงานมากขึ้น การที่ใส่เสื้อที่มีพู่ยาวจะทำให้รุงรัง ไม่สะดวกในการทำงาน ผู้ชายกะเหรี่ยงจะสวมกางเกงแบบคนไทยภาคเหนือหรือบางที่สวมใส่แบบโสร่งพม่า แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะสวมกางเกงขายาวตามสมัยนิยมและอาจจะสวมเสื้อแดงทับเสื้อสีขาวข้างในอีกทีหนึ่ง(ชุดสูท)
นอกจากนี้แล้ว เสื้อแดงของผู้ชายกะเหรี่ยงจะใช้ผ้าโพกศีรษะซึ่งมีลวดลายปักสีแดง และมีถุงย่ามซึ่งจะออกสีแดงเช่นเดียวกัน เนื่องจากกะเหรี่ยงสะกอนับถือบรรพบุรุษฝ่ายแม่ แม่จะเป็นเจ้าของบ้านและเป็นใหญ่ในบ้าน วันแต่งงานผู้หญิงที่เป็นเจ้าสาวจะต้องเตรียมเสื้อผ้า ผ้าโพกศีรษะ และถุงย่ามไว้ให้เจ้าบ่าว ย่ามนี้จะต้องมีลายที่ปากถุง เพราะเชื่อกันว่าสามารถป้องกันผีไม่ให้ทำร้ายเจ้าบ่าวได้
กะเหรี่ยงสะกอมีความเคร่งครัด ในการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง มีข้อห้ามการไปไหนต่อไหนด้วยกันตามลำพังและการถูกเนื้อต้องตัวกัน การได้เสียกันก่อนแต่งงานถือว่าเป็นความผิดอย่างแรง ต้องมีการถูกลงโทษปรับสินไหมและต้องทำพิธีขอขมาหัวหน้าหมู่บ้าน รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านมีการฆ่าหมู,ไก่,วัว,ควาย เป็นต้น (แล้วแต่หัวหน้าแต่ละหมู่บ้านกำหนดโทษมากน้อยเพียงใด) เป็นการป้องกันหนุ่มสาวเล่นไม่ซื่อและเป็นการสอนหนุ่มสาวไปในตัวว่าทำไปต้องมีการทำโทษเหมือนคู่นี้ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าละอาย การมีชู้โทษถึงโดนไล่ออกจากหมู่บ้าน กะเหรี่ยงมีการอยู่อย่างผัวเดียวเมียเดียวตราบจนตายไม่ประพฤติผิดลูกเมียใคร กะเหรี่ยงสะกอที่เป็นแม่หม้ายน้อยมากที่จะแต่งงานใหม่
ด้วยความเชื่อดังกล่าวข้างต้น จึงมีการแยกความแตกต่างของการแต่งกาย ระหว่างสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้ว ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดทอด้วยมือทรงกระสอบสีขาว(หมายถึงสาวพรหมจรรย์) ยาวกรอมถึงเท้า (ณ.ปัจจุบันแปลกตาขึ้นมีทั้งสีเขียวและสีแดงวิวัฒนาการ) ในสมัยก่อนถ้าสวมใส่กระโปรงมีความยาวแค่เข่า สาวก็จะอายมากจนมีนิทานเล่าว่า ถ้ามีชายมาเห็นเข่าอ่อน สาวผู้นั้นก็จะฆ่าตัวตาย (เท่ากับว่าเสียความบริสุทธิ์แล้ว) ชุดขาวนี้จึงเรียกว่า”เซ้ว้า” ผู้หญิงจะใส่ตั้งแต่เด็กจนถึงวันแต่งงานถึงจะเปลี่ยน การใส่ชุดขาวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หญิงใดที่ตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้เข้าพิธีแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี ก็ถือว่ามีความผิดอย่างร้ายแรง จนกระทั่งมีคำด่าที่ถือว่าเป็นคำหยาบคายมากในบรรดากะเหรี่ยงสะกอด้วยกัน คืออุ้มท้องทั้งชุดขาว หรือเรียกว่า“เด้อเซ้ว้า” สาวโสดมีผ้าโพกศีรษะเพื่อกันแดดในหน้าฤดูร้อน ให้ความอบอุ่นในหน้าฤดูหนาวและเพื่อป้องกันไม่ให้ผมสกปรกเร็วจนเกินไป ในวันแต่งงานหญิงสาวกะเหรี่ยงจะมีผู้ใหญ่ช่วยเปลี่ยนชุดขาวเป็นชุดสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะต้องมอบชุดขาวนั้นให้คนอื่นทั้งหมดเพราะไม่ต้องใช้แล้ว แต่จะให้น้องสาวซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียงกันไม่ได้เช่นกัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้น้องไม่ได้แต่งงาน
ผู้หญิงกะเหรี่ยงสะกอที่แต่งานแล้ว จะสวมเสื้อประดับประดาด้วยลูกเดือยและฝ้ายสี การประดิษฐ์ลวดลาย และการใช้สีสันต่างๆ คิดค้นขึ้นมาแทนสิ่งที่เห็นอยู่รอบตัว เช่น นำเม็ดลูกเดือยมาเรียงกัน 2 เม็ด หมายถึงรอยรอยเท้าสุนัข หรือการปักไขว้ด้วยด้ายสีแดงเป็นรัศมี หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นต้น เสื้อดังกล่าวเป็นรูปทรงกระสอบ ตัวสั้นเลยเอว คอเสื้อเป็นรูปตัววี แขนในตัว สั้นเลยไหล่มานิดหนอ่อย เสื้อนี้เรียกว่า “เซ้ ซุ “ และจะสวมผ้าซิ่น ทั้งเสื้อและผ้าซิ่นเป็นเครื่องหมายแสดงว่ามีเจ้าของแล้ว จะไม่มีชายอื่นมาเกี่ยวข้องอีก สาวโสดจะใส่ชุดของหญิงที่แต่งงานแล้วไม่ได้ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ไม่ได้แต่งงาน หรือมีลูกโดยยังไม่ได้แต่งงาน หรืออาจทำให้เป็นบ้าไปเลยก็ได้ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็จะกลับไปสวมใส่ชุดขาวอีกไม่ได้ เพราะเป็นการดูถูกความบริสุทธิ์ของหญิงสาว เสื้อของหญิงที่แต่งงานแล้ว จะต้องมีลายปัก เพระถ้าไม่มีเชื่อว่าจะทำให้ไม่มีลูก กะเหรี่ยงมีทั้งนับถือผี นับถือศาสนาพุทธ และนับถือศาสนาคริสต์
เสื้อของหญิงที่แต่งงานแล้วจึงต้องมีการปักลูกเดือย เพราะเชื่อกันผีได้ และมักจะทอลายลงไปเลย ใช้วิธีปักด้วยมือดังเช่นนี้เสื้อของกะเหรี่ยงที่นับถือผีจะใส่ผ้าซิ่นที่มีลายกี่ ผ้าซิ่นของหญิงที่แต่งงานแล้วลวดลายของผ้าซิ่นแสดงความขยันหมั่นเพียรของผู้ทำ ยิ่งลวดลายมีมากก็ยิ่งแสดงความขยันหมั่นเพียรมมากขึ้นเท่านั้น
การย้อมสีของผ้ากะเหรี่ยงนั้น จะใช้วัสดุธรรมชาติ วัสดุที่จะนำมาย้อม ได้แก่ เปลือกไม้สัก ไม้แต่ง ไม้ประดู่ เป็นต้น ผู้ชายจะเป็นผู้หามาให้จากป่า หรือที่ห่างไกลจากที่อยู่อาศัย ส่วนต้นไม้ที่ใช้ย้อมสีเป็นต้นเล็กๆ เช่น ต้นคราม ต้นแสดหรือเงาะป่า เป็นต้น การย้อมสีของลายกี่จะต้องไปเอาต้นไม้ชนิดหนึ่งในป่าซึ่งมีสีอย่างลายของกี่ เวลาไปเอาจะต้องไม่บอกใคร เพราะจะทำให้ย้อมไม่ติด
ผ้าซิ่นที่ทอเป็นลายกี่ เชื่อกันว่าป้องกันอันตรายได้ ผู้ชายที่เป็นทหารหรือนักรบ เวลาออกไปรบจะเอาเศษผ้าถุงของแม่มาติดไว้บนศีรษะ เพื่อป้องกันอันตราย นอกจากนี้ในสมัยก่อน อัตราการตายของหญิงมีครรภ์และของทารกแรกเกิดค่อนข้างสูง จึงเชื่อว่าลายกี่จะช่วยป้องกันไม่ให้ทารกตายได้ นอกจากนี้ ขณะที่ผู้หญิงกะเหรี่ยงกำลังอยู่ไฟหลังคลอดลูก จะเอากระบุงใส่ฟืนที่เรียกว่า”เส่กวะ” มาวางไว้ใกล้กับประตูบ้าน แล้วเอาเสื้อที่ติดลายลูกเดือยมาวางบนปากกระบุง เพื่อป้องกันไม่ให้ผีมาทำร้ายเด็ก เพราะเมื่อผีมาถึงจะต้องนับลูกเดือย นับลายเสื้อและลายของกระบุง จนมึนงงและตาลายไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ และเนื่องจากความหวาดกลัวการตายในระหว่างตั้งครรภ์ จึงเกิดคำด่าที่หยาบคายรุนแรงมาก คำว่า “ซี้ เทาะ เด้อ” ซึ่งแปลว่า “ตายทั้งท้องกลม”
เสื้อกะเหรี่ยง ส่วนใหญ่จะทอเองด้วยมือ การทอผ้านับเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ดั้งเดิมอย่างหนึ่งของกะเหรี่ยง ได้ทอผ้าใช้ในครอบครัวมาเป็นเวลานานแล้ว รูปแบบการทอผ้ามีลักษณะคล้ายกับการทอผ้าของชาวเปรูในสมัยโบราณ และเหมือนของชนเผ่าหนึ่งในแถบในประเทศกัวเตมาลา ฟิลิปปินส์ ปัจจุบันการทอผ้าแบบนี้ของกะเหรี่ยงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มว่าจะสูญหายไปในที่สุด การทอผ้าที่ปรากฏเป็นแบบ back strap ทั้งสิ้นซึ่งมีลักษณะดังนี้ คือ “ ขึงด้ายกับไม้คาน 2 อันในแนวนอน คานด้านหนึ่งผูกติดกับหลัก ส่วนคานอีกด้านหนึ่งผู้ทอจะใช้สายหนังวัวคล้องหัวท้าย ติดกับตัวเอวของตน ความตึงของด้ายยืนจึงไม่คงที่ ผู้ทอสามารถบังคับให้ด้ายยืน ตึงหรือหย่อนได้ตามความต้องการ ซึ่งทำให้เกิดผลดีคือ เนื้อผ้ามีความเรียบและแน่น สม่ำเสมอ ผู้ทอจะโน้มตัวไปข้างหน้าเมื่อต้องการให้ด้ายยืนหย่อน และเอนตัวมาด้านหลังเมื่อต้องการให้ด้ายตึง เครื่องทอแบบกะเหรี่ยงนี้พบในประเทศจีน ญี่ปุ่น พม่า ธิเบต และหมู่เกาะมลายู ปัจจุบันคงมีใช้อยู่ในประเทศเปรู กัวเตมาลา และเม็กซิโก (สารภี ศิลา และรัชดาภรณ์ กุณามา 2533:18)
ในปัจจุบัน กะเหรี่ยงนิยมซื้อด้ายสำเร็จรูปมาทอ เนื่องจากผลผลิตจากไร่ไม่เพียงพอ และไม่สามารถหาแหล่งซื้อปุยฝ้ายได้ ประกอบกับกรรมวิธีการผลิตเส้นด้ายนี้ ต้องใช้เวลามาก ในเรื่องเกี่ยวกับการทอผ้านี้ มีการแนะนำจากหน่วยงานราชการ ให้ใช้การทอผ้าแบบกี่กระตุกเพื่อทำให้เกิดความรวดเร็ว และได้ปริมาณมากขึ้นสามารถขายเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว แต่การทอผ้าแบบนี้ยังไม่พอแพร่หลายนัก (สารภี ศิลา และรัชดาภรณ์ กุณามา 2533:18)
พิธีมัดมือปีใหม่
งานมัดมือขึ้นปีใหม่หรืองานทำขวัญประจำปีของกะเหรี่ยงเรียกว่า “กิจึ๊” จะจัดขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน หมอผีประจำหมู่บ้านจะเป็นคนกำหนดวัน หากหมู่บ้านใดมีหมอผี 2 คนงานมัดมือก็จะมี 2 งานซึ่งวันจะไม่ตรงกัน พิธีมัดมือปีใหม่เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฤดูกาลการเพาะปลูก หลังจากงานมัดมือปีใหม่แล้วไม่นาน จะเริ่มถางไร่และเตรียมที่นาสำหรับเพาะปลูก ก่อนวันพิธี 1 วันชาวกะเหรี่ยงจะทำข้าวเหนี่ยวต้มเตรียมไว้ จะมีการฆ่าควายที่รวมเงินกันซื้อมา แล้วมาแบ่งกันทำอาหารรับประทาน เนื้อควายนี้เขาจะไม่ใช้ในพิธีกรรมเลย กับทั้งมีการต้มเหล้า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง และมีการตำข้าวปุ๊ก
พิธีมัดมือทำขวัญ เริ่มด้วยพ่อแม่เอาตะกร้าใส่สิ่งของต่างๆ เช่น เสื้อ ผ้าถุง ผ้าโพกหัวของแม่บ้าน ซึ่งเป็นของใหม่ ไก่ เหล้า ข้าวเหนียวต้ม เป็นต้น ไปวางไว้ที่หัวบันไดข้างหนึ่ง มือหนึ่งจับไก่2 ตัวเป็นไก่ตัวผู้กับตัวเมีย ไว้ให้อยู่นิ่งๆ อีกมือข้างหนึ่งใช้ไม้คนหม้อข้าวเคาะหัวบันได พร้อมทั้งสวดมนต์ เมื่อเสร็จแล้วก็ไปอีกหัวหนึ่งบันได จากนั้นยกตะกร้าเข้ามาไปในบ้าน เคาะและสวดมนต์ตรงด้านหัวนอนของพ่อบ้านและแม่บ้าน สวดเสร็จก็ฆ่าไก่เอามาลวก ถอนขนออกแล้วเอาไปย่างไฟให้หอมเพื่อนำไปทำกับข้าว เมื่อทำกับข้าวเสร็จก็จัดอาหารลงบนขันโตก อาหารมีข้าว กับข้าว ข้าวปุ๊ก ข้าวเหนียวต้มที่แกะออกแล้ว และเหล้า 1 ถ้วย
จากนั้นเอาเส้นฝ้ายทีมีความยาวประมาณ 14-15 นิ้วมาวางพาดบนขันโตกให้ถูกข้าวแกงและขนม เส้นฝ้ายนี้มีจำนวนเท่าสมาชิกของครอบครัว จากนั้น พ่อบ้านทำพิธีด้วยการเอาไม้คนหม้อข้าวเคาะขันโตก แล้วสวดมนต์เรียกขวัญมากินอาหาร พอสวดเสร็จ พ่อบ้านหรือแม่บ้านเอาด้ายขวัญผูกข้อมือลูกทุกคน จากลูกคนเล็กไปยังลูกคนโต พร้อมทั้งสวดมนต์เรียกขวัญให้อยู่กับตัว เมื่อผูกเสร็จพ่อบ้านกับแม่บ้านจะผลัดกันผูกมือแก่กันและกัน พร้อมที่ทั้งสวดมนต์ให้แก่กัน จากนั้นพ่อบ้านจะยกถ้วยเหล้าขึ้นจบเทลงไปพอเป็นพิธี แล้วสวดมนต์ให้ผีลงมาดื่มสุราถ้วยนั้น และขอให้ปกป้องดูแลรักษาโรคภัยให้แก่สมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลการทำมาหากินสะดวก ปลูกพืชได้ผลดี พอสวดเสร็จทุกคนก็ดื่มเหล้าด้วยกัน และกินข้าวในโตกร่วมกันเป็นอันเสร็จพิธี
พอตกกลางคืน จะมีการดื่มเหล้าและร้องเพลงกัน การร้องและการดื่มนี้จะต้องวนเวียนไปจนครบทุกบ้านกล่าวแต่คำอันเป็นมงคลแก่ชีวิต พิธีมัดมือขึ้นปีใหม่นี้ มีเรื่องความเชื่อและกฎเกณฑ์ที่ควรปฏิบัติเกี่ยวข้องอีกมาก มีความแตกต่างในรายละเอียดระหว่างหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้าน และแตกต่างตามความเชื่อของหมอผีแต่ละคน แต่มีความเชื่อที่สำคัญคือ หากเดือนที่กำหนดจะมีงานมัดมือขึ้นปีใหม่นี้ เกิดเหตุการณ์ไม่ดีไม่งามในหมู่บ้าน เช่น มีคนตาย มีเสือเข้ามากินสัตว์เลี้ยงในบ้าน มีหนุ่มสาวได้เสียกัน เป็นต้น ก็ต้องยกเลิกหมดถือว่าการเตรียมการครั้งนี้ไม่ดี ทำต่อไปไม่เกิดผลดีต่อคนในหมู่บ้าน ต้องเลื่อนไปจัดในเดือนต่อไป หรือหากจัดพิธีไปแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นทีหลัง จะถือว่างานที่จัดไปแล้วนั้นใช้ไม่ได้เช่นกัน ต้องจัดพิธีกันใหม่อีก ( สุริยา รัตนกุล และลักขณา ดาวรัตนหงษ์ 2531)
การเกิด
เมื่อทารกเกิดสายรกที่ตัดออกไปแล้วก็จะบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่ปิดฝาด้วยเศษผ้า แล้วนำไปผูกไว้ตามต้นไม้ในป่ารอบหมู่บ้าน ต้นไม้ต้นนั้นเรียกชื่อว่า “เดปอทู่” แปลว่าต้นสายรก และต้นไม้ต้นนี้จะห้ามตัดโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญของทารกจะอาศัยอยู่ที่นั่น หากตัดทิ้งจะให้ขวัญของทารกหนีไปและทำให้ทารกล้มป่วยลง หากว่าผู้ใดผู้หนึ่งตัดต้นไม้ต้นนี้โดยเจตนาหรือไม่เจตนา จะต้องถูกปรับด้วยไก่หนึ่งตัว พ่อแม่ก็นำไก่ตัวนี้ไปทำพิธีเรียกขวัญทารกกลับคืนมา
วันที่ไปผูกสายทารกติดกับต้นไม้นั้นเพื่อนบ้านทุกคนจะไม่ออกไปทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นข้อห้าม เรียกข้อห้ามนี้ว่า “ดึต่าเบล” เป็นกฎหมายประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต เมื่อถึงเวลาขั้วสายรกหลุดออกไปผู้เป็นพ่อก็จะไปทำพิธีผูกมือเรียกขวัญทารก โดยไปทำพิธีที่ใต้ต้นไม้ที่ผูกติดสายทารกต้นนั้น เพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่ที่บ้าน เรียกพิธีผูกขวัญนี้ว่า “กี่เบลจือ” คือพิธีผูกขวัญครั้งแรกของบุคคลผู้นี้ที่เกิดมาลืมตาอยู่บนโลก คนกะเหรี่ยงเชื่อว่าขวัญของคนมีอยู่ 37 ขวัญที่อยู่ในรูปของสัตว์ชนิดต่างๆ การผูกขวัญครั้งแรกของทารกนี้ก็จะทำให้ทารกได้รับขวัญที่ 37 ขวัญนี้ โดยครบถ้วน ซึ่งได้แก่
1.ขวัญหัวใจ, 2.ขวัญมือซ้าย, 3.ขวัญมือขวา, 4.ขวัญเท้าซ้าย, 5.ขวัญเท้าขวา, 6.ขวัญหอย,7.ขวัญปู,8.ขวัญปลา, 9.ขวัญเขียด,10.ขวัญแย้,11.ขวัญจิ้งหรีด,12.ขวัญตั้กแตน,13.ขวัญตุ๊กแก,14.ขวัญแมงมุม, 15.ขวัญนก,16.ขวัญหนู,17.ขวัญชะนี, 18.ขวัญหมูป่า, 19.ขวัญไก่ป่า, 20.ขวัญเก่ง, 21.ขวัญกวาง, 22.ขวัญสิงห์ ,23.ขวัญเสือ, 24.ขวัญช้าง, 25.ขวัญข้าว, 26.ขวัญงู, 27.ขวัญตุ่น, 28.ขวัญเม่น, 29.ขวัญเลียงผา, 30.ขวัญแรด, 31.ขวัญเต่า, 32.ขวัญตะกวด, 33.ขวัญกุ้ง, 34.ขวัญอีเห็น, 35.ขวัญกระทิง, 36.ขวัญต่อ, 37.ขวัญนกแก๊กนกแกง.
พิธีแต่งงาน
หนุ่มและสาวกะเหรี่ยง มักมีโอกาสพบปะสนทนากันในตอนกลางคืน หนุ่มกะเหรี่ยงจะไปหาสาวที่บ้าน และนั่งสนทนากันบนบ้านซึ่งอาจเป็นนอกห้องหรือในห้อง ส่วนใหญ่จะเป็นในห้อง เพราะมีเตาไฟที่ให้แสงสว่างอยู่กลางห้อง เนื่องจากบ้านของกะเหรี่ยงมีห้องเพียงห้องเดียว ในขณะที่สนทนากัน พ่อแม่ก็จะนอนอยู่ใกล้เตาไฟนั่นเอง นอกจากที่บ้านของหญิงสาวแล้ว โอกาสที่หนุ่มสาวกะเหรี่ยงจะได้พบกัน คือ ในงานศพเวลากลางคืนพวกหนุ่มสาว จะเดินรอบๆ ศพ และกอดคอกันร้องเพลงระหว่างหญิงกับหญิง ชายกับชายนั้นอวยพรให้ผู้ตายไปสู่ที่ชอบ (ห้ามกอดกันเด็ดขาดชายกับหญิง) โอกาสนี้เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้ใกล้ชิดและสนิทสนมกันมาก การร้องเพลงในงานศพนี้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะโต้ตอบบทเพลงกันและกันอย่างสนุกแบบมีศิลปะ หนุ่มๆ สาวๆ คู่ไหนชอบพอกันฝ่ายชายใดที่มีลูกคอเสียงดีโชว์ออกมาด้วยเสียงที่ไพเราะมีความหมาย มีความซาบซึ้งให้ฝ่ายหญิงที่ตนจับคู่ได้ฟัง หญิงสาวบางคนมีความซาบซึ้งในบทเพลงที่ฝ่ายชายร้องโต้กลับมาถึงน้ำตาซึมร่วงก็มี ฝ่ายผู้หญิงก็เหมือนกันโต้กลับฝ่ายชายด้วยเสียงที่ไพเราะผู้ชายถึงน้ำตาร่วงก็มีเหมือนกัน การร้องเพลงในงานศพจุดมุ่งหมายก็คือ

1. เพื่อให้เกิดความสมานสามัคคีในงานการจัดงานศพ 
2. เพื่อให้ชายหนุ่มหญิงสาวจะได้มีโอกาสเกี้ยวพาราสีกัน 
3. เพื่อให้หนุ่มสาวฝึกร้องเพลงให้เป็น 
4. เพื่อส่งดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สุคติ เป็นต้น

หากหนุ่มสาวได้เสียกันก่อนแต่งงาน ก็จะต้องมีการขอขมาต่อผีเจ้าที่ ซึ่งเป็นผีบ้านไม่ใช่ผีเรือนและให้มีการขอขมาต่อผู้เฒ่า รวมทั้งหัวหน้าหมู่บ้านและหมอผีด้วย วันต่อมาจึงจะจัดให้มีการแต่งงานกัน พิธีการแต่งงานของหนุ่มสาว ที่ได้เสียกันก่อนแต่งงานจะไม่มีงานสนุกสนานรื่นเริงเหมือนงานแต่งที่เป็นหนุ่มสาวบริสุทธิ์ แต่ทำพอเป็นพิธีเท่านั้นกะเหรี่ยงหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์ จะไม่ยอมไปร่วมในพิธีด้วย เพราะเกรงว่าจะเอาตัวอย่างเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีมาใช้ และถือว่าเป็นการผิดประเพณีกะเหรี่ยงทำให้วงศ์ตระกูลให้เกิดเรื่องน่าละอาย ถ้าหนุ่มสาวคู่ที่ได้เสียกันไม่ใช่หนุ่มสาวหรือสาวโสด ก็จะต้องถูกปรับเป็นเงินและสัตว์เลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ และควาย เป็นต้น
หลักการพิธีแต่งงาน เริ่มด้วยการให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาทาบทามเพื่อถามความสมัครใจทั้งสองคนก่อน จากนั้นจะเป็นการสู่ขอโดยฝ่ายหญิงได้ให้ผู้อาวุโสชาย 2 คนไปหาฝ่ายชาย ประเพณีการสู่ขอของกะเหรี่ยงผู้หญิงจะเป็นผู้สู่ขอผู้ชาย หลังจากยินยอมตกลงกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ได้นัดหมายกันว่า อีกเจ็ดวันจะทำพิธีแต่งงาน เมื่อฝ่ายชายเต็มใจรับการสู่ขอ ก็จะมีผู้อาวุโสชายฝ่ายชาย 2 คนและหนุ่มโสด 1 คน ที่ไม่ใช่พี่น้องของเจ้าบ่าว รับการสูขอเพื่อนัดหมายวันแต่งงาน ชายหนุ่มโสดคนนี้จะเป็นตัวประกันในการแต่งงาน หากเจ้าบ่าวตัวจริงเกิดขัดข้องด้วยเหตุใดก็ตาม ชายหนุ่มคนนี้จะต้องแต่งงานแทนเจ้าบ่าวตัวจริง ไปยังบ้านฝ่ายหญิงก็จะมีการฆ่าไก่เพื่อต้มหรือแกง และมีการเตรียมเหล้าเลี้ยงพวกที่มาเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้ว ฝ่ายนั้นจะหาคู่ครองยาก เพราะไม่มีสัจจะ จะมีการกำหนดวันแต่งงาน ซึ่งจะจัดขึ้นภายใน 7-9 วัน หลังจากวันสู่ขอ และต้องเป็นวันที่คี่ เช่น วันที่ 3 วันที่ 5 วันที่ 7 หรือวันที่ 9 หลังจากการสู่ขอ จะเป็นวันไหนก็ใช้วิธีปักกระดูกไก่ดูเอา เมื่อกำหนดวันแล้วก็บอกไปยังญาติมิตรทั้งหลาย จะได้เตรียมตัวช่วยเหลือ เช่น เตรียมหมู ไก่ หรือเหล้าสำรับใช้ในพิธีแต่งงาน
ในวันแต่งงาน ฝ่ายชายจัดขบวนแห่ซึ่งมีกรร้องทำเพลง ตีฆ้องกลองกันอย่างสนุกสนาน เดินไปบ้านเจ้าสาว ทุกคนแต่งกายแบบกะเหรี่ยง เจ้าบ่าวจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ ในขบวนแห่ เจ้าบ่าวต้องเตรียมสิ่งของใส่ตะกร้า แล้วให้หญิงอาวุโสพาดไป การพาดก็คือ การใช้สายคล้องสะพายอยู่ตรงหน้าผาก และตะกร้าอยู่ข้างหลัง ในตะกร้าจะมีของมีเครื่องมือ เช่น พร้า จอบเสียม เงินก้อนโบราณ เงินเหรียญซึ่งเป็นโลหะเงิน ผ้าโพกศรีษะ เสื้อและผ้านุ่งใหม่ของแม่บ้าน เป็นต้น ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดขบวนที่มีแต่ผู้ชายไปรับและนำเข้ามาในบ้าน ในขบวนของแต่ละฝ่ายจะมีผู้ร่ายเวทย์มนต์คาถาไปด้วย
เมื่อขบวนเจ้าบ่าวไปถึงลานบ้านเจ้าสาว ก็จะมีพิธีดื่มเหล้า โดยเจ้าสาวเอาเหล้าที่เป็นเหล้าขวดแรกจากากรต้มกลั่นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า”ซิโข” หมายถึงหัวเหล้า แก้วสุดท้ายเรียกว่า”ซิคี” หมายถึงก้นเหล้า (เรียกพิธีกรรมนี้ว่าแควะ ซิ หมายถึงพิธีหัวเหล้าและก้นเหล้า) รินให้เจ้าบ่าว 1 แก้ว เจ้าบ่าวจะส่งให้หัวหน้าผู้รอบรู้เวทย์มนต์คาถาอาคม ทำการเสกเป่าและอวยพรให้อยู่ดีมีสุข เสร็จแล้วหัวหน้าจะรินเหล้าลงพื้นดินนิดหน่อย แล้วเจ้าสาวส่งกลับให้เจ้าบ่าวดื่มจนหมด สุราที่เหลือในขวดก็ส่งให้ญาติพี่น้องดื่มกันจนหมด จากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวก็รินเหล้าของตนให้เจ้าสาวและทำพิธีเช่นเดียวกัน เมื่อทำพิธีดื่มเหล้าแล้ว ก็ขึ้นบนบ้านขณะขึ้นถึงหัวบันไดบ้านจะมีญาติอาวุโสฝ่ายหญิงเอาน้ำเย็นราดลงบนเท้าของคู่บ่าวสาวเพื่อล้างเสนียดจัญไร พร้อมกล่าวคำอวยพร พรรคพวกของทั้งสองฝ่ายที่ตามมา ก็จะมีการสรรดน้ำที่เท้าทุกคน จากนั้นทำพิธีป้อนข้าว โดยเจ้าสาวเอาข้าวและอาหารใส่ถ้วยเล็กให้เจ้าบ่าวกินให้หมดจำนวนหนึ่งคำ จากนั้นญาติของทั้งสองฝ่ายก็จะทำแบบเดียวกัน แล้วจึงลงมือรับประทานอาหารกันตามปกติ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว พรรคพวกของทั้งฝ่ายจะดื่มเหล้าและร้องเพลงของเผ่า (ทาแต่งงาน) ตามบ้านญาติพี่น้องของเจ้าสาว แล้วพากันกลับมาบ้านเจ้าสาว มาดื่มเหล้ากันอีก โดยหัวหน้าทั้งสองฝ่ายต่างอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว
ประเพณีของกะเหรี่ยงก็เป็นเช่นนี้ถือว่าข้าวเป็นชีวิต จึงให้ความสำคัญกับเหล้าที่มาจากข้าวสำหรัญทำพิธีกรรมทุกๆ อย่าง เหล้าสองแก้วแรกที่ริลนลงไปเรียกว่า “ซิโข” หมายถึงหัวเหล้า สองแก้วสุดท้ายเรียกว่า “ซิคี “หมายถึง ก้นเหล้า และเรียกรวมพิธีกรรมนี้ว่า “แควะ ซิ” หมายถึงพิธีดื่มหัวเหล้าและก้นเหล้า
ตอนนั่งดื่มเหล้า เจ้าสาวนำสายกระพวนมาคล้องคอเจ้าบ่าว และนำบุหรี่สองมวนมาให้ มวนหนึ่งจุดไฟให้เจ้าบ่าว อีกมวนหนึ่งให้เจ้าบ่าวถือไว้ในมือ แล้วเจ้าสาวก็ตระเวนทั่วในบ้านไล่แจกสายกระพวนแก่เพื่อนบ้านที่มากับเจ้าบ่าว ระหว่างพิธีดื่มหัวเหล้า-ก้นเหล้า คนอื่นๆ ก็ดื่มเหล้าด้วย พร้อมกับขับลำนำโต้ตอบกันอย่างสนุกสนานเจ้าบ่าวจะก่อ แขกผู้มาเยือนจะรับเนื้อหาลำนำเป็นการถามไถ่กันถึงการเดินทางว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีความทุกข์ยากลำบากใจอะไรบ้างไหม เจอะเจอกับอะไรบ้าง หลังจากนั้นหลายคนอกจากบ้านแยกย้ายไปยังบ้านอื่น พาเจ้าบ่าวไปด้วย เจ้าบ่าวคืนแรกไปนอนอีกบ้านหนึ่งซึ่งไม่ใช่บ้านเจ้าสาวแต่อาจบ้านของหัวหน้าผู้มาขอนัดวันแต่งงานเจ้าบ่าวสาวนั่นเอง หรือคืนนี้เจ้าบ่าวไม่ได้นอนเลยทั้งคืนเพราะไปกับผู้ใหญ่ซึ่งขับเสียงลำนำโต้ตอบกันทั้งคืน วันรุ่งขึ้นผู้ชายฝ่ายเจ้าสาวมารับเจ้าบ่าวมาบ้านของเจ้าสาว เพราะมีพิธีอีกขั้นตอนหนึ่งคือการผูกข้อมือร่วมกัน ให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวนั่งลงใกล้กันใกล้ขันโตก ผู้อาวุโสคนหนึ่งในหมู่บ้านนำด้ายขาวสองเส้น ผูกข้อมือเจ้าบ่าวก่อนแล้วผูกข้อมือเจ้าสาวต่อ ขณะผูกข้อมือท่านอธิษฐานอวยพรแก่เจ้าบ่าวและเจ้าสาว จากนั้นแม่เจ้าสาวนำขวดเหล้าให้เจ้าบ่าวริน หัวเหล้าเขาให้เจ้าบ่าวดื่ม ก้นเหล้าให้เจ้าสาวดื่ม แล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวพร้อมกับพ่อแม่ญาติพี่น้องก็ลงมือกินข้าว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวก็ขึ้นมากินข้าวในเวลานั้นด้วย
เมื่อทุกคนกินข้าวอิ่มแล้ว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวพากันกลับบ้าน ทิ้งเจ้าบ่าวไว้คนเดียวที่หมู่บ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อตามองตามเพื่อนบ้านกลับไป (คงเศร้าสร้อยจนน้ำตาไหลรินแน่เลย)เจ้าบ่าวต้องนอนที่หมู่บ้านนี้อีกหนึ่งคืน ตกกลางคืนเจ้าสาวจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดแม่บ้านสีดำใหม่เอี่ยมที่เรียกว่า “เชซู” (คือผ้าเสื้อท่อนบนของชุดแม่บ้านผู้ออกเหย้าออกเรือนแล้ว หมายถึงเสื้อดำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “เชเบอะ” หมายถึงเสื้อปักลูกเดือย ที่เรียกว่าเสื้อดำและเสื้อปักลูกเดือย เพราะท่อนล่างยังมีอีกเรียกว่า “หนี่หรือซิ่น” เป็นพื้นสีแดงและมีลายมัดหมี่ตัดขวางตลอดทั้งผืน) ส่วนเจ้าบ่าวนั้นต้องใส่เสื้อแดงที่เรียกว่า “เชก๊อ” ซึ่งเจ้าสาวเป็นผู้ทอให้เจ้าบ่าว ยื่นให้เจ้าบ่าวด้วยมือของเจ้าสาวเอง (เชก๊อ หมายถึงเสื้อผู้ชายเป็นผ้าสีแดง คำนี้มีความหมายสวยสดงดงามและมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง) เวลานี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่างอยู่ในชุดแต่งงานทั้งสองคน รอเวลาพิธีส่งเข้าเรือนหอต่อไป ค่ำคืนนี้ยังมีข้าวเย็นอีกมื้อหนึ่ง ซึ่งญาติเจ้าสาวไปเชิญชวนผู้อาวุโส 3-4 ท่าน ที่นำทางเจ้าบ่าวไปเยี่ยมตามบ้านต่างๆ เมื่อตอนกลางวันให้มากินข้าวด้วย เพื่อมาเป็นพยานในการส่งเจ้าสาวเจ้าบ่าวสู่เรือนหอ ทุกคนกินข้าวพร้อมกันดื่มเหล้าเสร็จแล้ว จากนั้นผู้อาวุโสเดินออกจากบ้านไปทีละคนๆ จนหมด และบอกกับเจ้าบ่าวว่า “หลานเอ๋ย ขอให้โชคดีมีสุข มีไข่ดกออกลูกดี สืบลูกสืบหลานต่อๆ ไปเถอะ”
หลังจากเจ้าสาวเจ้าบ่าวดื่มเหล้า และรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เจ้าสาวจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เจ้าบ่าวใหม่ จากนั้นหัวหน้าฝ่ายเจ้าบ่าวจะแจกของในตะกร้า ที่นำมาให้ญาติอาวุโสซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวของเจ้าสาว ส่วนเงินหล่อแท่งเก็บเอาไว้เป็นของประจำตระกูลต่อไป
เป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานที่บ้านเจ้าสาว ชาวกะเหรี่ยงนิยมจัดงานแต่งงาน 2 วัน วันที่สองจะทำพิธีที่บ้านเจ้าบ่าว วันแรกเจ้าสาวยังไม่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายชุดขาวทรงกระสอบที่แสดงความเป็นสาวพรหมจารีย์ แต่จะไปเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อสำหรับหญิงมีเรือนในวันรุ่งขึ้น พิธีในวันที่สอง ดำเนินไปในลักษณะเดียวกับวันแรก เช่น หญิงอาวุโสฝ่ายหญิงจะเตรียมของใส่ตะกร้าร่วมขบวนแห่ไปยังบ้านเจ้าบ่าว เป็นต้น
สองคืนกับหนึ่งวันที่ค้างอยู่ที่บ้านเจ้าสาว วันนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกลับไปยังบ้านเจ้าบ่าวพร้อมกับเพื่อนบ้านที่เป็นฝ่ายเจ้าสาวเป็นพยาน เมื่อรวมกันที่บ้านเจ้าสาวแล้ว จากนั้นก็ออกเดินทางไปยังหมู่บ้านเจ้าบ่าว เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าวก็จะมีเพื่อนบ้านรอรับมากมาย เพื่อมาทำพิธีกันในฝ่ายของเจ้าบ่าวต่อ พ่อแม่ของเจ้าบ่าวยืนรอลูกชายและลูกสะใภ้ใหม่ที่เชิงบันได ในมือถือกระบอกไม้ไผ่ตักน้ำคนละกระบอก มีก้อนหินหนึ่งก้อนวางอยู่ข้างหน้าให้ลูกชายกับลูกสะใภ้เหยียบบนก้อนหิน เจ้าบ่าวเหยียบเท้าขวาเจ้าสาวเหยียบเท้าซ้าย พ่อแม่เทน้ำลงไปบนเท้าของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว พร้อมกับอธิษฐานว่า “มีแรงกิน มีแรงทำ มีอายุยืนดั่งก้อนหิน มีความร่มเย็นดั่งน้ำ อย่าได้เจอะเจอกับความทุกข์ยากลำบากใจเลย”
จากนั้นขึ้นบนบ้าน รินเหล้าให้ผู้อาวุโสของหมู่บ้านและท่านก็อธิษฐานอวยพรให้ ตกตอนกลางคืนก็มีเสียงร้องเพลงกะเหรี่ยงขับลำนำโต้ตอบกันดังระงมทั้งหมู่บ้านระหว่างแขกฝ่ายเจ้าสาวกับฝ่าบเจ้าบ่าว ที่หมู่บ้านของเจ้าบ่าวไม่มีพิธีอะไรอีกแล้ว นอกจากการเลี้ยงอาหารและฉลองกันเท่านั้น
พิธีกรรมทั้งหมดอยู่ที่บ้านฝ่ายเจ้าสาว เพราะตามวัฒนธรรมกะเหรี่ยงพิธีกรรมภายในบ้านจะเป็นของผู้หญิง วันรุ่งขึ้นมีการเลี้ยงอาหารแขกและเพื่อนบ้านอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเพื่อนบ้านของเจ้าสาวต่างพากันกลับบ้านทิ้งเจ้าสาวให้ร้องไห้ไว้เพียงผู้เดียวให้อยู่กับเจ้าบ่าว เจ้าสาวน้ำตาคลอมเบ้าล้นเอ่อ คงมีความรู้สึกเช่นเดียวกับตอนเจ้าบ่าวครั้งถูกเพื่อนบ้านทิ้งไว้เพียงผู้เดียวในหมู่บ้านของเธอเมื่อวันก่อนนั่นเอง
ในพิธีแต่งงานเจ้าสาวจะต้องแสดงฝีมือในกาารต้มกลั่นเหล้าให้บิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าวดื่ม โดยเจ้าสาวยังค้างอยู่ที่หมู่บ้านเจ้าบ่าวอีกประมาณ 7 วัน ระหว่างนี้เจ้าสาวได้ต้มเหล้าให้พ่อแม่สามีหนึ่งหม้อ เพราะประเพณีกะเหรี่ยง สิ่งที่ลูกสะใภ้ต้องทำให้กับพ่อแม่สามีอันดับแรกคือการต้มเหล้า ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่าลูกสะใภ้เก่งกาจในหน้าที่ของสตรีหรือไม่
เมื่อเจ้าสาวต้มเหล้าเสร็จแล้วพ่อแม่เจ้าบ่าวก็เรียกญาติพี่น้องทุกคนมาร่วมกันดื่ม ทุกคนแสดงความคิดเห็นต่างๆ เช่นว่า มีรสชาติดีและอร่อยกล่าวชมเชยในฝีมือทั้งพ่อแม่เจ้าบ่าวและญาติพี่น้องต่างพึงพอใจทั่วหน้า เพราะนี่แสดงถึงนิมิตหมายอันดี ที่ชีวิตครอบครัวของเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะมีแต่งความราบรื่นและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ในวันที่ 8 เขาทั้งสองคนต้องกลับไปยังหมู่บ้านเจ้าสาวเพราะผู้ชายกะเหรี่ยงเมื่อแต่งงานแล้ว ต้องไปอยู่อาศัยบ้านผู้หญิง ก่อนกลับนั้นแม่เจ้าบ่าวได้เตรียมกระชุหนึ่งใบให้ลูกสะใภ้ใหม่แบกกลับไปด้วย ข้างในบรรจุเสื้อผ้าซึ่งเป็นชุดแม่บ้านหลายชุดด้วยกัน เป็นของที่แม่สามีต้องให้กับสะใภ้ตามประเพณี เมื่อกลับไปหมู่บ้านเจ้าสาวแล้วแม่ยายบอกว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกเขยและลูกสาวของท่านต้องทำ คือการไปหาของกินร่วมกันครั้งแรก เรียกว่า “ฆือ เอาะ ชุ ตา”
การไปหาของกินร่วมกันครั้งแรกนี้ต้องมีสามีภรรยาหนึ่งคู่ไปเป็นพี่เลี้ยงไม่เช่นนั้นถือว่าไม่ดี ไปหาของกินจำพวกกุ้ง ปู ปลา ที่ห้วยหรือแม่น้ำ ไม่ไกลจากหมู่บ้านเท่าใดนัก เมื่อได้กุ้ง ปู ปลาและอื่นๆ แล้วมาล้างใส่ลงหม้อคนทำอาหารนำหินก้อนเท่าหัวแม่มือสองก้อนใส่หม้อลงไปด้วยเป็นความเชื่อที่ต้องทำเช่นนี้เป็นการอวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้งสองให้มีอายุยืนดั่งก้อนหินสองก้อนนี้และร่วมกันกินข้าว เจ้าสาวเก็บไว้ให้ดีอย่าโยนทิ้งหากมันหายขอให้มันหายมันเอง นี่เป็นธรรมเนียมประเพณีขั้นสุดท้ายสำหรับการแต่งงาน คนกะเหรี่ยงถือว่าชีวิตงานแต่งงานสำคัญมาก จึงมีขั้นตอนธรรมเนียมประเพณีมากมายและใช้เวลายาวนานเป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงาน ที่สมบูรณ์แบบของกะเหรี่ยง สำหรับบางคนนั้นงานแต่งใช้เวลานานถึง 14-21 วัน คือนับตั้งแต่การไปสู่ขอจนถึงการไปหาของกินร่วมกันครั้งแรก
ข้อห้าม
การอยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องยึดถือระเบียบข้อบังคับ กฎจารีตประเพณี และเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชุมชนดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ข้อห้ามระหว่างคนกับธรรมชาติ 
-ป่าช้า ป่าช้าจะเป็นป่าหวงห้ามสำหรับหมู่บ้าน ห้ามเข้าไปตัดต้นไม้และทำประโยชน์ใด ทุกคนต้องเคารพเพราะถือกันว่าเป็นแหล่งพักพิงของวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งพวกท่านก็ต้องการความสงบร่มเย็นเช่นเดียวกัน

-สัตว์ป่า เช่น ชะนี ชะนีตายหนึ่งตัวป่าเจ็ดป่าต้องเงียบเหงา นกกก นกกกตายหนึ่งตัวต้นโพธิ์เจ็ดต้นต้องวังเวง เพราะเป็นนกที่ซื่อสัตย์ต่อคู่หากคู่มันตายมันก็จะฆ่าตัวตายตาม และสัตว์ป่าขนาดใหญ่หลายชนิดจะห้ามการล่า และเมื่อถึงฤดูวางไข่ผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกอ่อนจะห้ามล่าสัตว์ป่าทุกชนิด เพราะเป็นช่วงที่สัตว์ป่าขยายพันธุ์ หากมีการล่าในช่วงนี้จะทำให้สัตว์สูญพันธุ์ได้ แม่น้ำลำธารบริเวณต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะตาน้ำผุดจะห้ามการตัดไม้ทำลายป่า ปลาที่อยู่ในตาน้ำผุดหรืออยู่ในถ้ำห้ามจับ เพราะเชื่อกันว่าปลาเหล่านี้มีเจ้าของเลี้ยงไว้ หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามผู้นั้นเจ้าของธรรมชาติเหล่านี้จะลงโทษ โดยการทำให้เจ็บป่วยได้
-ผักและต้นไม้ ห้ามโค่นต้นโพธิ์ต้นไทรเดี๋ยวนางพญาแมกไม้จะลงโทษ ผลไม้จะต้องรอให้มันสุกก่อนถึงจะเก็บมากินได้ ห้ามเก็บกินขณะยังเป็นลูกอ่อน พืชผักและต้นไม้ทุกชนิดห้ามตัดทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ห้ามกาต้นไม้ เพราะเชื่อว่าต้นไม้ก็มีชีวิต รู้จักเจ็บรู้จักร้องไห้เช่นเดียวกับมนุษย์ ต้นไม้ที่ให้ผลเป็นอาหารแก่มนุษย์ห้ามนำมาสร้างบ้าน

ข้อห้ามระหว่างคนกับชุมชน 
ในสังคมกะเหรี่ยงจะมีกฎของชุมชนเพื่อให้คนในหมู่บ้านยึดถือปฎบัติในทิศทางเดียวกันเพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างปกติสุข ดังนั้นจึงมีกฎข้อห้ามหลายประการ เช่น


ข้อห้ามที่เกี่ยวกับกาลเวลา 
-ข้อห้ามที่เกี่ยวกับการย้ายเข้า ย้ายออกของคนในชุมชน 
-ห้ามตั้งหมู่บ้านบนเนินน้ำล้อม(เกาะ) 
-ห้ามเก็บหน่อไม้เกินกอละสามหน่อ 
-ห้ามตัดไม้ไผ่เกินกอละสามลำ 
-ห้ามเก็บชะอมกินในฤดูฝน 
-ห้ามเก็บสมุนไพรเกินขนาด หากเก็บเกินจะไม่เป็นยา


ข้อห้ามระหว่างคนกับคน 
-ห้ามเกี่ยวกับคนที่มีครรภ์ อย่ากินเนื้อหมูป่าและสัตว์ที่ถูกเสือกัดตาย 
-ห้ามเกี่ยวกับการเลือกคู่ครองและการแต่งงาน 
-ห้ามทะเลาะกันบนขันโตก 
-ห้ามข้ามหัวเหยียบเท้าผู้อาวุโส

เรื่องราวของข้อห้ามในชีวิตคนกะเหรี่ยงมีมากมาย ที่บรรพบุรุษยึดถือปฎิบัติกันมายาวนาน เช่น ข้อห้ามเกี่ยวกับการกินอาหารเป็นกุศโลบายสอนเด็กให้เชื่อฟังพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่ เช่น…

หัวไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะมีสมองไม่ใส 
คอไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะชอบเถียงพ่อแม่ 
ปีกไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะมีความเชื่องช้า 
ขาไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะชอบเที่ยวเตร่ 
กึ๋นไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะดื้อ 
ตับไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะขี้เกียจ 
ก้นไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะพูดมาก 
หัวใจไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะเกิดความอ่อนไหว เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชนชาติไทย


ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชนชาติไทย

ชนชาติกะเหรี่ยง ซึ่งชนชาติไตในรัฐฉานและชาวมณฑลพายัพรวมกันเรียกพวกเขาว่า ยางแดง อีกชนเผ่าหนึ่งเราพวกเขาว่า ยางขาวและพวกเขาเองซึ่งเป็นยางแดง เรียกชนชาติของเขาว่า กะยา พวกยางขาวเรียกชนชาติเขาว่า ก่อทูเล กะเหรี่ยงยางแดงและกะเหรี่ยงยางขาว แบ่งออกเป็นสองพวกด้วยกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติกะเหรี่ยงขาวกับกะเหรี่ยงยางแดงนั้น ได้มีปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์และพงศาวดารของเมืองเชียงใหม่ ในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยดังกล่าวนี้ ตรงกับปีเถาะ พ.ศ. 2326 ขณะนั้นเมืองเชียงใหม่ได้ตกอยู่ในความปกครองของกษัตริย์ไทยแห่งกรุงสยาม โดยมีพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละยังทรงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อยู่ในขณะนั้น พระอนุชาของพระองค์มีอยู่สองพระองค์คือ พระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือกธรรมลังกา (พระเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 2) ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่และเจ้าเศรษฐีคำฝั้น ซึ่งยังมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนหัวเมืองเชียงใหม่
พระเจ้ากาวิละ ได้ออกจากเมืองนครลำปาง เพื่อมารับตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นเมืองเชียงใหม่ยังเป็นป่ารก มีป่าไม้เคลือบคลุมหนาแน่น อีกทั้งกำลังผู้คนก็มีน้อย ไม่มากพอที่จะรักษาพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของเมืองได้ จึงได้หยุดกำลังทัพจัดตั้งเมืองอยู่ที่บ้านป่าซาง เมืองลำพูน ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเช่นเดียวกับเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นเหมือนกัน ในกาลครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พระอนุชาทั้งสองพระองค์ของพระเจ้ากาวิละ มารับตำแหน่งเป็นพระยาอุปราชและพระยารัตน หัวเมืองเชียงใหม่ร่วมกับพระเชษฐาด้วยกัน
ในปีเถาะ พ.ศ. 2326 พระเจ้ากาวิละกับพระอนุชาทั้งสองพระองค์ได้ทรงสืบทราบว่าทางด้านเหนือขึ้นไปนั้นเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้สักซึ่งขึ้นอยู่อย่างหนาแน่ตลอดสองแนวฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) โดยมีชนชาติเผ่ากะเหรี่ยงยางแดง อยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำทางด้านทิศตะวันตกมีกะเหรี่ยงขาวอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แต่กะเหรี่ยงยางแดงและกะเหรี่ยงยางขาวทั้งสองกลุ่มนี้มิได้ขึ้นกับชนชาติพม่าแต่อย่างใด ได้ตั้งเมืองเป็นอิสระปกครองตนเองภูมิประเทศของเมืองยางแดงนี้ครอบคลุมไปด้วยป่าไม้สัก ซึ่งยากต่อการรุกรานของชนชาติพม่า ประกอบกับดินแดนของชนกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มนี้เป็นชัยภูมิหน้าด้านของเชียงใหม่ ซึ่งถ้าพม่าจะยกทัพเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่จะต้องข้ามบริเวณนี้เสียก่อนถึงจะผ่าน น้ำสาละวิน ได้อย่างรวดเร็ว
จากแผนการป้องกันชาติบ้านเมืองดังกล่าวพี่น้องทั้งสามองค์ได้นำปัญหานี้มาปรึกษาหารือกันและได้ตกลงกันว่าจะต้องเจริญสัมพันธะไมตรี ผูกมิตรต่อกันไว้ดีกว่าทั้งนี้จะได้พึ่งพาชนชาติกะเหรี่ยง ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นดินแดนผืนเดียวกันกับอาณาจักรล้านนา ให้เป็นเมืองด้านของเชียงใหม่ด้วย จึงได้ตกลงมอบให้พญาสามล้าน ผู้เป็นทั้งนักการทูตและนักการทหาร โดยนำถ้วยชาม 30 ชิ้น ผ้าแพรและหนังสือเป็นทูตสันถวะไมตรี เดินทางออกจากเมืองเชียงใหม่พร้อมคณะ ถึงบ้านหัวตาดเป็นอันดับแรก ซึ่งต่อมาภายหลังบริเวณเหล่านี้ ได้กลายเป็นแหล่งชุมชนหนาแน่นและกลายเป็นเมืองกันตะระวดี บรรดาเมืองเล็กเมืองน้อยในบริเวณใกล้เคียงต่างมีความสุขความเจริญขึ้นมาตามลำดับ
เจ้าแสนตาดดำ ประมุขกะเหรี่ยงแดงในขณะนั้นได้ต้อนรับคณะทูตจากเชียงใหม่ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่งต่อกัน พร้อมกับรับของที่ระลึกจากพระเจ้ากาวิละแห่งเมืองเชียงใหม่ ที่มอบของฝากคณะทูตสันถวะไมตรีมาให้ ได้แก่ ถ้วยชาม, ผ้าแพร และของใช้ที่จำเป็นอีกจำนวนหนึ่ง จากนั้นได้ให้ความกรุณาแนะนำหัวหน้าชาวเมืองเชียงใหม่ ให้คนเชียงใหม่และลำพูนมาที่ตั้งรกรานในถิ่นกะเหรี่ยงยางแดงจำนวนหลายร้อยครอบครัว ตามบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสาละ-วินหลายแห่งด้วยกัน ซึ่งส่วนหนึ่งอพยพลี้ภัยก่อนแล้วจากสงครามระหว่างเชียงใหม่กับพม่า กลับไปยังถิ่นฐานเดิมพร้อมกับรับรองความปลอดภัยโดยกลับมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านป่าซาง เพาะชาวเชียงใหม่นั้นหลบหนีภัยมายังด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน(คง) และพร้อมกันนั้นได้จัดกำลังทหารกะเหรี่ยงแดงให้เข้าร่วมในการเกลี้ยงกล่อมนายบ้าน นายแขวงบ้านตองโผะ (ตองปุ) ซึ่งเดิมทีมีรกรานอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ขอให้อพยพกลับไปยังถิ่นเดิม พร้อมกับรับรองให้ความปลอดภัยและให้ความอบอุ่นพวกเขาเหล่านั้นเป็นอย่างดี หัวหน้าบ้านตองโผะก็ได้รวบรวมพรรคพวกเดินทางอพยพมาแต่โดยดี โดยกลับมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านป่าซางเป็นการเพิ่มพลเมืองเป็นอันดับแรก ตามแบบฉบับของพระเจ้ากาวิละที่มีนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง “
ในปีเดียวกันเจ้าอุปราชธรรมลังกาและเจ้ารัตนเมืองแก้วคำผั้น ได้จัดถ้วยชาม 60 ชิ้น ผ้าไหมและของมีค่าจำนวนมากเดินทางไปยังเมืองหลาง และได้เข้าพบกับเจ้าแสนหลวง ประมุขกะเหรี่ยงขาว ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาความกันยอมเป็นมิตรไมตรีต่อกันพร้อมที่จะช่วยเหลือเมื่อถูกพม่ารุกราน เจ้าแสนเมืองได้ถือโอกาสชักชวนให้เจ้าจากเชียงใหม่ไปพบเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อ(ลูกชาย) เป็นพ่อเมืองทลาง (ผาปูน) และที่เมืองผาปูนแห่งนี้มีผู้คนจากเมืองเชียงใหม่และลำพูนหลบหนีสงครมพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและอยู่อย่างสุข เช่นเดียวกับกะเหรี่ยง จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ได้ทำพิธีสาบานเป็นมิตรต่อกัน โดยพิธีจัดขึ้นที่ท่าเมืองหลวงเรียกว่า “ท่าสะยา” พิธีเริ่มขึ้นโดยเจ้าฟ้าระภาผ่อได้สั่งฆ่ากระบือตัวใหญ่ที่สุดตัวหนึ่ง ผ่าเขากระบือออกเป็นสองซีก แล้วยื่นซีกหนึ่งให้แก่อุปราชธรรมลังกาถือไว้เป็นตัวแทนชาวเชียงใหม่ทั้งปวง อีกซีกหนึ่งเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อถือไว้เป็นตัวแทนของชาวกะเหรี่ยงทั้งมวล ทั้งสองฝ่ายกล่าวสัจจะปฏิญญาต่อกันว่า

 “ ตราบใดแม่น้ำคงไม่หายเขาควายไม่ซื่อ ถ้ำช้างเผือกไม่ยุบ 
เมืองยางกับเมืองเชียงใหม่ ยังเป็นไมตรีต่อกันตราบนั้น ”

ทั้งสองฝ่ายได้กล่าวเป็นภาษาของตนและต่างเก็บเขากระบือรักษาไว้ ถือเป็นวาจาสัตย์ที่มีต่อกันสืบต่อไปในภายภาคหน้า
ต่อมาเจ้ารัตนเมืองแก้วคำผั้น อนุชาของเจ้าอุปราชธรรมลังกา ซึ่งได้เดินทางไปด้วยในครั้งนี้ได้เกิดมีใจรักสมัครผูกพันธ์รักใคร่ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเจ้านางตาเวย บุตรีของเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อ ทั้งคู่แต่งงานกันและตกลงปลงใจเป็นคู่ชีวิตต่อกัน หลังจากเสร็จพิธีการแล้วได้เดินทางกลับเมืองเชียงใหม่นับเป็นครั้งแรกที่เจ้านายเมืองเชียงใหม่ ได้ทำการสมรสกับเจ้าหญิงกะเหรี่ยง บุตรีเจ้าฟ้าเมืองยางแดง ซึ่งมีศักดิ์และมีฐานันดรเดียวกันและเจ้านางตาเวยองค์นี้ ต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฬ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) ว่า “เนตรนารีไวย”
เจ้านางเนตรนารีไวย เป็นทายาทเจ้าเมืองกะเหรี่ยงเจ้าของป่าไม้สัก ซึ่งทำความร่ำรวยมั่งคั่งให้แก่เศรษฐีคำผั้นและบุตรหลานในสกุล ณ เชียงใหม่
ภายหลังต่อมาได้มีราชบุตรและธิดากันกับเจ้ารัตนเมืองแก้วคำผั้นหรือเจ้าหลวงเศรษฐีคำผั้นถึง 5 องค์ด้วยกัน ราชบุตรองค์ใหญ่ชื่อว่า “เจ้ามหาพรมคำคง” ได้เข้ารับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ต่อมาได้เป็นเจ้าราชวงศ์ของเมืองเชียงใหม่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เจ้าราชวงศ์ทรงเป็นพระบิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (อินทนนท์ ณ เชียงใหม่) เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 ครองเมืองในปีพุทธศักราช 2416-2439 องค์สุดท้ายก่อนรวมกับสยามแบบสมบูรณ์ (หมายเหตุ *แต่ยังมีเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่อยู่ 2 องค์ แบบไม่มีอำนาจเจ้าเมืองสั่งการเต็มแล้ว อันดับที่ 8 คือ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เป็นโอรสของเจ้าอินทวิชยานนท์ และเป็นพระเชษฐาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในราชกาลที่ 5 ครองเมืองเชียงใหม่ ในระหว่างปี พ.ศ.2444-2452 และมีเจ้าครองเมืองเชียงใหม่ อันดับที่ 9 ซึ่งเป็นองศ์สุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการครอง ยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมือง คือ เจ้าแก้วนวรัฐ โอรสของเจ้าอินทวิทยานนท์ และเป็นอนุชาของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ได้ครองเมืองเชียงใหม่ ในระหว่าง พ.ศ.2454-2482 ซึ่งเป็นอันสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มาตั้งแต่บัดนั้นมา โดยเปลี่ยนระบบมาเป็นผู้ว่าราชการแทน ดังเช่นในปัจจุบันนี้)
แม่เจ้าเนตรนารีไวยเป็นทายาทเจ้าของป่าไม้สัก ซึ่งทำความมั่งคั่งให้กับเศรษฐีคำผั้นและบุตรหลานในสกุล ณ เชียงใหม่ ผู้สืบเชื้อสายตรงจากแม่เจ้าเนตรนารีไวยและสืบสายจากเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อ ครั้นต่อมาพระเจ้ากาวิละได้ถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าอุปราชธรรมลังกาได้ขึ้นเสวยเมืองเป็นพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ต่อมา มีนามว่า “พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา” ที่ขนานนามเช่นนี้เพราะว่าในสมัยของท่าน ได้นำช้างเผือกเชือกหนึ่งซึ่งได้พบในเมืองเชียงใหม่ไปทูตถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่2) ณ กรุงรัตนโกสินทร์ จนถือได้ว่าสยามกับลานนาและกะเหรี่ยงเป็นทั้งญาติสนิท เป็นทั้งมิตรสหายกันมาช้านาน และมีเชื้อสายสืบทอดกันมาแต่โบราณกาล ดังที่กล่าวมาแล้วด้วยประการฉะนี้แล.
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า เจ้ารัตนเมืองแก้วคำผั้นได้มีใจรักใคร่กันกับเจ้านางตาเวย บุตรีของเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อ ทั้งคู่แต่งงานกันและเดินทางกลับเชียงใหม่ นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ทำการสมรสกับเจ้าหญิงกะเหรี่ยง บุตรีเจ้าเมืองยางแดง ต่อมารัชกาลที่ 1 แห่งกรุงสยาม ได้พระราชทานนามเจ้านางตาเวยว่า “เนตรนารีไวย” แม่เจ้าเนตรนารีไวย เป็นทายาทเจ้าเมืองกะเหรี่ยงเจ้าของป่าไม้สัก ซึ่งทำความร่ำรวยมั่งคั่งไห้แก่เศรษฐีคำผั้นและบุตรหลานในสกุล ณ เชียงใหม่
ภายหลังต่อมาเจ้าเผือกธรรมลังกาได้ให้เจ้าหนามมหาวงศ์ไปตรวจราชการ และไปเยี่ยมเจ้าเมืองกะเหรี่ยง ด้วยความสนิทชิดเชื้อกับเจ้าแสนตาดคำเจ้าประมุขกะเหรี่ยงยางแดง เจ้าหนามมหาวงศ์จึงได้เจ้านางคำแผ่น บุตรีคนสุดท้ายของเจ้าแสนตาดคำมาเป็นเมีย ต่อมาเจ้านางคำแผ่นได้เป็นมารดาของเจ้าแม่อุษามหาเทวีในพระเจ้ากาวิโรรสสุริยะวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 และเจ้าแม่อุษามหาเทวีได้เป็นเจ้ามารดาของเจ้าแม่ทิพย์ไกรสร ซึ่งต่อมาเจ้าแม่ทิพย์ไกรสรเป็นมหาเทวีของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (เจ้าอินทนนท์) เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ให้กำเนิดสมเด็จพระราชชายา “เจ้าดารารัศมี” พระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 (เพชร์ลานนา เหนือแคว้นแดนสยาม โดยปราณี ศิริธร หน้าที่ 453-456 )
ส่วนประวัติศาสตร์ตำนานการสร้างนครพิงค์หรือนครเชียงใหม่นั้น โดยพญามังรายหรือพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงค์มังรายได้ทรงสร้างขึ้นให้เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาหรือที่เรียกกันว่า “อาณาจักรล้านนา” เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1,839 พญามังรายทรงได้รวบรวมเอาหัวเมืองหรือบ้านเล็กเมืองน้อย ซึ่งตั้งกระจัดกระจายกันอยู่โดยไม่ขึ้นแก่กัน เข้าไว้ในแผ่นดินของล้านนาให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน พญามังรายทรงเป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเมง ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าลาวจังกราช ซึ่งเป็นผู้สร้างอาณาจักรโยนก(เชียงแสน) พระมารดาของพระองค์คือ พระนางอั้วมิ่งจอมเมืองหรือพระนางเทพคำขยาย พญามังรายประสูติเมื่อปีพุทธศักราช 1781 ครั้นพระชนมายุได้ 22 ปี ก็ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเมืองหิรัญนครเงินยาง ต่อจากพระเจ้าลาวเมงพระราชบิดาในปีพุทธศักราช 1802 ต่อมาในปีพุทธศักราช 1805 พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงรายให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ ในขณะนั้นดินแดนทางเหนือก็ยังมีนครหิรัญนครเงินยางอยู่ โดยมีพญามังรายเป็นเจ้าผู้ครองนครและแคว้นภูกามยาวหรือเมืองพะเยา ก็มีพญางำเมืองผู้เป็นเครือญาติห่างๆ ครองนครนั้นอยู่ และทางแคว้นหริภุญไชยหรือเมืองลำพูน ก็ยังมีพญายี่บากษัตริย์ขอมเป็นผู้ครองนครนั้นอยู่เช่นกัน
ในขณะที่พญามังรายกำลังเรืองอำนาจอยู่ในอาณาจักรล้านนานั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกำลังเรืองอำนาจอยู่ในอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระสหายร่วมสำนักเดียวกันกับพญางำเมือง ผู้เป็นใหญ่แห่งอาณาจักรภูกามยาวหรือเมืองพะเยา ต่อมากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ก็ได้เป็นพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานต่อกัน *อาณาจักรล้านนา กษัตริย์ราชวงค์มังรายปกครองต่อเนื่องกันมารวม 18 พระองค์ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 1839-2121 นับจากนี้ต่อไปอีกเกือบ 200ปี ก็ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของพม่าคือปี พ.ศ.2121-2317 และเมื่อปีพุทธศักราช 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าสำเร็จเด็ดขาด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาณาจักรล้านนาก็ได้ตกเป็นของไทยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
กะเหรี่ยง (KAREN)

ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอพยพจากประเทศจีน

ในด้านประวัติศาสตร์ ชนชาติกะเหรี่ยงสืบเชื้อสายมาจากมองโกล เป็นชนเผ่าแรกสุด หรือที่ชนชาติไทยเรียกว่า “ยาง” นั้น ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ติดกับต้นน้ำแม่น้ำแยงซีเกียง ในทะเลทรายโกบีซึ่งรู้จักกันว่า Htee – Hset – Met - Ywa (หทิ หเช็ท เม็ท ยว่า) “Land or the Flowing Sand” (ดินแดนแห่งทรายไหล)
จากสถานที่ดังกล่าวนี้เอง ชนชาติกะเหรี่ยงได้อพยพสู่ทางใต้ เข้ามาตั้งหลักแหล่งพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ในชัยภูมิซึ่งเป็นประเทศพม่าขณะนี้ ประมาณ พ.ศ.739 หรือประมาณ 1,788 ปี ก่อนคริสตกาลมาแล้ว
นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ มีความมีเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ชนชาติกะเหรี่ยงหรือยาง คือชนเผ่าแรกสุดที่อพยพ โยกย้ายถิ่นทำมาหากินร่นลงมาสู่ตอนใต้มาตั้งรกรากใหม่ กะเหรี่ยงได้ขนานนามผืนแผ่นดินใหม่นี้ว่า “KOW-LAH (กอลาห์)” หมายถึง ดินแดนที่เขียวขจี มีความชุ่มชื้น ชนชาติกะเหรี่ยงจึงได้เริ่มหักร้างถางพง ไถพรวนพื้นดิน ลงมือเพาะปลูกโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ ขัดขวางทั้งสิ้น ผลิตผลจากหยาดเหงื่อแรงงาน ได้ให้ผลตอบแทนต่อพวกเขาอย่างน่าชื่นชม ด้วยสาเหตุอันนี้ชนชาติกะเหรี่ยงจึงได้เปลี่ยนแปลงชื่อของแผ่นดินที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ต่อเขาว่า “ก่อทูเล” คือ รัฐที่สลัดทิ้งทั้งสิ้นซึ่งความชั่วเลวทราม,ความอดอยากยากแค้น,ความสลดสังเวชและการโกลาหลอลหม่าน ซึ่งจะไม่มี ณ.ดินแดนแห่งนี้ “ก่อทูเล” คือดินแดนใหม่ที่สวยสดงดงามแสนสะดวกสบาย พรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์โดยไม่รู้จักความยุ่งยาก ชนชาติกะเหรี่ยง ได้ดำรงชีพอยู่กันมาช้านานหลายศตวรรษ ตราบจนการเข้าแทรกแซงก่อกวนของชาวพม่าเกิดขึ้น จึงการต่อสู้เข่นฆ่า ทำลายวิถีชีวิตที่ใฝ่แสวงแต่สันติของชนชาติกะเหรี่ยงจนพินาศพังทลายลง
คีรีมาต ชื่อจริงว่า “พุ่งเลียงมิชชั่นนารี" ชาวตะวันตกเชื่อว่า บ้านเมืองเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่ทางตะวันตกของจีน ในเขตกวางสีก่อนที่พวกเขาจะอพยพสู่ดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ชาวจีนเชื่อว่าแม่น้ำแยงซีเกียงว่า “แม่น้ำของพวกยาง หรือแม่น้ำของพวกกะเหรี่ยง”
ชนชาติกะเหรี่ยงเข้าสู่ดินแดนอินโดจีนตามสายน้ำสำคัญ 3 สาย คือ พวกแรกเมื่อ 128 ปี ก่อนคริสตกาล กลุ่มที่สองเข้ามาเมื่อ 799 ปี ก่อนคริสตกาล และกลุ่มสุดท้ายเข้ามาเมื่อ 741 ปี ก่อนคริสตกาล การอพยพเข้ามาในเส้นทางที่1 ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อพยพเข้าไปในดินแดนที่ประเทศพม่าในปัจจุบัน ตามสายน้ำ อิระวดี ลงไปตามที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิระวดีหรือเดลต้า ในพื้นที่เมืองแปร, เฮนซาดะ, พะสิมหรือบะเส่ง, เมืองละเกิงหรือย่างกุ้ง ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่แห่งนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษาสูงในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่า “ซอ บา อู ยี” ผู้นำชาวกะเหรี่ยงเป็นคนที่พะสิม การอพยพเข้ามาในเส้นทางที่ 2 ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อพยพเข้ามาตามสายน้ำ สาละวิน แม่น้ำโตง แม่น้ำเมย และแม่น้ำตะนาวศรี โดยมีชุมชนที่หนาแน่นอยู่ที่ เมืองตองอู, ผาปูน, ผาอ่าง, ท่าตอน, เมาะละแหม่ง, พะโค (หงสาวดี) กะเหรี่ยงกลุ่มนี้อยู่ปะปนกับชาวมอญ จึงถูกเรียกว่า ตะเลงกะยิน หรือกะเหรี่ยงโพล่ง ส่วนกะเหรี่ยงสะกอนี้อยู่ปะปนกับพวกพม่ามากจึงถูกเรียกว่า บาม่ากะยิน เมืองที่สำคัญเป็นที่กล่าวถึงของกะเหรี่ยง คือ ตองอู ซึ่งเป็นเมืองเก่าดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงสะกอ ส่วนกะเหรี่ยงโพร่งนั้นมีเมืองดั้งเดิมที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้ตั้งหลักฐานมั่นคง เรียกเมืองนั้นว่า กวยเกอบ่อง (กวยเก่อบอ) เมืองดูยอ ณ.ที่เมืองนี้เป็นพื้นที่ราบ มีภูเขาหินตั้งอยู่เด่น เป็นสง่าท่ามกลางที่ราบเป็นที่นาเวิ้งว้าง พวกเขาถูกพม่า, มอญ และคนไทย กวาดต้อนกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ พวกเขามีความเชื่อว่า สักวันหนึ่งพวกเขาจะได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่เมืองกวยเกอบ่อ
การอพยพเข้ามาในเส้นทางที่ 3 ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อพยพเข้ามาตามสายน้ำ แม่น้ำโขง, แม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาอยู่ในอินโดจีน คือ ในดินแดนกัมพูชาและถอยร่นกลับขึ้นมาทางเหนืออีกครั้ง ในพงศาวดารพม่า โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กล่าวว่า พวกตองซู่ (กะเหรี่ยงปะโอ) นี้เป็นมนุษย์ขั้นแดนข้างเคียงรู้จักกันมาก รู้จักกันทั่วกรุงสยามและเมืองเขมรจนกระทั่งแถบแม่น้ำโขงตอนล่าง ราวเมืองนครจำปาศักดิ์และแก่งพันเกาะ (หลี่ผี) ในหัวเมืองไทใหญ่
หนังสือพงศาวดารพม่า และในหนังสือชนชาติไทย
ซึ่งมิชชั่นนารีคณะแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ ดอกเตอร์ วิลเลี่ยม คลิฟตันดอดด์ ซึ่งเดินทางเข้ามาไปในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีน ได้เขียนไว้ว่า คำว่า “ยวน” หาใช่ชื่อใหม่ไม่ เป็นชื่อที่ชนอยู่ถิ่นใกล้เคียงโดยรอบใช้เรียกกันตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อชนชาติไทยอพยพลงมาจากประเทศจีนในตั้งแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล (ศตวรรษที่1 แห่งพุทธศักราช) ชาติอ้ายลาวได้ตั้งแคว้นขึ้นทางตะวันออกของแม่น้ำสาละ-วิน ในท้องที่ที่เป็นของพวกยางหรือกะเหรี่ยง (ยวน,ยาง, ปกาเกอะญอ เป็นชื่อเรียกชนชาติกะเหรี่ยง) คำว่า “ยาง” เป็นคำที่พวกลั๊วะหรือละว้าเรียกกะเหรี่ยงเป็นพวกแรก (ซึ่งรากของคำว่า ปกาเกอะญอ ผู้เรียบเรียง) และมีพวกยวนหรือกะเหรี่ยงเป็นตั้งภูมิลำเนาอยู่ก่อนแล้ว แคว้นยวนหรือกะเหรี่ยงที่กล่าวมานี้มีอาณาเขตกว้างขวาง ตั้งแต่แม่สาละวินจนถึงแม่น้ำโขงและเลยไปจนถึงแดนเขมรตอนใต้ กล่าวกันว่าถิ่นเป็นที่อุดมสมบูรณ์มาก เมื่อชาติอ้ายลาวได้มาสวามิภัคดิ์ต่อเจ้าผู้ปกครองนครแคว้นยวนหรือกะเหรี่ยงแล้ว ก็ได้รับอนุญาตให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ได้ ก่อนเวลาที่ถึ่งกลางศตวรรษที่กล่าวนั้นชาติอ้ายลาวได้ตั้งเมืองใหญ่หลายเมืองในท้องที่ของยวนหรือกะเหรี่ยงตามตำนานของแคว้นยวนหรือกะเหรี่ยงนั้น กล่าวว่าก่อนคริสตศักราชที่ 543 ปี ชาติอ้ายลาวได้ต่อสู้กับพวกกะเหรี่ยงเป็นเวลานานจนสามารถสลัดออกจากอำนาจของกะเหรี่ยงได้เป็นใหญ่ในแคว้นยวน คำว่า เชียงใหม่ ต้นภาษากะเหรี่ยง ดังมีกล่าวไว้ในตำนานว่า “ต์ชิงใหม่” และเป็นชื่อเมืองของกะเหรี่ยงครั้งโบราณ (หน้าที่ 142-143) คนกะเหรี่ยงภาคเหนือเรียกชาวเชียงใหม่ว่าล้านนาว่า “โย” และเรียกคนไทยว่า “จ๊อมแต๊ก” คงมาจากคำว่า “ยวนหรือโยนก” และเรียกเมืองเชียงใหม่ว่า “เวกีแม” คำว่า “เว” คือคำว่าเมืองนั่นเอง และเมื่อชนกะเหรี่ยงสิ้นอำนาจก็กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ราบสูงตามภูเขาและรากเหง้าที่ต่างๆ
“ ถ้าภาษาของเราสูญหาย….เผ่าพันธุ์ของเราก็จะสาบสูญไปด้วย ” จากคำกล่าวของ ดอกเดอร์ ซาน ซี โพ ปัญญาชนชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่าได้กล่าวไว้
ดอกเดอร์ ซาน ซี โพ อดีตนักศึกษากะเหรี่ยงเป็นผู้รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ของชาวกะเหรี่ยงไว้ให้เยาวชนรุ่นต่อๆ มาได้ศึกษา ผู้ขุดรากเหง้าตำนานชาวกะเหรี่ยงเล่าสู่กันต่อๆ กันมาว่า ดินแดนดั้งเดิมกะเหรี่ยงนั้นว่าอยู่ที่ไหน และคำศัพท์เหล่านั้นแปลว่าอะไร เช่น คำว่า “ที้ (น้ำ) ฉิ (ซัดพัดพาไป) หมิ (ทราย) หยั่ว (ไหล) รวมความซึ่งแปลว่า ดินแดนที่น้ำซัดพัดพาทรายไหล” บรรพบุรุษกะเหรี่ยงบอกว่าอยู่ทางเมืองจีน ซึ่งสันนิษฐานว่าคือดินแดนทะเลทรายโกบี ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของมองโกเลีย ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์จำนวนมากว่าชนชาติกะเหรี่ยงเป็นชนในเชื้อชาติมองโก การอพยพเข้ามาสู่ดินแดนในอินโดจีนของชนชาติกะเหรี่ยงนั้น นักประวัติศาสตร์ตามหุบเขากะเหรี่ยงกลุ่มนี้จะกลับมาอยู่ในที่สูง ในรัฐกะเร็นนี ในปัจจุบันเป็นเผ่า ปะโอ (ตองซู่) กะยาหรือกะเหรี่ยงแดง
เอกสาร พงศาวดารพม่า โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
กล่าวว่า กะเหรี่ยงเป็นมนุษยชาติในกรุงจีน เกิดจากเชื้อสายเจ็ก(คำว่า”เจ๊ก”นี้คนจีนไม่ชอบเพราะถือว่าเป็นคำหยาบคาย,คำดูถูก)หรือไม่ปรากฏถูกพวกไทยไล่ต้อนตะเพิดลงมาทางใต้ ทั้งภายหลังถูกพวกมอญและพม่าไล่กลับคืนถอยหลังไปบนเขาอีก กะเหรี่ยงเอื้อมว่าพวกตนเป็นมนุษย์ชาติแรกที่ตั้งอยู่ในหัวเมืองแถบกรุงอังวะก่อนเพื่อน กลางพุทธศักราชที่ 11 หรือ 12 จึงผ่านไปข้างในและแผ่ออกไปตามป่าลำเนาเขาเชินระหว่าง อิระวดี, สาละวิน,เจ้าพระยา (หน้า121)
พวกต่องซู่ (ปะโอ) ชนชาวกะเหรี่ยงอีกกลุ่มหนึ่ง วันที่พวกเขาอพยพขึ้นมาสู่เมืองเขาเชินนั้น พระเจ้ามนูหะเสียพระนครแก่พระเจ้าอโนรธามังฉ่อเจ้ากรุงพุกามใหม่ยกไปราวี ภาษาของพวกต่องซูผสมกันระหว่างภาษากะเหรี่ยงกับพม่า ต่องซูล้วนนับถือพระพุทธศาสนา (หน้า 138)
เอกสาร “พงศาวดารเมืองเชียงตุง” โดยบุญช่วย ศรีสวัสดิ์
ข้อที่ว่านิยามเรื่องน้ำเต้าอย่างเดียวกันในไทใหญ่นั้นเป็นความจริง พงศาวดารเมืองเชียงตุง เขียนเล่าถึงกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าใบเดียวกัน พวกละว้ามาก่อน ยางหรือกะเหรี่ยงออกมาเป็นพวกที่สอง แล้วจึงคนไตและอื่นๆ ไตจึงเป็นน้องของละว้าและยาง เห็นได้ว่าตำนานนี้ยางเพิ่มเข้ามาอีกพวกหนึ่ง ทั้งนี้เพราะในสหภาพพม่ามีชาวยางหรือกะเหรี่ยงนับจำนวนเป็นล้าน (หน้าที่ 318 ความเป็นมาของคำว่า สยาม ไทย ลาว และขอม โดยจิตร ภูมิตร)
เอกสาร “ประชุมตำนานลานานาไทย” โดยสงวน โชติสุขรัตน์
อาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ พวกขอมดำได้ปกครองและสร้างเมืองฝ่ายเหนือคือ ”ศรีสุวรรณโคมคำ” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงต่อมาสร้างเมืองอุโมงค์เสลานคร ขั้น ณ ปลายเขา แม่กก ห่างจากเมืองสุวรรณโคมคำ ระยะทางเดิน 3 วัน ส่วนชาวเมืองนั้นอาจจะมีขอมบ้างพวกไทยที่อพยพลงมาก่อนบ้างคือคนไทย อ้ายลาว พวกละว้า กะเหรี่ยงอยู่ปะปนกัน ต่อมาสุวรรณโคมคำล่มจมในแม่น้ำโขง (หน้า 66-67) เพราะเมื่อพระเจ้าสิงหนวัติอพยพครอบครัวไทยเมืองลงมานั้นก็ได้พบไทยอ้ายลาวหรือลาวนี้มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินปะปนกับชาวเมืองเดิม คือ พวกละว้าและกะเหรี่ยงหรือยาง คำว่า “ยางหรืออาณาจักรยางโยนก” นี้ หมอทอดอดร์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือไทยว่า ยางหรือเงินยางนี้มาจากคำว่า “ยาง”อันหมายถึง พวกกะเหรี่ยง ส่วนพวกละว้าในตำนานพื้นเมืองเดิมเรียกว่า ทมิฬ (หน้า 116 –117)
อาณาจักรล้านนาไทยเสียอิสสรภาพ ใน พ.ศ.2101 เรื่องราวแห่งแว่นแคว้นล้านนาไทยที่เป็นอิสระสืบกษัตริย์มาช้านานดังเล่ามาข้างต้น ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของชนชาวต่างชาติ แต่นั้นมาจะตกมาอยู่ในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาก็ชั่วเวลาเป็นครั้งคราว จนตราบเท่าถึงสมัยกรุงธนบุรี จึงได้หลุดพ้นได้เด็ดขาดแต่มีโอกาสได้ไม่นาน มารวมกับประเทศสยาม ซึ่งเป็นไทยด้วยกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นแล ในขณะที่พม่าเปลี่ยนผู้ปกครองเข้ามาปกครองเมืองเชียงใหม่บ้าง และแคว้นไทยทางเหนือเข้ามาปกครองบ้าง ในปีพุทธศักราช 2310 ทางกรุงศรีอยุธยาก็ได้เสียให้แก่พม่าเช่นกัน ในช่วงระยะเวลานั้นบ้านเมืองเกิดสับสนอลหม่าน อยู่ในลักษณะบ้านแตกสาแหรกขาด พระยาวชิรปราการ (ตากสิน) จึงได้นำกำลังทหารจำนวนหนึ่ง ตีผ่าวงล้อมของพม่าหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาได้จนสามารถรวบรวมกำลังกลับมากู้อิสรภาพคืนจากพม่าได้อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่ได้ตั้งกรุงธนบุรีขึ้นและปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ยกกำลังกองทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าได้อย่างสำเร็จเด็ดขาดในปีพุทธศักราช 2317 นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนาก็ได้ตกเป็นของไทยมาโดยตลอดจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และในกาลต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาพระยากาวิละขึ้นเป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่ ทรงยกฐานะเป็นเจ้าประเทศราชเสมอด้วยเจ้าผู้ที่ครองนครเวียงจันทร์ขณะนั้น (ล้านนามารวมกับไทยได้เพราะไทยนี่แหละเป็นตัวการร้ายเป็นต้นเหตุ ยุยงให้ชาวล้านนาด้วยกัน แตกแยกแตกร้าวจากกันในที่สุด ก็เสียดินแดนเสียอิสรภาพรวมเข้ากับไทยเสีย *จากการบอกเล่า ของท่านพระเดชพระคุณพระสาสนโสภณ นิรันตร์ นิรนฺตโร ป.ธ. 9 เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ตอนอายุ 80 ปี ปีในพ.ศ.2539 หมายเหตุ ต่อมาภายหลังเป็น สมเด็จพระวันรัต)
เอกสาร “พงศาวดารชาติไทย ความเป็นมาของชาติไทยแต่ยุคดึกดำบรรพ์”โดย พระบริหาร เทพธานี อ้างถึงหนังสือไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า 225 บรรทัด14 เรื่องไทยเมืองตองอู
ราวสมัยพุทธกาลชาติอ้ายลาวได้อพยพลงมาในแดนกะเหรี่ยง คือบริเวณที่ตั้งเมืองตองอูเดี๋ยวนี้ ณ ที่นั้นเดิมพวกกะเหรี่ยงได้สร้างเมืองชั้นราว 1,750 ปี ก่อนพุทธกาล ถิ่นฐานของพวกกะเหรี่ยงอยู่ทางตอนใต้มณฑลไกวเจาไทยสละดินแดนตั้งแต่นครปา และภาคกลางในกลุ่มน้ำแยงซีเกียง เพราะหนีการเบียดเบียนและยุทธ-ภัยจากจีนลางคราว และลางคราวจีนก็หนียุทธภัยตามเข้ามาเบียดเบียนไทยด้วย เมื่อพุทธกาลราว 50 ปี ชาติอ้ายลาวได้อพยพเข้ามาอยู่ในแดนกะเหรี่ยงในคราวนั้นมาก เพราะเหตุไทยคุ้นเคยกับพวกนี้มาก่อน เพราะมีการอพยพเป็นรายย่อยมาอยู่ก่อนอพยพใหญ่ เมื่อไทยอยู่เมืองกะเหรี่ยงก็ขยายเขตมาตั้งภูมิลำเนาทางทิศตะวันออกของกลุ่มน้ำคง จนถึงแม่น้ำโขง ต่อแดนฟูนันที่แก่งหลีผี พวกที่มาตั้งในที่ร้างเปล่าก็อิสระ ที่มาอยู่ที่มีผู้ปกครองก็อยู่ภายใต้การปกครองเป็นไพร่ของเมืองนั้นๆ นานเข้าก็อพยพตามกันมามากขึ้น ส่วนพวกที่ลงมาทางแม่น้ำคงก็สละอำนาจออกจากกะเหรี่ยงได้ลางคราว (พงศาวดารชาติไทย หน้า 226 พิมพ์ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2496)
จากหนังสือเรื่องของชาติไทย ตอนกำเนิดชาติอ้ายลาว (หน้า 35-36) คือ คำว่า “โยนก” หรือ “ยวน” อันเป็นชื่อหนึ่งของแคว้นลานนาไทยและชื่อชนในแคว้นนั้น ซึ่งเรียกว่าไทยยวน จึงได้ค้นคว้าที่มาของคำซึ่งมากลายเป็นโยนกหรือยวนแต่ก็มีความเห็นเป็นต่างๆกัน พงศาวดารโยนกของพระยาประชาน ว่ามาจากคำว่า “ยุ่นชาง” (เวงเชี้ยง) หลักไทยของขุนวิจิตร์มาตราว่ามาจากยางซึ่งเป็นชื่อแคว้นหนึ่งของละว้า หนังสือ “HISTORICAL SKETCH OF THE SHANS BY HALT HALLET” ว่ามาจากคำ ยุน หรือยาง คือกะเหรี่ยง เพราะกะเหรี่ยงเคยเป็นใหญ่ในแคว้นโยนก นายตอเซียนโก นักปราชญ์พม่าว่า มาจากคำว่า ยุง (JUNG) ในภาษาจีนซึ่งเป็นชื่อเรียกมณฑลยูนนาน สมัยโบราณยูนนานเป็นชื่อจีน เรียกในปัจจุบัน แปลว่า เมฆแห่งทิศใต้ แต่คำว่า ยูน ในคำต้นของยูนนานปรากฏอยู่ว่าน่าจะเพี้ยนไปจากคำว่า ยุง (COCHRANE หน้า 41) คัดเอาจากหนังสือ เรื่องของชาติไทย ตอนแคว้นลานนาไทย (หน้า 190-192) สามแสน ได้อ่านพบในหนังสือฝรั่งเรื่องหนึ่ง (COCHRANE หน้า 42-43) คัดเอาเรื่องตำนานเมืองยอง (อยู่ในแคว้นสิบสองปันนา) มากล่าวไว้ว่า “เมื่อต้นพุทธกาล พวกไทยยวนอพยพกันมาในแดนนั้น กษัตริย์กะเหรี่ยง (พวกยาง) ซึ่งมีไพร่พลมากมาย เป็นใหญ่อยู่ก่อน ไทยยอมอยู่ในปกครองของกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงจึงยอมให้ไทยสร้างบ้านแปลงเมืองเถื่อนในเขตต์แดนของตน มีสร้างเมืองรุ้ง,เชียงตุง,เชียงแสน,เมืองแลม,และเมืองมีค่ายปราการ คือเมืองเชียงช้างฝ่ายต่อมามีพวกมาก จึงมีกำลังมากกว่าขึ้น ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจใครจึงคิดอุบายเชิญ กษัตริย์กะเหรี่ยงมากินเลี้ยง ที่เวียงช้างแล้วปิดประตูเมือง จับกษัตริย์กะเหรี่ยงฆ่าเสีย ดังนี้”
เอกสาร “ชาวเขาในในไทย” โดยบุญช่วย ศรีสวัสดิ์
ประวัติของชนชาติกะเหรี่ยงนั้น นักประวัติศาสตร์ฝรั่งบางท่านสันนิษฐานว่า เป็นพวกสืบเชื้อสายมาจากชาติโจว ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนเมื่อประมาณ 733 ปี ก่อนพุทธกาล หรือประมาณ 3,231 ปีล่วงมาแล้ว ภายหลังได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจีนเมื่อพุทธกาล 633 ปี จนถึง พ.ศ.207 ปี เริ่มแตกพ่ายสลายตัวโดยการรุกรานจากกษัตริย์ในราชวงศ์จิ๋น จึงอพยพลงมาลงมาตามลำน้ำแยงซีเกียง ได้ต่อสู้กับพวกไตแห่งอาณาจักรน่านเจ้าพ่ายแพ้แก่ไทยถอยร่นลงไปอยู่ในพม่าและตามชายแดนประเทศไทย เพื่อมิให้ถูกชนชาติอื่นรบกวนจึงหลบหนีไปอยู่ตามภูมิภาพประเทศล้อมรอบด้วยภูเขา (หน้า 153)

กะเหรี่ยง (KAREN)


กะเหรี่ยง (KAREN)

“ กะเหรี่ยง” เป็นชื่อที่คนทั่วไปใช้เรียกกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่หนาแน่นในเขตบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย ชื่อว่า “กะเหรี่ยง” แปลความ หมายถึง “ดึกดำบรรพ์” ( คำว่า ยวน, ยุน, ยาง คือ กะเหรี่ยง) มอญซึ่งเรียกกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มนี้ว่า “กะเรง” ชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “ปกากะญอ” ซึ่งแปลว่า “คน” ทางภาคเหนือของประเทศไทยและทางรัฐฉานของประเทศพม่า กลุ่มชนนี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า “ยาง”
ถิ่นฐานดั้งเดิมของกะเหรี่ยงอยู่บริเวณมองโกเลียเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ต่อมาได้หนีภัยจากสงครามมาอยู่ที่ทิเบต และเมื่อถูกรุกรานจากกองทัพจีนอีก ก็ถอยร่นลงมาทางใต้เรื่อยๆ นับตั้งแต่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง จนกระทั่งลงมาถึงดินแดนลุ่มน้ำสาละวินในเขตประเทศพม่า กะเหรี่ยงในประเทศพม่าอาศัยอยู่หนาแน่นในบริเวณแม่น้ำอิระวดีและสิตตัง ตั้งแต่บริเวณเทือกเขาที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ตั้งแต่ทางเหนือสุดบริเวณเหนือเมืองตองยี จนลงมาใต้สุดที่บริเวณคอคอดกระจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (รวมถึงจังหวัดระนอง)
กะเหรี่ยงในประเทศไทย เป็นกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศพม่าทั้งสิ้นจากการสันนิษฐานของนักวิชาการ การอพยพเข้ามาในประเทศไทยในยุคแรกมีสาเหตุมาจากการหนีภัยสงคราม ในสมัยเมื่อพระเจ้าอลองพญา (อ่องเจยะ) ทำสงครามกับพวกมอญ ชาวกะเหรี่ยงได้หนีภัยมาพากันเข้ามาในเขตไทย และใน พ.ศ. 2428 เมื่ออังกฤษยึดพม่าเหนือได้และทำการปราบปรามกะเหรี่ยงที่แข็งข้อต่ออังกฤษ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องอพยพเข้ามาในประเทศไทยอีกระลอกหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่นอนว่ากะเหรี่ยงอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร แต่อาจสันนิษฐานได้ว่า เข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เขียนไว้ในหนังสือไทยรบพม่า ครั้งเมื่อพระเจ้านเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีเมืองตองอู ได้มีแม่ทัพคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง จำนวนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 18 ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.5)

ประวัติศาสตร์ชนเผ่ากะเหรี่ยง
“ชนเผ่ากะเหรี่ยง” เป็นชนเผ่าที่มีประวัติอันยาวนาน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายชนเผ่าหลายชนชาติ ทั้งชนชาติไทยและชนต่างชาติ เนื้อหาที่จะกล่าวนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงจากเอกสาร และประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า ประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงจากเอกสาร ลำดับเหตุการณ์ก่อนคริสต์ศตวรรษ ดังนี้
  • B.C. 2617 ชนชาติกะเหรี่ยงอพยพถอยร่นลงมาจากมองโกเลีย
  • B.C. 2013 ชนชาติกะเหรี่ยงอพยพมาปากีสถานตะวันออก
  • B.C. 1866 ชนชาติกะเหรี่ยงอพยพออกจากปากีสถานตะวันออก
  • B.C. 1864 ชนชาติกะเหรี่ยงอพยพจากธิเบต
  • B.C. 1385 ชนชาติกะเหรี่ยงอพยพมาถึงยูนนาน ประเทศจีน
  • B.C.1128 การอพยพโยกย้ายของชนชาติกะเหรี่ยงรุ่นแรกจากยูนนานลงมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • B.C. 1125 ชนชาติกะเหรี่ยงรุ่นแรก ได้มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • B.C. 759 ชนชาติกะเหรี่ยงรุ่นที่สองอพยพจากยูนนาน ลงมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก
  • B.C. 741 ชนชาติกะเหรี่ยงรุ่นที่สอง ได้อพยพมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หมายเหตุ B.C.หมายถึง ปีคริสต์ศักราช, B.E. หมายถึง ปีพุทธศักราช

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีปอยข้าวสังฆ์


ประเพณีปอยข้าวสังฆ์ ประเพณีไทยล้านนา

ภาษาล้านนา คำว่า “ปอย” หมายถึง งานบุญประเพณี ที่มีผู้คนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ส่วนคำว่า “ข้าวสังฆ์”  หมายถึง เครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับถวายพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์ ในที่นี้จะหมายเอาเฉพาะผู้วายชนม์ที่สิ้นชีวิตผิดปกติวิสัยหรือที่เรียก“ตายโหง”ชาวล้านนาเชื่อว่า การตายโหง เป็นการตายที่ผู้ตายไม่ได้เตรียมตัวหรือรู้ตัวมาก่อน ชีวิตหลังการตายจะเป็นอยู่ด้วยความลำบาก ผนวกกับธรรมเนียมประเพณีโบราณนิยมที่ต้องนำศพไปฝังทันที ไม่มีการทำบุญอุทิศเหมือนกับการตายโดยปกติ

ประเพณีปอยข้าวสังฆ์ เป็นงานบุญประเพณีไทยล้านนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ตายซึ่งตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ รวมทั้งตายทั้งกลม หรือตายเนื่องจากการคลอดบุตร ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าคนที่"ตายโหง"นั้นวิญญาณไม่มีความสุข ผู้ที่ยังอยู่เช่นสามีหรือภรรยาและลูกหลานพี่น้องมักก็เชิญวิญญาณเข้าสิงขอนกระด้างหรือคนทรงที่มีอาชีพทางนี้โดยเฉพาะเพื่อ ไต่ถามชีวิตความเป็นอยู่หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว และถามความต้องการหรือเมื่อทราบว่าต้องการสิ่งใดก็จะจัดส่งไปให้โดยวิธีการจัดถวายทาน ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำบุญอุทิศไปให้ตรงกับวันตายก็ได้ แต่มักนิยมครบรอบปีตายมากกว่า ปอยเข้าสังฆ์จะจัด ที่บ้าน เพราะคนตายสมัยก่อนจะรีบ นำไปฝัง ไม่นิยมเผาเหมือนในปัจจุบัน และในขณะที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลนั้นไม่มีพิธีทำบุญอุทิศถวายทานให้ผู้ตาย  

นอกจากพิธีสวด หรือแสดงพระธรรมเทศนา จะจัดพิธีทานทีหลังเมื่อเจ้าภาพพร้อม ถ้าเทียบกับภาคกลางก็เช่นเดียวกับพิธีทำบุญร้อยวันให้ผู้ตายนั่นเอง    การจัดปอยเข้าสังฆ์  เจ้าภาพจัดเตรียมเครื่องปัจจัยไทยทานตามกุศลเจตนา และความเชื่อ ซึ่งนิยมทำเป็นบ้านจำลอง มีเครื่องใช้ครบถ้วน ทั้งที่นอนหมอนมุ้งถ้วยชามเสื้อผ้ารองเท้าแว่นหวีและมีเครื่องบริโภคคือข้าวน้ำและอาหารตลอดจนหมากเมี่ยงพลูบุหรี่ต่าง ๆ โดยครบถ้วน โดยเฉพาะหญิงที่ตายทั้งกลมหรือตายเพราะการคลอดหรือหลังคลอดนั้น ถือว่าหญิงนั้นมีกรรมหนัก จะทำเรือสำเภาขนาดประมาณ ๕ เมตร กว้าง ๒ เมตรพร้อมทั้งพายและอุปกรณ์จับปลาต่าง ๆ ใส่ลงในเรือนั้นด้วย โดยเชื่อว่าสำเภาจะพาไปสู่สุคติภพและขณะเดียวกันเครื่องมือจับสัตว์ก็ใช้ช่วยหากินในระหว่างเดินทางไปด้วย    

เนื่องจากเชื่อกันว่า ผู้ที่ถึงแก่กรรมโดยฉับพลันหรือ"ตายโหง"นี้จะเสวยกรรมวิบากทนทุกข์ทรมานมาก ดังนั้น การถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้นั้นจะต้องมีทั้งสังฆ์เครื่องดิบและสังฆ์เครื่องสุก ในชุดสังฆ์เครื่องดิบนั้น เจ้าภาพจะจัดหาของสดของคาวถวายแด่พระสงฆ์ที่บริเวณทางไขว่หรือบริเวณทางแยกในเวลาใกล้ค่ำ เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาแล้วก็ให้ขุดหลุมฝังเครื่องดิบนั้นเพื่อให้ผู้ตายได้บริโภคในแบบที่เป็นขุมทรัพย์ที่ผู้ตายจะนำไป บริโภคในสัมปรายภพ และเนื่องจากเชื่อว่าผีตายโหงมีกรรมมาก จะเข้าในวัดเพื่อรับการอุทิศส่วนกุศลก็ไม่ได้เพราะถูกผีในวัดทำร้ายเอา ดังนั้น จึงต้องนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีนอกเขตวัดเท่านั้น ซึ่งอาจทำพิธีที่บ้านของเจ้าภาพหรือนอกกำแพงวัดโดยอาจทำผามคือปะรำหรือตั้งเก้าอี้หรืออาสนะสงฆ์เพื่อถวายทั้งสังฆ์ดิบและสังฆ์สุก

ปัจจุบัน การทำบุญประเพณีปอยข้าวสังฆ์ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ หากแต่ไม่เฉพาะคนตายโหงเท่านั้น ตายลักษณะไหนก็สามารถทำบุญอุทิศในลักษณะอย่างปอยข้างสังฆ์ได้ ชาวล้านนาจึงดำรงไว้ซึ่งประเพณีไทยล้านนาปอยข้าวสังฆ์ดังกล่าวและปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน

ประเพณีบุญผะเหวด


ประเพณีบุญผะเหวด หรือ บุญพระเวสสันดร ประเพณีไทยภาคอีสาน

บุญผะเหวด  บุญพระเวสสันดร หรือ บุญมหาชาติ ซึ่งเป็นการทำบุญในเดือนสี่ บางครั้งก็เรียก “ บุญเดือนสี่” ในบางท้องถิ่นจะทำบุญเดือนนี้ในเดือนสามรวมกับบุญข้าวจี่และบุญกุ้มข้าวใหญ่ ให้เป็นบุญเดียวกันส่วนเดือนสี่ก็เว้นไว้ บุญผะเหวดส่วนมากจะกระทำกันในเดือนสี่
เทศน์มหาชาติ

บุญผะเหวด ประเพณีไทยภาคอีสาน ซึ่งจะทำบุญผะเหวด ปีละ ๑ ครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ จะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย การจัดงานบุญผะเหวด หรือ งานเทศน์มหาชาตินิยมที่อัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชค ลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจาก สะดือทะเล

บุญผะเหวด เป็นประเพณีไทยภาคอีสาน สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายร้อยปี เมื่อถึงเดือนสี่ชาวอีสานแต่ละหมู่บ้านจะประชุมกันเพื่อ กำหนดวันจัดงาน ตามความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะบอกกล่าวญาติ พี่น้อง และหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ และจะ ช่วยกันหาดอกไม้มาตากแห้งไว้ ช่วยกันฝานดอกโน (ทำจากลำต้นหม่อน) งานนี้เป็นงานใหญ่ทำติดต่อกันสามวัน

วันแรก ตามประเพณีไทยดั้งเดิมนั้น จะเรียกว่า วันบีบข้าวปุ้น หรือวันห่อข้าวต้ม ชาวบ้านจะเตรียมจัด ทำอาหารคาวหวาน ไว้ต้อนรับญาติพี่น้อง หรือเพื่อน สนิท มิตรสหายที่จะมาร่วมงานบุญ ซึ่งในงานประเพณี บุญผะเหวดร้อยเอ็ด กำหนดให้วันแรกตอนบ่ายๆ เป็นวัน แห่พระอุปคุตรอบเมือง ให้ประชาชนได้สักการบูชา แล้ว นำไปประดิษฐานไว้หออุปคุต ภายในบริเวณงาน เพราะ เชื่อว่าเป็นพระเถระ ผู้มีฤทธิ์ นิรมิตกุฏิอยู่กลางแม่น้ำมหาสมุทร สามารถขจัดเภทภัยทั้งมวลได้ และพระอุปคุต ยังปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชคลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึง มีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจากสะดือทะเล 

วันที่สอง ตามประเพณีไทยดั้งเดิมถือว่าเป็นวันโฮม (วันรวม) จะเป็นวันที่ญาติพี่น้อง ที่รู้ข่าวการทำบุญ มหาทานจะมาร่วมทำบุญโดยนำข่าวสาร อาหารแห้ง มาร่วมสมทบ และร่วมรับประทานอาหารตลอดทั้งวัน พร้อมทั้งนำอาหารต่างๆ ไปฝากญาติพี่น้องคนอื่นๆ ด้วย ในงานประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด กำหนดให้เป็นวันแห่ พระเวสสันดรเข้าเมือง แต่ละคุ้มวัดตลอดทั้งอำเภอทุก อำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน ๒๐ อำเภอ จะจัดขบวน แห่แต่ละกัณฑ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์แห่รอบเมือง ตอนเย็นมีมหรสพ สมโภช ในวันที่ ๒ และ ๓ ชาวร้อยเอ็ดทุกภาคส่วนทั้งภาค ราชการ บริษัทห้างร้าน เอกชน จะมีตั้งเต็นท์บริการเลี้ยง ข้าวปุ้นฟรีตลอดงาน 

วันที่สาม เป็นวันแห่กัณฑ์จอบกัณฑ์หลอน เริ่มตั้งแต่ เช้ามืด ประมาณตีสี่ ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อน มาทำพิธีเพื่อเอาบูชากัณฑ์เทศน์ คาถาพัน เรียกว่า”ข้าว พันก้อน” ชาวบ้านจะพากันแห่ข้าวพันก้อนรอบศาลาวัด มี หัวหน้ากล่าวคำบูชา

บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ ถือเป็นงานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งใหญ่ อันมีการ สละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของ มวลชนมนุษย์ชาติเป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสาน แต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจ ร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมประเพณี สืบมาจนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็น วัฒนธรรมสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการสังสรรค์ ระหว่าง ญาติพี่น้องจากแดนไกลสมกับคำกล่าวที่ว่า "กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ"