วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีปอยข้าวสังฆ์


ประเพณีปอยข้าวสังฆ์ ประเพณีไทยล้านนา

ภาษาล้านนา คำว่า “ปอย” หมายถึง งานบุญประเพณี ที่มีผู้คนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ส่วนคำว่า “ข้าวสังฆ์”  หมายถึง เครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับถวายพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์ ในที่นี้จะหมายเอาเฉพาะผู้วายชนม์ที่สิ้นชีวิตผิดปกติวิสัยหรือที่เรียก“ตายโหง”ชาวล้านนาเชื่อว่า การตายโหง เป็นการตายที่ผู้ตายไม่ได้เตรียมตัวหรือรู้ตัวมาก่อน ชีวิตหลังการตายจะเป็นอยู่ด้วยความลำบาก ผนวกกับธรรมเนียมประเพณีโบราณนิยมที่ต้องนำศพไปฝังทันที ไม่มีการทำบุญอุทิศเหมือนกับการตายโดยปกติ

ประเพณีปอยข้าวสังฆ์ เป็นงานบุญประเพณีไทยล้านนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ตายซึ่งตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ รวมทั้งตายทั้งกลม หรือตายเนื่องจากการคลอดบุตร ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าคนที่"ตายโหง"นั้นวิญญาณไม่มีความสุข ผู้ที่ยังอยู่เช่นสามีหรือภรรยาและลูกหลานพี่น้องมักก็เชิญวิญญาณเข้าสิงขอนกระด้างหรือคนทรงที่มีอาชีพทางนี้โดยเฉพาะเพื่อ ไต่ถามชีวิตความเป็นอยู่หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว และถามความต้องการหรือเมื่อทราบว่าต้องการสิ่งใดก็จะจัดส่งไปให้โดยวิธีการจัดถวายทาน ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำบุญอุทิศไปให้ตรงกับวันตายก็ได้ แต่มักนิยมครบรอบปีตายมากกว่า ปอยเข้าสังฆ์จะจัด ที่บ้าน เพราะคนตายสมัยก่อนจะรีบ นำไปฝัง ไม่นิยมเผาเหมือนในปัจจุบัน และในขณะที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลนั้นไม่มีพิธีทำบุญอุทิศถวายทานให้ผู้ตาย  

นอกจากพิธีสวด หรือแสดงพระธรรมเทศนา จะจัดพิธีทานทีหลังเมื่อเจ้าภาพพร้อม ถ้าเทียบกับภาคกลางก็เช่นเดียวกับพิธีทำบุญร้อยวันให้ผู้ตายนั่นเอง    การจัดปอยเข้าสังฆ์  เจ้าภาพจัดเตรียมเครื่องปัจจัยไทยทานตามกุศลเจตนา และความเชื่อ ซึ่งนิยมทำเป็นบ้านจำลอง มีเครื่องใช้ครบถ้วน ทั้งที่นอนหมอนมุ้งถ้วยชามเสื้อผ้ารองเท้าแว่นหวีและมีเครื่องบริโภคคือข้าวน้ำและอาหารตลอดจนหมากเมี่ยงพลูบุหรี่ต่าง ๆ โดยครบถ้วน โดยเฉพาะหญิงที่ตายทั้งกลมหรือตายเพราะการคลอดหรือหลังคลอดนั้น ถือว่าหญิงนั้นมีกรรมหนัก จะทำเรือสำเภาขนาดประมาณ ๕ เมตร กว้าง ๒ เมตรพร้อมทั้งพายและอุปกรณ์จับปลาต่าง ๆ ใส่ลงในเรือนั้นด้วย โดยเชื่อว่าสำเภาจะพาไปสู่สุคติภพและขณะเดียวกันเครื่องมือจับสัตว์ก็ใช้ช่วยหากินในระหว่างเดินทางไปด้วย    

เนื่องจากเชื่อกันว่า ผู้ที่ถึงแก่กรรมโดยฉับพลันหรือ"ตายโหง"นี้จะเสวยกรรมวิบากทนทุกข์ทรมานมาก ดังนั้น การถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้นั้นจะต้องมีทั้งสังฆ์เครื่องดิบและสังฆ์เครื่องสุก ในชุดสังฆ์เครื่องดิบนั้น เจ้าภาพจะจัดหาของสดของคาวถวายแด่พระสงฆ์ที่บริเวณทางไขว่หรือบริเวณทางแยกในเวลาใกล้ค่ำ เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาแล้วก็ให้ขุดหลุมฝังเครื่องดิบนั้นเพื่อให้ผู้ตายได้บริโภคในแบบที่เป็นขุมทรัพย์ที่ผู้ตายจะนำไป บริโภคในสัมปรายภพ และเนื่องจากเชื่อว่าผีตายโหงมีกรรมมาก จะเข้าในวัดเพื่อรับการอุทิศส่วนกุศลก็ไม่ได้เพราะถูกผีในวัดทำร้ายเอา ดังนั้น จึงต้องนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีนอกเขตวัดเท่านั้น ซึ่งอาจทำพิธีที่บ้านของเจ้าภาพหรือนอกกำแพงวัดโดยอาจทำผามคือปะรำหรือตั้งเก้าอี้หรืออาสนะสงฆ์เพื่อถวายทั้งสังฆ์ดิบและสังฆ์สุก

ปัจจุบัน การทำบุญประเพณีปอยข้าวสังฆ์ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ หากแต่ไม่เฉพาะคนตายโหงเท่านั้น ตายลักษณะไหนก็สามารถทำบุญอุทิศในลักษณะอย่างปอยข้างสังฆ์ได้ ชาวล้านนาจึงดำรงไว้ซึ่งประเพณีไทยล้านนาปอยข้าวสังฆ์ดังกล่าวและปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน

ประเพณีบุญผะเหวด


ประเพณีบุญผะเหวด หรือ บุญพระเวสสันดร ประเพณีไทยภาคอีสาน

บุญผะเหวด  บุญพระเวสสันดร หรือ บุญมหาชาติ ซึ่งเป็นการทำบุญในเดือนสี่ บางครั้งก็เรียก “ บุญเดือนสี่” ในบางท้องถิ่นจะทำบุญเดือนนี้ในเดือนสามรวมกับบุญข้าวจี่และบุญกุ้มข้าวใหญ่ ให้เป็นบุญเดียวกันส่วนเดือนสี่ก็เว้นไว้ บุญผะเหวดส่วนมากจะกระทำกันในเดือนสี่
เทศน์มหาชาติ

บุญผะเหวด ประเพณีไทยภาคอีสาน ซึ่งจะทำบุญผะเหวด ปีละ ๑ ครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ จะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย การจัดงานบุญผะเหวด หรือ งานเทศน์มหาชาตินิยมที่อัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชค ลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจาก สะดือทะเล

บุญผะเหวด เป็นประเพณีไทยภาคอีสาน สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายร้อยปี เมื่อถึงเดือนสี่ชาวอีสานแต่ละหมู่บ้านจะประชุมกันเพื่อ กำหนดวันจัดงาน ตามความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะบอกกล่าวญาติ พี่น้อง และหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ และจะ ช่วยกันหาดอกไม้มาตากแห้งไว้ ช่วยกันฝานดอกโน (ทำจากลำต้นหม่อน) งานนี้เป็นงานใหญ่ทำติดต่อกันสามวัน

วันแรก ตามประเพณีไทยดั้งเดิมนั้น จะเรียกว่า วันบีบข้าวปุ้น หรือวันห่อข้าวต้ม ชาวบ้านจะเตรียมจัด ทำอาหารคาวหวาน ไว้ต้อนรับญาติพี่น้อง หรือเพื่อน สนิท มิตรสหายที่จะมาร่วมงานบุญ ซึ่งในงานประเพณี บุญผะเหวดร้อยเอ็ด กำหนดให้วันแรกตอนบ่ายๆ เป็นวัน แห่พระอุปคุตรอบเมือง ให้ประชาชนได้สักการบูชา แล้ว นำไปประดิษฐานไว้หออุปคุต ภายในบริเวณงาน เพราะ เชื่อว่าเป็นพระเถระ ผู้มีฤทธิ์ นิรมิตกุฏิอยู่กลางแม่น้ำมหาสมุทร สามารถขจัดเภทภัยทั้งมวลได้ และพระอุปคุต ยังปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชคลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึง มีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจากสะดือทะเล 

วันที่สอง ตามประเพณีไทยดั้งเดิมถือว่าเป็นวันโฮม (วันรวม) จะเป็นวันที่ญาติพี่น้อง ที่รู้ข่าวการทำบุญ มหาทานจะมาร่วมทำบุญโดยนำข่าวสาร อาหารแห้ง มาร่วมสมทบ และร่วมรับประทานอาหารตลอดทั้งวัน พร้อมทั้งนำอาหารต่างๆ ไปฝากญาติพี่น้องคนอื่นๆ ด้วย ในงานประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด กำหนดให้เป็นวันแห่ พระเวสสันดรเข้าเมือง แต่ละคุ้มวัดตลอดทั้งอำเภอทุก อำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน ๒๐ อำเภอ จะจัดขบวน แห่แต่ละกัณฑ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์แห่รอบเมือง ตอนเย็นมีมหรสพ สมโภช ในวันที่ ๒ และ ๓ ชาวร้อยเอ็ดทุกภาคส่วนทั้งภาค ราชการ บริษัทห้างร้าน เอกชน จะมีตั้งเต็นท์บริการเลี้ยง ข้าวปุ้นฟรีตลอดงาน 

วันที่สาม เป็นวันแห่กัณฑ์จอบกัณฑ์หลอน เริ่มตั้งแต่ เช้ามืด ประมาณตีสี่ ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อน มาทำพิธีเพื่อเอาบูชากัณฑ์เทศน์ คาถาพัน เรียกว่า”ข้าว พันก้อน” ชาวบ้านจะพากันแห่ข้าวพันก้อนรอบศาลาวัด มี หัวหน้ากล่าวคำบูชา

บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ ถือเป็นงานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งใหญ่ อันมีการ สละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของ มวลชนมนุษย์ชาติเป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสาน แต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจ ร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมประเพณี สืบมาจนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็น วัฒนธรรมสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการสังสรรค์ ระหว่าง ญาติพี่น้องจากแดนไกลสมกับคำกล่าวที่ว่า "กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ"

งานประเพณีของจังหวัดเพชรบุรี


พระนครคีรี เมืองเพชร งานประเพณีของจังหวัดเพชรบุรี

งานพระนครคีรี เมืองเพชรเป็นงานประเพณีไทยภาคกลางของจังหวัดเพชรบุรี ที่จัดติดต่อกันมาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในส่วนของการประดับไฟบนพระนครคีรี พร้อมทั้งจุดพลุเทิดพระเกียรติทุกค่ำคืน นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และชมลีลาวดีล้านดอกบานสะพรั่งทั่วเขาวัง ปีละครั้ง พร้อมรับชมขบวนแห่พิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านเดินทางมาเที่ยวชมงานในปีนี้


จังหวัดเพชรบุรี มีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ จังหวัดเพชรบุรีเปรียบเสมือนประตูสู่ภาคใต้ เป็นแหล่งรวมงานช่างชั้นครูของประเทศหลายแขนง ดังปรากฏในงานด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ซึ่งจะพบเห็นได้ตามแหล่งโบราณสถาน พระราชวังและพระอารามต่างๆ จังหวัดเพชรบุรีจึงเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวครบถ้วนสมบูรณ์ซึ่งล้วนมีความงดงาม ตลอดผู้คนในจังหวัดเพชรบุรี ที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงความศรัทธายึดมั่นในพระพุทธศาสนาคนเมืองเพชร เพื่อเป็นการส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวภายในจังหวัดเพชรบุรี และเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

งานพระนครคีรี เมืองเพชร จัดขึ้นบริเวณพิพิธภัณฑสถานแหงชาติพระนครคีรี หรือ เขาวัง จ.เพชรบุรี มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ประกอบด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรม สกุลช่างเมืองเพชร การประกวดตกแต่งโคมไฟและโคมกระดาษสี การแข่งขันกอล์ฟพระนครคีรี การออกร้านกาชาด เช่น การสาธิตช่างฝีมือ และภูมิปัญญาท้องถิ่น การละเล่น และวิถีชีวิตชาวบ้าน การประดับไฟและการจุดพลุเฉลิมฉลองทุกคืน ขบวนแห่และนิทรรศการเทิดพระเกียรติฯ สำหรับกิจกรรมบนเขาวังประกอบด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีเมืองเพชร ได้แก่ การสาธิตงานสกุลช่างเมืองเพชร การสาธิตทำอาหาร-ขนมพื้นบ้าน การสาธิตเคียวน้ำตาลโตนด-ขนมจาก การสาธิตศิลปประดิษฐ์ และเครื่องหอม การแสดงนิทรรศการ การละเล่นพื้นบ้านวิถีชีวิตไทย การแสดงดนตรีไทย งานเทศน์มหาชาติ และเวียนเทียนรอบพระธาตุจอมเพชร พร้อมกันนี้ ยังได้จัดอาสาสมัครนำชมพระนครคีรี ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการสร้างความประทับใจที่มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมงาน

ประเพณีไทย ประเพณีลอยกระทง จังหวัดสุโขทัย

ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีไทยที่จะมีขึ้นทุกปีโดยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขี้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่ดูงดงามเหมาะแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง
ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีลอยกระทงนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน
 ประเพณีไทย ประเพณีลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทง สุโขทัย
ในสมัยก่อนนั้นประเพณีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทง ด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ โดยการจัดงาน ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่จังหวัดสุโขทัยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2520 ซึ่งจำลองบรรยากาศงานมาจากงานลอยกระทงสมัยกรุงสุโขทัย และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นที่จังหวัดสุโขทัยทุก ๆ ปี มีทั้งการจัดขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง มีการแสดงแสง-เสียง จำลองบรรยากาศงานเผาเทียน เล่นไฟสมัยสุโขทัย ให้ผู้คนทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศได้ชื่นชม
ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีไทยที่มีทุกท้องถิ่นในประเทศ
ภาคเหนือตอนบน นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)
จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณีลอยกระทง ที่เรียกว่า"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุกๆปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า
จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"
จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง
 ประเพณีไทย ประเพณีลอยกระทง
ลอยโคมยี่เป็ง
ภาคอีสาน ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีลอยกระทง ว่า "สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป" ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง การประกวดประทีปโคมไฟและกระทงอันสวยงาม มีการจำลองแห่หัวเมืองสาเกตุนครทั้ง11 หัวเมือง
จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีประเพณีลอยกระทง จากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล
จังหวัดนครพนม จะตกแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า "ไหลเรือไฟ"โดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนมเพราะมีความงดงามและอลังการที่สุดในภาคอีสาน

ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงาน ประเพณีลอยกระทง อย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน
เหตุผลของการลอยกระทง
1. เพื่อขอขมาแม่คงคา เพราะได้อาศัยนำท่านกินและใช้ และอีกประการหนึ่งมนุษย์มักจะทิ้งและถ่ายสิ่งปฏิกูลลงไปในนำด้วย

2. เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที ซึ่งประพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาทประดิษฐานไว้บนหาดทรายที่แม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย

3. เพื่อลอยทุกข์โศกโรคภัย และสิ่งไม่ดี คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์ 

4. เพื่อบูชาพระอุปคุต ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพแกพระอุปคุตอย่างสูง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มากสามารถปราบพญามารได้ การลอยกระทงไม่มีพิธีรีตอง เพียงแต่ขอให้มีกระทงจะทำด้วยอะไรก็ได้ เช่น ใบตอง การกล้วย กาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว กระดาษ จุดธูปเทียนปักที่กระทงแล้วอธิษฐานตามที่ตนปรารถนา เสร็จแล้วจึงลอยไปที่แม่นำลำคลอง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานเทศกาล  ประเพณีลอยกระทง "ประเพณีไทย สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง" เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน นอกจากจะมีกิจกรรมเด่น ในหลายพื้นที่ เช่น งานประเพณีลอยกระทงกรุงเทพมหานคร, ประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย, ประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่, ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงฯ จังหวัดตาก และประเพณี ลอยกระทงตามประทีป จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้แล้วยังเป็นการส่งเสริมประชาสัมพันธ์งานประเพณีลอยกระทงให้เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ (World Events) เพื่อสร้างแรงกระตุ้นในการเดินทางของนักท่องเที่ยวตลอดเดือนต่อไป 

ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี กรุงเทพมหานคร


ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี กรุงเทพมหานคร

ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี เป็นงานบุญประเพณีประจำปีของเขตภาษีเจริญ ฝั่งธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี หลังวันงานลอยกระทงและเทศน์มหาชาติ ซึ่งในสมัยก่อน เรียกว่างานชักพระ ซึ่งแตกต่างจากงานชักพระของจังหวัดทางภาคใต้ เป็นงานชักพระแห่งเดียวที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และยังแตกต่างไปจากงานชักพระทางจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นประเพณีอันสืบเนื่องมาจากพระพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์เมื่อเสด็จมาจากดาวดึงษ์แล้ว จึงอัญเชิญพระพุทธองค์ประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้แห่แหนไปสู่ที่ประทับ ซึ่งจัดทำกันในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษาโดยอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกที่อยู่บนรถหรือบนเรือแล้วให้เรือชาวบ้าน หรือคนช่วยกันจับปลายเชือกลากพระไป แต่งานชักพระวัดนางชีเป็นการเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกขึ้นประดิษฐานบนบุษบกแทนแล้วชักแห่ไปทางเรือจากหน้าวัดนางชีไปตามลำคลองด่าน เลี้ยวซ้ายออกไปตามคลองบางกอกใหญ่ และผ่านมาช่วงปลายของคลอง

 ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี

วัดนางชีเป็นวัดที่สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา สาเหตุที่สร้างเนื่องมาจาก ลูกสาวของเจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีป่วยโดยไม่รู้สาเหตุจนกระทั่งชีปะขาวมาเข้าฝันเจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีให้แก้บนโดยการให้ลูกสาวบวชชี ดังนั้นเมื่อลูกสาวหายจึงให้ลูกสาวบวชชี และได้สร้างวัดนี้ขึ้น ต่อมา ได้กลายเป็นวัดร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ่อค้าชาวจีนดชได้เป็นผู้บูรณะ ปฏิสังขรณ์ใหม่และแก้ไขดัดแปลงให้เป็นอุโบสถและวิหารแบบจีน มีการประดับ ประดาด้วยตุ๊กตาหินแบบจีน และได้ถวายให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามว่า วัดนางชีโชติการาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้ง

 ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี

ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี ทางวัดจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้สรงน้ำกันในตอนเช้า หลังจากนั้นก็จะเคลื่อนขบวน โดยมีเรือที่คอยลากจูงเรือพระที่เป็นเรือใหญ่ตั้งบุษบกและตกแต่งสวยงาม และมีวงปี่พาทย์บรรเลง ในสมัยต่อมาให้เรือยนต์เป็นเรือประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเรือที่ตามขบวนเป็นเรือหางยาวและชาวบ้านไม่ได้มาร่วมขบวนเหมือนสมัยก่อน แต่จะนั่งดูขบวนแห่ตามริมคลอง ในขบวนมีการละเล่น ร้องรำทำเพลงเมื่อถึงวัดไก่เตี้ยก็จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานให้ชาวบ้านได้สักการะบูชา
 ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี

พระบรมสารีริกธาตุที่วัดนางชีบรรจุในผอบแก้ว ที่เป็นขวดน้ำหอมจากฝรั่งเศสตามประวัติได้เล่าต่อๆ กันมาว่า คณะพราหมณ์และจีนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุผอบทองคำ 2 ผอบมาจากชมพูทวีปเพื่อจะไปประดิษฐานไว้ที่อาณาจักรศรีวิชัยและเชียงใหม่โดยทางเรือ แต่เรือเกิดอุบัติเหตุที่ปากน้ำครองด่าน เมืองธนบุรี ดังนั้นคณะพราหมณ์และชาวจีน จึงอัญเชิญ เสด็จพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานแต่ไม่ทราบว่าที่ใดเวลาผ่านไปผอบได้จมดิน จนเมื่อวัดนางชีสร้างเสร็จผอบก็ปรากฏให้แม่ชีเห็นจึงได้เชิญเสด็จประดิษฐาน ณ วัดนางชี เป็นต้นมา