วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นิกะห์ประเพณีการแต่งงานของชาวไทยมุสลิม


นิกะห์ประเพณีการแต่งงานของชาวไทยมุสลิม

ประเพณีการแต่งงานในศาสนาอิสลาม คือการมอบความปรองดองรักใคร่ แก่กันและกัน การให้กำเนิดบุตร และการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข ตามพระบัญชาของพระอัลเลาะห์ ประเพณีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งงานไว้อย่างชัดเจน และมุสลิมทุกคนจะต้องยึดถือปฏิบัติ พิธีนิกะฮ์จะเริ่มต้นเมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ และตกลงเรื่องสินสอดทองหมั้น สำหรับสินสอดนั้น ตามแต่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน
ในยุคของศาสดามูฮัมหมัด (ซ็อลลอลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม) ใช้เงินเปรียบเทียบเป็นเงินไทยจำนวน 125 บาท พร้อมคัมภีร์อัลกุรอาน 1 เล่ม เป็นสินสอดแก่ภรรยาของท่าน คู่สมรสชาวมุสลิมจึงยึดถือปฏิบัติกันต่อมาเพื่อเป็นมงคล พิธีนิกะฮ์นั้นอาจจะจัดขึ้นที่บ้านเจ้าสาว หรือที่มัสยิดก็ได้

ประเพณีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม เรียกว่า นิกะห์ ("นิกะห์" เป็นคำภาษาอาหรับ มีความหมายว่า การทำพิธีแต่งงานภายใต้หลักเกณฑ์และข้อบังคับแห่งศาสนาอิสลาม") หลักเกณฑ์และข้อบังคับแห่งศาสนาอิสลามตามคัมภีร์อัลกุรอาน  มีอยู่ห้าประการคือ
1. หญิงและชายต้องเป็นมุสลิมทั้งคู่ หลังแต่งงานไปแล้ว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตกศาสนา ความเป็นสามีภรรยาก็ถือเป็นอันสิ้นสุดไปด้วย การอยู่ร่วมกันหลังจากนั้นถือเป็นการผิดประเวณี
2. ผู้ชายต้องจัดหามะฮัรฺ (ของขวัญแต่งงาน) ให้แก่ผู้หญิงตามที่ผู้หญิงร้องขอ เมื่อทำพิธีแต่งงานทางศาสนาเสร็จ มะฮัรฺนี้จะเป็นของผู้หญิงครึ่งหนึ่งก่อน จนกว่าจะได้อยู่ด้วยกันโดยพฤตินัยแล้ว มะฮัรฺก็จะเป็นของผู้หญิงทั้งหมด 
หากหลังพิธีแต่งงานแล้วคู่บ่าวสาวมิได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีกันจริงๆ มะฮัรฺก็จะเป็นของผู้หญิงเพียงครึ่งเดียว
3. ต้องมีพยานเป็นชายมุสลิมที่มีคุณธรรมอย่างน้อย 2 คน
4. ต้องมีวะลี (ผู้ปกครอง)ของผู้หญิงให้อนุญาตแต่งงาน หากพ่อผู้หญิงมิใช่มุสลิม ไม่สามารถเป็นวะลีได้ ผู้หญิงจะต้องแต่งตั้งให้ใครเป็นวะลีทำหน้าที่ในพิธีแต่งงานให้ ทำพิธีเสร็จแล้ว ความเป็นวะลีโดยการแต่งตั้งก็เป็นอันจบไป
5. มีการเสนอแต่งงาน(อีญาบ)จากทางวะลีของฝ่ายหญิง และเจ้าบ่าวต้องกล่าวรับ(กอบูล)


ประเพณีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม ประกอบด้วยการคุฏบ๊ะฮฺนิก๊ะฮฺ เสร็จแล้วก็ทำพิธีนิก๊ะฮฺตามหลักศาสนาโดยการกล่าวเสนอแต่งงานจากทางวะลีฝ่ายหญิง และฝ่ายชายตอบรับ เท่านั้นก็เป็นเสร็จพิธี
ส่วนงานเลี้ยงฉลองแต่งงานเราเรียกว่า "วะลีมะฮฺ" อิสลามส่งเสริมให้ทำเพื่อแสดงความยินดีและรื่นเริงเพราะเป็นโอกาสสำคัญ แต่งานเลี้ยงต้องไม่ฟุ่มเฟือย
การสู่ขอ เมื่อชายหญิงชอบพอกัน และผู้ปกครองเห็นสมควร ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เรียกว่า มาโซะมีเดาะ มีการตกลงระหว่าง ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับสินสอดทองหมั้นและกำหนดวันหมั้น
พิธีหมั้น เมื่อถึงกำหนดฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่นำขบวนขันหมาก หรือพานหมากไปยังบ้านฝ่ายหญิง โดยผู้ที่เป็นเจ้าบ่าวไม่ได้ไปด้วย พานหมากมีสามพานคือ พานหมากพลู พานข้าวเหนียวเหลือง และพานขนม ต่อจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะกำหนดวันแต่งงานและการจัดงานเลี้ยง ก่อนเถ้าแก่จะเดินทางกลับฝ่ายหญิงจะมอบผ้าโสร่งชาย (กาเฮงแปลก๊ะ) หรือผ้าดอกปล่อยชาย (กาเฮงมาเต๊ะลือป๊ะ) อย่างใดอย่างหนึ่ง และขนมของฝ่ายหญิงให้กลับเป็นการตอบแทนให้แก่ฝ่ายชาย
พิธีแต่งงาน วันแต่งงาน ขบวนเงินหัวขันหมากประกอบด้วยเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว และญาติผู้ใหญ่ จะเดินทางไปยังบ้านเจ้าสาว ทางบ้านเจ้าสาวจะเชิญอิหม่าม คอเต็บ ทำพิธีแต่งงาน พร้อมสักขีพยานและผู้ทรงคุณธรรม (คุณวุฒิ) เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าว จะมอบเงินหัวขันหมากให้แก่โต๊ะอิหม่าม ตรวจความถูกต้อง บิดาของเจ้าสาวจะไปขอความยินยอมจากเจ้าสาว (ขณะนั้นเจ้าสาวอยู่ในห้อง) โดยบิดาจะถามว่า พ่อจะให้ลูกแต่งงานกับ ?.(ชื่อเจ้าบ่าว) ลูกจะยินยอมหรือไม่ เจ้าสาวก็จะให้คำตอบยินยอมหรือไม่ยินยอม ถ้าไม่ยินยอมพิธีจะดำเนินต่อไปไม่ได้ ถือว่าผิดหลักศาสนา การถามตอบระหว่างพ่อ-ลูก จะต้องมีพยานสองคนคือ คอเต็บ หรือผู้ทรงคุณธรรมฟังอยู่ด้วย เมื่อเจ้าสาวตอบยินยอมก็จะดำเนินพิธีขั้นต่อไป จากนั้นบิดาเจ้าสาวก็วอเรา คือการกล่าวมอบหมายให้โต๊ะอิหม่ามเป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงาน โดยการ บาจอกุฎตีเบาะ คืออ่าน กุฎยะฮ คืออ่านศาสนบัญญัติ เพื่ออบรมเกี่ยวกับการครองเรือน เสร็จแล้วจึงทำการ นิกะฮ คือการรับฝ่ายหญิงเป็นภรรยาต่อหน้าโต๊ะอิหม่าม และพยาน โต๊ะอิหม่ามจะจับปลายมือของเจ้าบ่าว แล้วประกอบพิธีนิกะฮ โดยกล่าวชื่อ เจ้าบ่าว แล้วกล่าวว่า ฉันได้รับมอบหมายจาก ?(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ให้ฉันจัดการแต่งงานเธอกับ?(ชื่อเจ้าสาว) ซึ่งเป็นบุตรของ?(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ด้วยเงินหัวขันหมากจำนวน ?..บาท
เจ้าบ่าวจะต้องตอบรับทันทีว่า ฉันยอมรับการแต่งงานตามจำนวนเงินหัวขันหมากแล้ว สักขีพยานกับผู้ทรงคุณธรรมกล่าวต่อบรรดาผู้มาร่วมงานในห้องนั้นว่า คำกล่าวของเจ้าบ่าวใช้ได้ไหม ถ้าผู้ร่วมงานตอบว่าใช้ได้ เป็นอันว่าการแต่งงานนั้นถูกต้องแล้วโต๊ะอิหม่าม จะบาจอดุอา หรือบาจอดอออ ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้อัลเลาะห์ให้พรแก่คู่บ่าวสาว จบแล้วอิหม่ามจะบอกหลักของการเป็นสามีภรรยา แก่เจ้าบ่าวว่า ตามหลักศาสนานั้น ผู้เป็นสามีต้องเลี้ยงดูภรรยาและอยู่ร่วมกันตามหน้าที่ของสามีภรรยา จากนั้นมีการลงชื่อ โต๊ะอิหม่าม เจ้าบ่าว เจ้าสาว บิดาฝ่ายหญิง และพยานในหนังสือสำคัญเป็นหลักฐาน เป็นอันเสร็จพิธี
ตามหลักศาสนบัญญัติ ประเพณีแต่งงานชาวไทยมุสลิมกำหนดว่ามุสลิมจะต้องแต่งงานกับมุสลิมด้วยกันเท่านั้น กรณีที่เป็นคนต่างศาสนา จะต้องให้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเสียก่อน การเข้ารับอิสลามจะต้องศึกษาเกี่ยวกับหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ พร้อมทั้งปฏิญาณตน กรณี ที่เป็นชาย ต้องทำคิตานหรือเข้าสุนัต หมายถึงการขริบหนังส่วนปลายที่หุ้มอวัยวะเพศด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทางเดียวกัน และเมื่อมีลูกด้วยกัน ลูกจะได้เริ่มนับถือในสิ่งที่ถูกต้อง

งานประเพณีลอยเรือชาวเล


งานประเพณีลอยเรือชาวเล ประเพณีไทยภาคใต้

ประเพณีลอยเรือ หรือลอยเรือชาวเล เป็นประเพณีไทยภาคใต้ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวเลทางของประเทศไทย ที่ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาช้านาน โดยชาวเลมีความเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์เพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านรอดพ้น จากสิ่งที่ชั่วร้ายทั้งปวง ด้วยการขออำนาจจากผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านให้ช่วยขับไล่สิ่ง อัปมงคล และรวมทั้งเป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองให้พวกเขาได้ อยู่รอดปลอดภัยตลอดฤดูมรสุม โดยใช้เรือเป็นพาหนะบรรทุกสิ่งชั่วร้ายออกไป ปล่อยให้ไหลไปตามสายน้ำ


ชาวเล ถือว่าการลอยเรือเป็นประเพณีไทยสำคัญที่สุดในรอบปี นิยมจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งๆ ละ 3วัน คือในวันขึ้น 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ ของเดือน 6 กับเดือน 11 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูมรสุม ส่วนวันลอยเรือชาวเลบางแห่งจะพากันไปเซ่นไหว้ผีหมู่บ้านก่อนเพื่อความเป็น สิริมงคล ส่วนในการต่อเรือพิธี หรือ ปลาจั๊ก ซึ่งทั้งหมู่บ้านจะต่อกันเพียงลำเดียว ไม้ที่ใช้ต่อเรือจะเป็นไม้เนื้ออ่อน ส่วนมากนิยมใช้ไม้ระกำ โดยเรือปลาจั๊กจะมีขนาดกว้าง 2 ฟุต ยาวประมาณ 6 ฟุต ตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ใบเรือทำจากผ้าดิบ และยังมีการแกะสลักไม้ระกำ เป็นนายท้ายเรือ พายนำเครื่องใช้ประจำวัน อาทิ มีด ครก เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ใส่ไปในเรือด้วย จากนั้นเมื่อทำการต่อเรือเสร็จแล้ว ในตอนค่ำ ผู้นำครอบครัวจะนำตุ๊กตาที่แกะสลักเป็นรูปคนโดยแกะจากไม้ระกำ ตามจำนวนสมาชิกของครอบครัว พร้อมทั้งตัดเล็บมือ เล็บเท้า เส้นผมของทุกคนในบ้าน ตลอดจนของแห้ง เช่น กะปิ เกลือ หมาก พลู ที่เตรียมมาใส่ลงไปในเรือด้วย


ประเพณีลอยเรือชาวเล จะเริ่มโดยชาวเลทั้งหลายนำข้าวตอกดอกไม้และขนมไปวางบนหลาทวด แล้วจุดธูปเทียนอธิษฐาน เพื่อให้ดวงวิญญาณทวดมีความสุข และขอความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง จากนั้นทุกคนจะเสี่ยงเทียน คืออธิษฐานขอให้เทียนเป็นเครื่องชี้บอกดวงชะตาของตนเองและครอบครัว พร้อมทั้งการประกอบอาชีพ คือ ถ้าการประกอบอาชีพและชีวิตครอบครัวราบรื่น ขอให้เปลวเทียนโชติช่วงสว่างไสว
ประเพณีลอยเรือ  ก็คือ การลอยบาป และเป็นการเสี่ยงทายในการประกอบอาชีพ กล่าวคือ การลอยเรือเป็นเครื่องกำหนดว่า การประกอบอาชีพจะเจริญก้าวหน้าหรืออัตคัดขาดแคลน โดยดูจากเรือที่ลอยเป็นสำคัญ คือถ้าเรือออกไปแล้ว ลอยออกไปไม่ถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่งเดิม แสดงว่าชาวเกาะทั้งหลาย จะเป็นผู้โชคดี การประกอบอาชีพคือการจับปลา จะจับได้มาก การหากินจะไม่ฝืดเคือง แต่ถ้าเรือถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง จะเป็นเครื่องชี้ว่า การทำมาหากินจะฝืดเคือง ชาวเกาะจะประสบโชคร้าย จากภัยธรรมชาติหรืออาจจะประสบอุบัติเหตุถึงชีวิต ชาวเลเชื่อว่าการลอยเรือ จะเป็นเครื่องชี้ว่า การทำมาหากินจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

ประเพณีมาแกปูโล๊ะ


ประเพณีมาแกปูโล๊ะและมาแกแตประเพณีชาวไทยมุสลิม

ประเพณีมาแกปูโล๊ะเป็นประเพณีไทยดั้งเดิมของชนชาวมลายูท้องถิ่นในสามจังหวัดชานแดนภาคใต้ที่มีการสืบทอดกันมาช้านาน ตั้งแต่วัฒนธรรมดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ที่มีอิทธิพลต่อท้องถิ่นมลายูก่อนที่จะรับเอาศาสนาอิสลามในเวลาต่อมา ช่วงที่ยังนันถือศาสนาพราหมณ์นั้นในการจัดงานแต่ละครั้งจะมีวัฒนธรรมและพิธีกรรมที่ไม่เหมือนกับปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วจะนับถือพวกผี เทวดา เจ้าที่ เจ้าทาง พิธีกรรมบางอย่างจะอยู่ในรูปของการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ เมื่อศาสนาอิสลามเข้ามีบทบาทมากขึ้นมีการเผยแพร่ศาสนากระจายในวงกว้างขึ้น และมีอิทธิพลต่อคนในพื้นที่มาก ซึ่งได้สอนถึงการนับถือพระจ้าองค์เดียว (อัลลอฮฺ) เท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปทำให้ประเพณีบางอย่างในอดีตค่อยๆหายไปเพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการของอิสลาม (ซิริก) แต่ไม่ใช่ว่าสูญหายไปแต่จะถูก ปรับ เปลียนอย่างไรจึงจะสามารถดำเนินอยู่ได้ในชุมชนมุสลิมบางชุมชนถึงทุกวันนี้ได้  และจากที่วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปทำให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในสังคนนั้นอย่างไร

ภาพประกอบจาก iamchild.org

มาแกปูโล๊ะเป็นภาษามลายูท้องถิ่นของ 3 จังหวัดภาคใต้ ตรงกับภาษาไทยว่า "กินเหนียว" มาแกปูโละเป็นประเพณี "กินเลี้ยง" ของท้องถิ่น นิยมทำกันทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมภาคใต้ ในกลุ่มของชาวมุสลิมนั้น "มาแกปูโละ" หมายถึงงานกินเลี้ยงใน งานแต่งงาน งานเข้าสุหนัด หรือเพื่อหาเงินกิจกรรมอะไรสักอย่างก็ได้ แต่สำหรับชาวไทยพุทธหมายถึงงานเลี้ยงแต่งงานอย่างเดียว ความจริงเมื่อไปในงานนี้แล้ว ไม่ได้ไปกินข้าวเหนียว หากแต่ไปกินข้าวเจ้าเหมือนงานกินเลี้ยง ทั่วไป สันนิษฐานว่า เดิมคงกินข้าวเหนียวกันจริง ๆ แต่เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปจน กลายเป็นข้าวเจ้า แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียกว่ากินเหนียวอยู่

ในท้องถิ่นมลายูในจังหวัดชายแดนใต้มีการเรียกงานมาแกปูโล๊ะที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละงาน เช่น งานดุหรี งานมาแกแต  งานมาแกปูโล๊ะ งานแบะเวาะห์   หรือกินเหนียวและกินบุญของชาวไทยพุทธนั้นเอง และอีกความหมายหนึ่งนั้นหมายถึง เป็นการตั้งคำถามกับหนุ่มสาวว่าเมื่อไหรจะมาแกปูโล๊ะกับเขาบ้าง( เมื่อไหรจะมีงานแต่งงานเป็นของตนเอง ) 

คำว่า "กินเหนียว" ในกลุ่มชาวพุทธมักจะหมายถึงงาน "แต่งงาน" มากกว่างานอย่างอื่น เช่น บ้านใดมีลูกสาวหรือลูกชายควรแก่วัยจะมีเหย้ามีเรือนได้แล้ว ก็มะมีคนถามว่า "บ้านนี้เมื่อไร จะได้กินเหนียว" การกินเหนียวในกลุ่มชาวพุทธ แขกได้กินเหนียวจริง ๆ กล่าวคือ หลังจาก รับประทานอาหารคาวซึ่งจะมีอาหารชนิดต่างๆ เสร็จแล้ว เจ้าของงานจะถอนชามกลับ แล้วยกเอา "ข้าวเหนียว" มาเลี้ยงต่อ "ข้าวเหนียว" ที่ได้รับประทานกันในงานแต่งงาน มีหลายแบบ เช่น เหนียว สีขาวธรรมดาหรือสีเหลืองคู่กับสังขยา หรือมะพร้าวผัดกับน้ำตาลเรียกว่า "หัวเหนียว" บางแห่งก็ใช้ ข้าวเหนียวแก้ว บางแห่งใช้กะละแมเป็นหัว ถ้าเป็นสมัยก่อนลงไปอีกหน่อย แขกสตรีเมื่อไปช่วยงาน จะเอาข้าวสาร ขมิ้น พริกขี้หนู กระเทียม ตลอดจนเครื่องครัวอื่น ๆ ใส่ "หม้อเหนียว" ไปช่วยงานแทน เงิน กรณีนี้เจ้าของงานจะต้องห่อข้าวเหนียวใส่ "หม้อเหนียว" กลับไปให้เจ้าของหม้ออีกด้วย แต่ โดยทั่วไปแล้ว สำหรับแขกสตรีแม้ไม่มี "หม้อเหนียว"ไปก็จะได้รับห่อข้าวเหนียวกลับบ้านเสมอ
อาหารที่นิยมมาจัดเลี้ยงในงานมาแกปูโล๊ะ

อาหารที่นิยมเลี้ยงในงานมา แกปูโล๊ะก็จะเป็นอาหารธรรมดา เช่น พะแนงเนื้อ มัสมั่น กอและ คั่วเนื้อ นาสิกราบู (ข้าวยำ)  ขนมจีนเป็นต้น ในชนบทจริง ๆ เครื่องเคียงอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะขาดไม่ได้ คือ "ษมา" พริกตำกับเกลือ ปรุงรสให้อร่อยมีสีแดงน่ารับประทาน) สำหรับในตัวเมืองอาหารก็พิสดารไปตามความนิยม ถ้า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้รับเชิญไปในงาน กับข้าวที่ต้อนรับก็จะจัดกันพิเศษไปจากการต้อนรับแขก ทั่วไป ถือว่าเป็นการให้เกียรติกันเป็นพิเศษ
ประเพณีมาแกแต เป็นภาษามลายูท้องถิ่น แปล่ว่า กินน้ำชา เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประเพณีมาแกแต หรือกินน้ำชา ไม่ใช่วัฒนธรรมทางศาสนาอิสลาม แต่เป็นเรื่องที่สังคมในท้องถิ่นคิดจัดขึ้นมาเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการหาเงิน เนื่องในกรณีต่างๆเช่น

1.      หาเงินเพื่อสร้างโรงเรียน มัสยิด สุเหร่า ศาลา ฯลฯ ซึ่งเป็นศาสนสถานต่างๆ

2.      หาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเมกกะฮฺ ซึ่งไม่ใช่บัญญัติของศาสนา

3.      หาเงินไปใช้จ่ายในกรณีต่างๆ เช่น ขับรถยนต์ชนคน ชำระหนี้สิน ซื้อปืน หรือถูกจับในข้อหาต่างๆ

สำหรับชุมชนบางตาวานั้นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นยังมี มาแกแต กรณีลูกต้องไปเกณฑ์ทหารแต่ผู้ปกครองไม่อยากให้ไปอาจจะด้วยเหตุผลต่างๆ จึงต้องการจ่ายเพื่อให้ลูกพ้นจากที่ต้องไปเกณฑ์ทหาร และยังมีกรณีเรือล้มด้วย

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ


ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช

การจัดงานประเพณี “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” เป็นประเพณีไทยที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพราะในโลกมีการยึดถือและปฏิบัติกันที่เมืองนครศรีธรรมราชแห่งเดียวเท่านั้น แต่เดิมจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวัน “มาฆบูชา” และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวัน “วิสาขบูชา” แต่ในระยะหลัง ๆ ชาวพุทธจะนิยมมาร่วมแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชามากกว่าในวันวิสาขบูชา ทางจังหวัดจึงหันมาเน้นการจัดงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาเป็นหลัก เรียกว่าประเพณี “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ” มาจนถึงปัจจุบัน


ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ของเมืองนครคงจะเกิดขึ้นด้วยเหตุที่ชาวนครเริ่มรับพุทธศาสนามาจากอินเดียก็รับเอาประเพณีต่าง ๆ ตามแบบของชาวพุทธในอินเดียเข้ามาด้วย โดยมักจะยึดถือกันถือกันว่า หากจะทำบุญหรือกราบไหว้บูชาให้ได้กุศลจริง ๆ จะต้องปฏิบัติเฉพาะพระพักตร์พระองค์ หรือใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุดเท่านั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพานแล้ว แต่ยังมีตัวแทนอยู่ เช่น เจดีย์ และพระพุทธรูป เป็นต้น การ กราบ ไหว้ บูชาสิ่งเหล่านี้ย่อมเท่ากับบูชากราบไหว้พระพุทธองค์ 

แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุจะนัดหมายโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนใหญ่ แต่ในปัจจุบันการเดินทางสะดวกขึ้น ผู้คนที่ศรัทธาก็มาจากหลายทิศทาง ต่างคนต่างคณะก็เตรียมผ้ามาห่มพระธาตุ ใครจะตั้งขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็สุดแต่ความสะดวก ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีตลอดทั้งวันโดยไม่ขาดสาย เดิมขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุทุกขบวนนิยมใช้ดนตรีพื้นบ้านนำหน้าขบวน ได้แก่ ดนตรีหนังตะลุง ดนตรีโนรา แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นกลองยาว บรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น เพื่อช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะเดินเป็นแถวเรียงเป็นริ้วยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนชู (เทิน) ผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ทั้งนี้เพราะความเชื่อกันว่าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้า จึงควรถือไว้ในระดับสูงกว่าศีรษะ
 ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

การที่ชาวนครนำเอาผ้าไปแบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ โดยการโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ (ซึ่งชาวนครเรียกว่า " แห่ผ้าขึ้นธาตุ")เช่นนี้คือการบูชาที่สนิทแนบกับองค์พระพุทธองค์นั่นเอง ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครเป็นประเพณีที่มีมานานจนยากที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่าเริ่มในสมัยใด ตามตำนานจองประเพณีนี้มีว่า ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ราว พ.ศ.1773 เป็นสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจัทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์อยู่นั้นคลื่นได้ซัดผ้าแถบใหญ่ชิ้นหนึ่งซึ่งมีลายเขียนเรื่องพระฑุทธประวัติ เรียกว่า "พระบฏ" ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ก่อนที่จะถึงวันสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ไม่นาน ชาวปากพนังเก็บผ้านั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าศรีธรรมโศกราชรับสั่งให้ซักพระบฏจนสะอาด แต่ลายเขียนพระพุทธประวัติไม่ลบเลือน ยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ผ้าพระบฏเป็นผ้าซึ่งเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ ปัจจุบันการทำผ้าพระบฏ เป็นการยากและต้นทุนสูง จึงใช้เป็นผ้าขาว ผ้าเหลือง ผ้าแดง จะตระเตรียมผ้าขนาดความยาวตามความศรัทธาของตน เมื่อไปถึงวัดก็จะนำผ้ามาผูกต่อกันเป็นขนาดยาวที่สามารถห่มพระธาตุรอบองค์ได้

ประเพณีแห่พระบฏขึ้นธาตุของหมู่ประชาชนยังทำสืบกันมา แต่แยกเป็นต่างกลุ่มต่างทำ คือ พระบฏกลายเป็นผ้าขาว ผ้าเหลือง ผ้าแดงสุดแต่จะชอบ และไม่มีการเขียนรูปพระพุทธประวัติ เนื่องจากช่างเขียนไม่คิดค่าจ้าง การเรียกชื่อประเพณีก็จะไม่มีคำว่า "พระบฏ" ไปจนในที่สุดก็คงเหลือเพียง "แห่ผ้าขึ้นธาตุ" เป็นพุทธบูชา การแห่ก็มีเพียงช่วยกันจับชายผ้า เทินผ้า ไปตามถนน ไม่มีสำรับคับค้อน ไม่มีกระบุง กระจาด ของสด ของแห้ง บางขบวนก็ตั้งขบวบ ไปวัดพระธาตุฯ อย่างเงียบ ๆ พอเป็นพิธี แต่ละคน แต่ละคณะต่างเตรียมผ้าขึ้นธาตุไม่พร้อมเพรียงกัน แล้วแต่สะดวก ตลอดวันมีขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุไม่ขาด

เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้


เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้ โคมไฟหาดใหญ่ ปี 2556 เริ่มแล้ว 

เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้ “สีแสงแห่งวัฒนธรรม” ประเพณีไทยภาคใต้ของหาดใหญ่ การจัดแสดงโคมไฟดูสวยงามในยามค่ำคืน อีกทั้งยังมีการสร้างโดมน้ำแข็งที่ภายในประดับด้วยโคมไฟสีสันต่างๆ ที่เข้ากันกับประติมากรรมน้ำแข็ง ขยายพื้นที่จัดแสดงกว้างขึ้นด้วยโคมไฟ 23 ชุด ด้าน“หาดใหญ่ไอซ์โดม Hatyai Ice Dome Season 4 ไม่น้อยหน้าขนช่างจากฮาร์บินเนรมิตประติมากรรมน้ำแข็งสวยสดงดงาม เปิดให้เข้าชมพร้อมกันแล้วตั้งแต่วันนี้ เชื่อนักท่องเที่ยวแน่นขนัดกว่าทุกปี


เทศบาลนครหาดใหญ่ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้ ครั้งที่ 7(Hatyai Lantern Festival) ภายใต้ความสวยงามของ สีแสงแห่งวัฒนธรรม พร้อมกับสุดยอดการแสดงประติมากรรมโคมไฟน้ำแข็งฝีมือช่างระดับโลกจากเมืองฮาร์บิน หาดใหญ่ไอซ์โดม Hatyai Icedome season 4 โดยการจัดแสดงเทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้ ครั้งที่ 7 (Hatyai Lantern Festival) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2555 - 30 เมษายน2556 โดยเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 17.00 - 21.00 น. ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ เปิดให้ ชมฟรี พื้นที่จัดแสดงเริ่มต้นจากบริเวณหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่5 จนถึงบริเวณเชิงสะพานศาลากลางน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการจัดโซนการแสดงในพื้นที่ใหม่ เพื่อรองรับการนำเสนอโคมไฟสีสันในหลากหลายรูปแบบที่แปลกตากว่าในทุกๆ ปีที่ผ่านมา อาทิ การแสดงโคมสีโคมไฟสไตล์จื้อกง โคมไฟสไตล์จีน โคมไฟสไตล์ญี่ปุ่น และโคมไฟสไตล์อิตาลี ซึ่งแบ่งการจัดแสดงในรูปแบบต่างๆ อาทิ ซุ้มประตูมังกรสวรรค์ ปิรามิตแห่งคชสาร มั่งมีศรีสุข เหลือกินเหลือใช้(ปลาหลีฮืออัน) , บุตรมังกรทั้ง9 ฮกลกซิ่วเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ โคมร้อยสกุลแซ่  หิมพานต์เหรา(พญานาคมีขา) พระพิฆเนศวร กวนอิมข้ามสมุทร รถม้าแห้งเทพ ฯลฯ

เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้โคมไฟหาดใหญ่ ยังมีอีกหนึ่งความสวยงามของสีสันแห่งโคมไฟ ภายใต้อุณหภูมิติดลบ15องศาเซลเซียล กับเทศกาลโคมไฟน้ำแข็ง หาดใหญ่ไอซ์โดม Hatyai Ice Dome Season ที่กลับมาพร้อมความมหัศจรรย์แห่งโลกน้ำแข็งที่ยกฮาร์บิ้นมาสู่สายตาชาวไทยอีกครั้ง กับผลงานการแกะสลัก ของช่างจีนกว่า 30 ชีวิต ที่จัดแสดงผลงานอันสะท้อนถึงจินตนาการ ภายใต้สีสันของก้อนน้ำแข็งรูปแบบต่างๆ อันสื่อถึงสัมพันธภาพของกลุ่มอาเซียน ความสวยงามของโลกใต้ทะเล โลกของเด็ก และโลกแห่งยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งจะจัดแสดงทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2555 ถึง 31 สิงหาคม 2556 เวลา 10.00-20.00 น. ณ อาคารจัดแสดง Hatyai Ice dome สวนสาธารณะเทศบาล นครหาดใหญ่ ที่เดียวที่ทุกท่านจะได้พบกับความตื่นตาตื่นใจของโคมไฟน้ำแข็งหลากหลาย รูปแบบสุดอลังการที่เดียวในประเทศไทย อีกทั้งทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้จัดให้มีสัญลักษณ์ หงส์คู่มังกร เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ กับสัญลักษณ์คู่ของกษัตริย์อีกด้วย และร่วมเต็มอิ่มไปกับความงามของประติมากรรมน้ำแข็งในพื้นที่กว่า 1,700 ตารางเมตร และชมความสวยงามของโคมไฟหลากสีสัน ในงาน เทศกาลโคมสีสันเมืองใต้ ครั้งที่ 7 และเทศกาลโคมไฟน้ำแข็ง Hatyai Ice Dome Season 4 ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ สวนแห่งความสุข

ประเพณีแฮกนาไถเอาฤกษ์พิธีผีตาแฮก


ประเพณีแฮกนาไถเอาฤกษ์พิธีผีตาแฮก ปลุกขวัญชาวนา

ประเพณีแฮกนา ก็คือ การลงถือไถครั้งแรกของชาวนา เป็นประเพณีไทยภาคเหนือและภาคอีสานที่ถือปฏิบัติแต่เดิม ชาวนาจะคำนึงถึงพญานาคให้น้ำในวันปีใหม่สงกรานต์ว่า ปีนี้นาคที่ให้หันหน้าไปทางทิศไหน การเริ่มไถแฮกนาจะไถตั้งหัวนาคไปหาหางนาค จะเว้นจากการไถเสาะเกล็ดนาค คือ ทวนเกล็ดพญานาค 1 และไถค้างท้องนาค 1 หมายถึงการไถที่ตระกายท้องนาค ซึ่งการไถ 2 แบบนี้ไม่เป็นมงคลการไถนั้นจะเริ่มต้นด้วยการ “ผ่าฮิ้ว” คือไถแบ่งตอน แล้วจะไถ “พัดซ้าย” หมายถึง การไถด้านซ้ายให้ก้อนขี้ไถผลักมาทางขวา แล้วต่อไปให้ “พัดขวา” คือ การไถด้านขวา ผลักขี้ไถมาด้านซ้ายและไถเรื่อยไปจนกว่าจะหมดเนื้อที่ในนานั้น


การแฮกนานั้น ถ้าถือตามประเพณีไทยที่ได้มาจากอินเดียโบราณเกี่ยวกับพระราชพิธีแรกนาขวัญนั้น เป็นพิธีที่นำมาประยุกต์ในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ตะวันออก หลายชาติ เช่น ไทย พม่า เขมร ลาว เป็นต้น แต่ประเพณีแรกนาขวัญ ที่ยังปฏิบัติกันอยู่เวลานี้อยู่ในราชสำนักไทยเท่านั้น ซึ่งจะมีพิธีแรกนาขวัญ โดยถือเป็นราชพิธีมีรัฐบาลดำเนินการทุก ๆ ปี ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นกำลังใจแก่พลเมืองสร้างกำลังขวัญแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
ประเพณีแฮกนา เป็นประเพณีตามความเชื่อที่มีความหมายเดียวกับแรกนาในภาษาไทยภาคกลาง การแฮกนา เป็นการเริ่มต้นลงมือทำนาโดยมีวัตถุประสงค์ในการบูชาแม่โพสพ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเสี่ยงทายไปในตัวด้วย การแฮกนาในภาคเหนือนั้น มีทั้งการแฮกโดยรวมและการแฮกตามขั้นตอนการปลูกข้าว ซึ่งมี แฮกไถ แฮกหว่าน แฮกเกี่ยว และแฮกตี(นวด) พิธีกรรมในการแฮกมีรายละเอียด พอสังเขปดังนี้  
             
แฮกนา โดยรวมจะทำเป็นพิธีที่สำคัญยิ่งพิธีหนึ่ว ระยะเวลาที่นิยมจัดพิธีคือช่วงก่อนจะเริ่มไถนาในฤดูกาลนั้นๆ พ่อนาจะประกอบพิธีอ่านโองการบวงสรวงเทพารักษ์ที่ปกปักรักษาแดนนา พระแม่โพสพและพระแม่ธรณี เสร็จแล้วจะเป็นการเสี่ยงทาย เริ่มจากการสังเกตดูสร้อยสังวาล หากเห็นสร้อยสังวาลมีความยาวทายว่าปีนี้น้ำท่าสมบูรณ์ดี ถ้าเห็นสังวาลสั้นทายว่าน้ำจะน้อย ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล จากนั้นจึงไปหยิบเอาเมล็ดข้าวที่ใส่ทะนานในบริเวณพิธีมาเสี่ยงทายดูหากจำนวนเมล็ดข้าวเป็นจำนวนคู่ทายว่าข้าวกล้าในนาจะได้ผลเต็มที่ แต่ถ้าเป็นจำนวนคี่ ทายว่าข้าวกล้าจะไม่ให้ผลดีนัก เสี่ยงทายเสร็จจะนำข้าวเปลือกในพิธีหว่านในปริมณฑลของราชวัตรนั้น จากนั้นนำต๋าแหลวไปปักไว้ตามมุมกระทงนาพร้อมนำต้นดอก “เอื้องหมายนา” ไปปลูกคู่กับต๋าแหลว เพื่อสัญลักษณ์แสดงอาณาเขต หลังจากนั้นจะหาวันที่แรกไถ แรกหว่าน แรกปลูก และแรกกระทำอื่นๆ บนผืนนาจนกว่าจะแล้วเสร็จกระบวนการ 
              
แฮกไถ การเตรียมการแรกไถ ชาวล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับการหันหัวของพญานาค โดยเชื่อกันว่าในแต่ละช่วงเดือนพญานาคจะหันหัวไปในทิศต่างๆ การแรกไถจะไม่ไถไปในทิศทางกับหัวพญานาค คือต้องไถไปทางทิศที่เป็นหางพญานาคเท่านั้น ดังนั้น ต้องหาทิศทางของนาคด้วย คือจะต้องไม่ไถทวนหรือย้อนเกล็ดพญานาคประจำเดือนดดยเด็จขาด ที่เรียกกันว่า “ไถเสาะเกล็ดนาค” หมายถึงการฝืนหรือต้านอำนาจของพญานาคผู้ดูแลดินและน้ำ และหากไถเสาะเกล็ดนาคเชื่อว่าจะทำให้มีอันเป็นไป เช่น ไถหัก วัวควายที่ใช้ไถตื่นกลัว คนไถได้รับอันตราย ตลอดจนข้าวกล้าเสียหายไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะทำให้การปลุกข้าวในฤดูนั้นประสบปัญหา หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ แก่นาข้าวของตนเอง สำหรับทิศที่พญานาคหันหัวตามการนับเดือนของล้านนาคือ (เดือนทางล้านนาจะเร็วกว่าภาคกลางไป 2 เดือน)เดือน 1-3 พญานาคหันหัวไปทิศใต้เดือน 4-6 พญานาคหันหัวไปทิศตะวันตกเดือน 7-9 พญานาคหันหัวไปทิศเหนือเดือน 10-12 พญานาคหันหัวไปทิศตะวันออก
การแฮกไถเป็นการใช้ของมีคม คือผาลไถไปวอนไวกรีดลึก บนผืนดินที่พญานาคดูแลอยู่ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญ และปฏิบัติต่อพญานาคอย่างนอบน้อม
แฮกหว่าน ก่อนจะนำเมล็ดข้าวพันธุ์ไปหว่าน จะต้องมีการหาวันที่เหมาะสมกับการหว่านตามตำรา ได้แก่ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ในวันเหล่านี้วันพุธ ถือเป็นวันดีที่สุด รองลงมาคือวันศุกร์ สำหรับการหว่าน ท่านให้หันหน้าไปทิศตะวันตก แล้วหลับตาหว่านสัก 4-5 กำมือ จากนั้นก็ค่อยลืมตาหว่านต่อไป ด้วยถือเคล็ดที่ว่าสัตว์เป็นศัตรูข้าวพืชจะไม่สามารถมองเห็นข้าว กล้าที่หว่านและจะไม่มารบกวน เมื่อหว่านเสร็จจะประกอบพิธี “วางควักธรณี” คือวางกระทงใบตองที่บรรจุ “เข้าปั้นกล้วยหน่อย” (ข้าวเหนียวหนึ่งก้อน กล้วยสุกหนึ่งลูก) เพื่อบอกกล่าวพระแม่ธรณีเป็นการฝากฝีงให้ดูแลต้นกล้า ให้เจริญงอกงามดีไม่มีศัตรูพืชมาเบียดเบียน จากนั้นอาจนำต้นเอื้องหมายนามาปักเพื่อแสดงเครื่องหมายบอกความเป็นเจ้าของ พร้อมปักต๋าแหลว เพื่อป้องกันศัตรูพืชและนอกจากนั้นยังพบว่ามีการนำเปลือกไข่ มาครอบปลายไม่เรียวที่ปักไว้ โดยเชื่อว่าจะสามารถป้องกันศัตรูพืชประเภทเพลี้ยได้ด้วย   
            
แฮกหลก หลังจากเพระกล้าในแปลงระยะหนึ่ง ประมาณ 30-40 วัน ชาวนาจะ “หลกกล้า” คือถอนต้นกล้าไปปลูก ทั้งนี้การถอนก็ต้องตรวจหาวันที่ดีที่สุด ซึ่งตามตำราระบุว่าควรถอนกล้าในวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี    
           
แฮกปลูก ตามความเชื่อดังเดิม สำหรับชาวล้านนาได้ให้ความสำคัญ พิธีกรรมในการแฮกปลูก เริ่มต้นที่การหาวันดี สำหรับการปลูกโดยทั่วไปถือเอาวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์ ทั้งนี้จะหลีกเลี่ยงวันที่เรียกว่า “วันถูกปากนก ปากจักแตน” และ “วันผีตามอย” วันถูกปากนก ปากจักแตน มีความหมายถือเป็นวันที่ไม่สมพงศ์กับปากนกและตั๊กแตน ซึ่งเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของสัตรูพืช วันดังกล่าวได้แก่ วันขึ้น  5 6 7 9 12 ค่ำ และแรม 2 6 10 14 ค่ำ ของทุกเดือน ส่วนวันผีตามอย ถือเอาวันขึ้น 1 2 6 7 9 10 11 12 13 14 ค่ำ และแรม 1 2 5 7 8 10 15 ค่ำ เชื่อกันว่าหากแรกปลูกข้าวในวันดังกล่าวผีตามอยจะมาเบียดเบียนให้ต้นกล้าได้รับความเสียหาย ด้านพิธีกรรมในการแฮกปลูก จะประกอบพิธีเซ่นสังเวยเหมือนแฮกนาโดยรวม เพียงแต่ไม้สำหรับเป็นที่แขวนสังวาลที่เรียกกันว่า “คันข้าวแฮก” จะต้องเป็นไม้ที่ขวัญข้าวสถิตย์อยู่ ซึ่งในแต่ละปีขวัญข้าวจะสถิตย์ในต้นไม้ต่างๆ ตามวันสังขานต์ลอง (มหาสงกรานต์) ในแต่ละปี ดังนี้สังขานต์ลอง วันอาทิตย์ ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่สังขานต์ลอง วันจันทร์ ขวัญข้าวอยู่ไม้มะเดือสังขานต์ลอง วันอังคาร ขัญข้าวอยู่ไม้ซางสังขานต์ลอง วันพุธขวัญข้าวอยู่ไม้ข่อยสังขานต์ลอง วันพฤหัสบดี ขวัญข้าวอยู่ไม้ทองกวางสังขานต์ลอง วันศุกร์ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทราสังขานต์ลอง วันเสาร์ ขวัญข้าวอยู่ไม้รวกเมื่อประกอบพิธีเซ่นสังเวยแล้ว พ่อนาจะปลูกข้าวเอาฤกษ์ก่อน โดยจะเลือกมุมกระทงนาที่เคยหว่านข้าวแฮก ขณะลงมือปลูกจะกล่าวคำโฉลกกำกับลงไป เช่น ปลูกต้นที่ 1 ปลูกหื้องัวแม่ลาย ปลูกต้นที่ 2 ปลูกให้ความยแม่ว้อง ปลูกต้นที่ 3 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นเสียกู ปลูกต้นที่ 4 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นฮ้ายกูดี หรือ ใช้คำโฉลกว่า “สุข-ทุกข์” และพยานให้เหลือต้นสุดท้ายว่า “สุข”
แฮกเกี่ยวข้าว ในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ช่วงนี้ชาวนาภาคเหนือจะเอาเครื่องบูชาแม่โพสพซึ่งมี กระจก หวี แป้ง น้ำมันทาผม ปลาย่าง เนื้อยาง หมาก เมี่ยง บุหรี่ ธูปเทียน ดอกไม้ ของหอมนำไปบูชาแม่โพสพที่แท่นนา จากนั้นชาวนาจะหาวันดีก่อน ปล่อยให้นาแห้งเพื่อง่ายต่อการเก็บเกี่ยว แล้วขอขมาแม่โพสพอีกครั้ง โดยของเซ่นประกอบด้วย ข้าว 1 ปั้น กล้วย 1 ลูก หมากเมี่ยง บุหรี่ น้ำดื่ม แล้วอธิษฐานขอเชิญแม่โพสพไปอยู่ที่ยุ้งฉางก่อน แล้วจึงลงมือเกี่ยวข้าว
ที่มา วัฒนธรรมประเพณีไทย ภาคเหนือ สำนักวิจัย ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ pre.brrd.in.th/web

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ ประเพณีไทยภาคอีสาน

ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ ประเพณีไทยภาคอีสาน

การสู่ขวัญนั้นถือเป็นประเพณีไทยภาคอีสานที่ต้องการบำบัดทางจิตใจ โดยที่การสู่ขวัญนั้นทำให้ผู้ที่ได้รับการสู่ขวัญนั้นเกิดความมั่นใจมายิ่งขึ้น จะเห็นได้จากการรักษาโรคของแพทย์นั้นจะต้องใช้วิธีการจิตบำบัดควบคู่ไปกับการรักษาทางวิทยาศาสตร์ การสู่ขวัญนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่น หากผู้ที่เข้าพิธีสู่ขวัญมีอาการไม่สบายอยู่ก่อนแล้วแต่เมื่อได้รับการสู่ขวัญแล้วบุคคลนั้นก็จะเกิดความมั่นใจว่าตนเองต้องหาย เมื่อมีความมั่นใจว่าต้องหายป่วยอาการต่าง ๆ ที่เคยเป็นก็ค่อยทุเลาลงเนื่องมาจากจิตใจเป็นตัวกำหนดนั่นเอง

ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ เป็นประเพณีไทยที่มีในหลายจังหวัดของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดทางภาคอีสาน ประเพณีบายศรีสู่ขวัญใช้เครื่องเชิญขวัญที่เรียกว่า บายศรี ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทง เป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรี และมีไข่ขวัญ (ไข่ต้ม) เสียบอยู่บนยอดบายศรี มีหลายประเภท เช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ (ภาษาเขมร บาย = ข้าว + ศรี = สิริ หมายความว่า ข้าวอันเป็นสิริหรือข้าวขวัญ)  มีการพันสายสิญจน์ไว้โดยรอบเพื่อใช้ผูกข้อมือผู้รับขวัญ ผู้นำทำพิธีเรียกว่า หมอขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญ บางครั้งก็เรียกว่า พิธีบายศรี, พิธีสู่ขวัญ, พิธีทำขวัญ, พิธีรับขวัญ เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของคนไทย และคนลาว ด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งนามธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “ขวัญ” ซึ่งมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าของไปทุกหนแห่ง การทำพิธีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้เข้ามาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติและไม่ประมาท

การจะประกอบประเพณีบายศรีสู่ขวัญพิธีนั้นทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์เริ่มต้นด้วยการ นิมนต์พระสงอย่างน้อย 5 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์และเลี้ยงพระ เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาพุทธแล้วจึงจะทำพิธีสู่ขวัญ การจัดพาขวัญ จะทำเป็นบายศรีหรือใบศรี 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น ขึ้นอยู่กับโอกาส และควมาเหมาะสม บายศรีชั้นล่างจะบรรจุดอกไม้ บายศรีชั้น 5 จะบรรจุฝ้ายผูกแขน เวียนเทียนรอบหัว เวียนเทียนรอบตัว นอกจากจัดพาขวัญแล้วจะต้องนำผ้าแพร หวี กระจก น้ำอบน้ำหอม สร้อยแหวน ของผู้ที่เป็นเจ้าของขวัญใส่พานอีกใบหนึ่งวางไว้ข้าง ๆ พาขวัญ การสวด ผู้เป็นเจ้าของขวัญต้องจับพาขวัญด้วยมือขวา ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เป็นไปตามคำสู่ขวัญ ญาติพี่น้องจะนั่งล้อมวงอยู่ด้านหลังตั้งจิตอธิษฐานให้เจ้าของขวัญมีความสุข ความเจริญ พราหมณ์หรือหมอขวัญจะเริ่มทำพิธีด้วยการจุดธูปและเวียนรอบตัว กราบพระรัตนไตยมือจับสายสิญจน์ขึ้นประนมแล้วกล่าวคำสูตรขวัญเป็นการเชิญขวัญ การเชิญขวัญนี้จะต้องสวดสูตรขวัญด้วยทำนองที่ไพเราะเร้าใจให้ขวัญมาสู่ตน เมื่อสู่ขวัญเสร็จแล้วพราหมณ์จะผูกแขนให้เจ้าของขวัญเป็นคนแรก ต่อจากนั้นญาติพี่น้องจะช่วยกันผูกแขนด้วยฝ้ายผูกแขน ถือว่าเป็นการผู้ขวัญให้อยู่กับตนในขณะที่ผู้กข้อมือก็จะให้พรแก่เจ้าของ ขวัญด้วย
"ขวัญ" ตามความหมายที่ใช้กันหมายถึง ผมที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอยบนศรีษะ นอกจากนี้ยังกินความรวมไปถึง วิญญาณหรือสิ่งที่ไม่มีตัวตนประจำกายคนและสัตว์มาตั้งแต่แรกเกิด ชาวอีสานนิยมเรียกสิ่งที่ตนรักว่า "ขวัญ" เช่น เมียขวัญ เสาขวัญ นาขวัญ ข้าวขวัญ และเรียกผู้ที่รู้พิธีทำขวัญว่า "หมอขวัญ" หรือพราหมณ์ พิธีเรียกขวัญให้มาอยู่กับตนเรียกว่า "สู่ขวัญ" เรียกว่า "สูตรขวัญ" เหตุที่ทำการสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตทั้งในยามประสบโชคและประสบ เคราะห์ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทำพิธีสู่ขวัญ ย้ายที่อยู่ ไปค้าขายได้เงินทองมามากก็สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ ประกอบการงานเสร็จเป็นผลสำเร็จ ได้ลาภ ยศ เกียรติ เสื่อมลาภ ยศ เกียรติก็จะทำพิธีสู่ขวัญ

ที่มา ประเพณีไทย ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ วิถีชีวิต จังหวัดนครพนม

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

ลงแขกเกี่ยวข้าวประเพณีของชาวนาไทย


ลงแขกเกี่ยวข้าวประเพณีของชาวนาไทย

ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวนี้เป็นประเพณีไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจที่มีการช่วยเหลือซึ่่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมและการขับร้องเพลงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผู้ที่ประกอบอาชีพทำนา

ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีที่เจ้าของนาจะบอกเพื่อนบ้านให่รู้ว่าจะเกี่ยวข้าวเมื่อใด และเมื่อถึงวันที่กำหนดเจ้าของนาก็จะต้องปักธงที่ที่นาของตนเพื่อให้เพื่อนบ้านหรือแขกที่รู้จะได้มาช่วยเกี่ยวได้ถูกต้องทั้งนี้เจ้าของนาจะต้องจัดเตรียมอาหาร คาวหวาน สุรา บุหรี่ น้ำดื่ม ไว้รองรับด้วย และในการขณะเกี่ยวข้าวก็จะมีการละเล่นร้องเพลงเกี่ยวข้องระหว่างหนุ่มสาวเป็นที่สนุกสนานและเพลิดเพลินเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อยได้ 

ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีไทยอีกอย่างหนึ่งของชาวนาไทย ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากในสภาพปัจจุบัน ชาวอีสานส่วนใหญ่ จะเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี ดังนั้นในการทำกิจการ งานใดๆ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะทุกคนต่างมีน้ำใจให้กันและกัน ช่วยงานกันคนละมือละไม้ใช้เวลาไม่นานงานก็สำเร็จลุล่วงไปได้สมปรารถนา การทำงานแบบนี้ คนอีสานเรียกว่า “ลงแขก” การลงแขกในภาคอีสานก็คือการบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาช่วยทำงานนั่นเอง งานที่จะลงแขกกันนั้นอาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้ สำหรับงานส่วนตัวนั้นส่วนมากมักจะเป็นงานใหญ่สุดกำลังคนในครอบครัวจะทำได้ หรืออาจจะเป็นงานหนักแต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว จึงต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จสิ้นไปงานที่มักลงแขก เช่น การลงแขกทำนา ซึ่งมีการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกตีข้าว (นวดข้าว) เป็นต้น

นอกจากจะมีประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวแล้ว ยังมีประเพณีลงแขกทำนา ด้วยการทำนาเป็นงานหนักและในรอบปีหนึ่งต้องใช้ แรงงานมากถึง 4 วาระด้วยกันคือช่วงการดำนา การเกี่ยว การตี และเอาข้าวขึ้นเล้า ดังนั้นการทำงาน ทุกๆ ระยะ ชาวนาส่วนมากจะใช้วิธีการลงแขก อาศัยแรงจากญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยกัน เมื่อลงแขกในนาตนเสร็จก็เปลี่ยนไปลงแขกนาของคนอื่นๆ ต่อไปเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็น การแสดงน้ำใจที่มีให้กันและกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันลูกหลานคนหนุ่มสาวไปทำงานต่างถิ่น ปล่อยให้พ่อแม่และคนแก่อยู่บ้าน การลงแขกจึงยังมีความจำเป็นสำหรับชาวนา

ประเพณีไทยบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า


ประเพณีไทยบุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า

ประเพณีบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีไทยหนึ่งในฮีตสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ห่อข้าวน้อย" พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย

 ประเพณีไทยบุญข้าวประดับดิน

ประเพณีบุญข้าวประดับดินนี้ นอกจากจะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและผีไร้ ญาติตามความเชื่อแล้ว ถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้ อย่างเต็มที่ ทุกวันนี้คนเราส่วนมากมักนึกถึงแต่เรื่องของตนเองเป็นสำคัญ การมีงานบุญงานประเพณี อย่าง บุญห่อข้าวประดับดิน จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราได้นึกถึงผู้อื่นบ้าง จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นวันแห่งการชำระล้างความเห็นแก่ตัวออกไปจากจิตใจด้วย

ความเป็นมาประเพณีบุญข้าวประดับดิน
โบราณท่านเขียนไว้ในหนังสือฉลอง ความว่า “ครั้งที่มหาโมคคัลลาน์แทรกแผ่นดินลงไปเยือนนรก ซึ่งเขากำลังเสวยกรรมอยู่ในแดนต่างๆ พอท่านไปถึงก็บันดาลให้ไฟนรกดับ สัตว์นรกก็ไม่ได้เสวยกรรม พอท่านจะกลับมายังโลกมนุษย์พวกสัตว์นรกได้สั่งท่านให้มาบอกญาติพี่น้องทาง โลกได้ทราบ และทำทานอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง เมื่อพระโมคคัลลาน์กลับมาถึงชมพูทวีปก็ประกาศข่าวนี้ให้ประชาชนทราบ ซึ่งวันนั้นตรงกับวันดับเดือนเก้า (วันแรม 15 ค่ำ) จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันทำบุญข้าวประดับดิน

อีกตำนานก็เล่าว่า มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทว่าญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์เมื่อตาย แล้วไปเกิดในนรก ครั้นพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิได้อุทิศให้ญาติที่ตาย กลางคืนพวกญาติที่ตายมาแสดงตัวเปล่งเสียงน่ากลัวให้ปรากฏใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเช้าได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทูลเหตุุให้ทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายทานอีกแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ตายไปจึงได้รับ ส่วน กุศลการทำบุญข้าวประดับดิน ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ตายแล้ว ถือเป็นประเพณี ที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี

ประเพณีบุญข้าวประดับดินหรือบุญเดือนเก้า ที่จำเพาะต้องเป็นเดือนนี้ เนื่องจาก เป็นช่วงกึ่งกลางฤดูฝนพอดี เป็นช่วงเวลา ที่ข้าวปลาอาหาร อุดมสมบูรณ์ที่สุด น้ำในแม่น้ำลำคลอง ก็เต็มตลิ่ง เกาะแก่งกลางน้ำหายไป เพราะน้ำท่วมมิด ช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์เช่นนี้ ทำให้ลูกหลาน ระลึกถึงพระคุณ ของบรรพบุรุษ และคิดตอบแทนบ้าง ซึ่งในบุญเดือนเก้านี้ถือกันว่า ผีเครือญาติ ที่ยังไม่หมดกรรม จะได้รับการปลดปล่อย ให้กลับมาเยี่ยมโลกมนุษย์อีกครั้ง พร้อมทั้งรับส่วนบุญที่ลูกหลานอุทิศให้

ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม


ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม จังหวัดขอนแก่น

ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม จังหวัดขอนแก่น เป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปลายเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม เวลา ๑๐ วัน ๑๐ คืน ณ บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด

ประเพณีผูกเสี่ยว คำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้, เพื่อนแท้, เพื่อนตาย มีความผูกพันซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกันประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นนี้เป็นประเพณีไทยดั้งเดิม ที่มุ่งให้คนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมานสามัคคีกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนั้นในงานนี้จึงมีขบวนแห่คู่เสี่ยวและพานบายศรีของอำเภอต่างๆ ในตอนเย็น ของวันเปิดงานจะมีการจัดเลี้ยงพาแลง ณ บริเวณคุ้มวัฒนธรรม ซึ่งจัดสร้างขึ้นในงาน เพื่อใช้เป็นเวทีการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ

 ประเพณีผูกเสี่ยว
ภาพประกอบจาก facebook.com/Y.Shinawatra
เทศกาลงานไหมนี้เป็นงานที่จังหวัดได้จัดขึ้นโดยมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมมัดหมี่ และเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นประเพณีไทยดั้งเดิมไว้ ในงานจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน มาร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ของที่ระลึก มีการประกวดธิดาไหม มีการประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ประกวดขบวนแห่ และประกวด การออกร้าน 

 ประเพณีผูกเสี่ยว
ภาพประกอบจาก facebook.com/Y.Shinawatra
อุปกรณ์ที่สำคัญในประเพณีผูกเสี่ยวมีพานบายศรีอาจเป็นบายศรี ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือ ๗ ชั้น และมีเครื่องประกอบอีกหลายอย่าง คือ สุรา ๑ ขวด ไข่ไก่ต้ม ๑ ฟอง ข้าวต้มมัด ๔ ห่อ กล้วยสุก ๔ ผล ข้าวเหนียวนึ่ง ๑ ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน เชิญแขกมงคลมาร่วมพิธี คู่เสี่ยวนั่งล้อมพานบายศรี หมอพราหมณ์เริ่มพิธีด้วยการจุดเทียนที่พานบายศรี อัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน กล่าวถึงงานบายศรีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส มีบุตรใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ การเลื่อนยศ การผูกเสี่ยว การบวชนาค ฯลฯ แล้วกล่าวคำอัญเชิญขวัญตามโอกาส เมื่อถึงบทเชิญขวัญผู้ร่วมพิธีจะตะโกนเรียกขวัญของผู้ร่วมพิธีให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว จบแล้วหมอพราหมณ์และแขกจะนำด้วยมงคลผูกข้อมือของคู่ขวัญ พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ให้รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อจากนั้นคู่ขวัญก็จะผูกข้อมือซึ่งกันและกัน

เทศกาลงานไหมเป็นงานที่จังหวัดขอนแก่นได้จัดขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง (ผ้าไหม) และของที่ระลึกอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประเพณีผูกเสี่ยว ก็เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นพร้อมกันกับงานเทศกาลไหม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนในท้องถิ่นและคนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันคำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย มีความผูกพัน ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน

ประเพณีว่าวอีสาน


ประเพณีว่าวอีสาน 'นอนดูดาว ดูว่าวกลางคืน' จังหวัดบุรีรัมย์

ประเพณีเล่นว่าว เป็นประเพณีการละเล่นที่มีมาแต่โบราณดึกดำบรรพ์ โดยอาศัยกระแสลมส่งโครงรูปเบาที่มี ขนาดและรูปร่างแตกต่างกันปิดด้วยกระดาษหรือผ้าให้ลอยขึ้นไปอยู่ในอวกาศ ผู้เล่นจะคอยสาว สายป่าน ดึงเข้ามาแล้วผ่อนออกไป เพื่อโต้ลมที่พัดเข้ามาปะทะมิให้สายป่านขึงตึงจนเกินไป

 ประเพณีว่าวอีสาน

การเล่นว่าวทางภาคอีสานนั้น จะเป็นช่วงฤดูสั้นๆ ประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น ในช่วงเดือน พฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม เพราะช่วงนี้มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า "ลมบน"”และต้องเล่นว่าวในยามค่ำคืน ช่วงเวลา ตั้งแต่ 5 โมงเย็นเรื่อยไปจนถึง สว่างประมาณ ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า ลมว่าวก็จะหมดลง ว่าวก็ตกลงมา

ประเพณีการเล่นว่าวเป็น ประเพณีไทยภาคอีสาน โดยมากจะมีการเล่นที่แฝงไว้กับจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะเรื่อง การบวงสรวงหรือการเสี่ยงทาย จะเห็นว่าการเล่นว่าวของชาวอีสานมีความเชื่อมโยงกับเรื่อง ของความเชื่อกับการพยากรณ์ การเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร

ตามความเชื่อของชาวบุรีรัมย์ และคนอีสาน ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวจะปล่อยว่าวขึ้นบนท้องฟ้า เป็นการเสี่ยงทายตามขนบธรรมเนียมประเพณี ปีใดว่าวแอกขึ้นสูงมีเสียงดังจะชี้ได้ว่าปีนั้น ข้าวปลา พืชพันธ์ธัญญาหารของเกษตรกรจะมีความอุดมสมบูรณ์ หลังฤดูเก็บเกี่ยวเกษตรกรก็จะตัดสายว่าวของตน ปล่อยให้ล่องลอยไปตามสายลม ถือได้ว่าเป็นการตัดเวรตัดกรรมของเกษตรกรเองด้วย ปีนี้อำเภอห้วยราช จ.บุรีรัมย์ จัดอย่างยิ่งใหญ่เพราะงานว่าวปีนี้ทางอำเภอจัดงานกาชาดร่วมกับงานว่าวเป็นปีแรก ซึ่งได้นำผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านและอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมออกงานงานกาชาดจะเริ่มตั้งแต่วันที่  7 ธันวาคม

 ประเพณีว่าวอีสาน

ภายในงานจะจำหน่ายมัจฉากาชาดและการแสดงของมดน้อยกันตรึมร็อกและกันตรึมส่องแสงรุ่งเรืองชัย นอกจากนั้นยังมีการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ประกวดธิดากาชาด หนูน้อยกาชาด ร้านนิทรรศการ ร้านโอทอปของชาวบ้านจาก 8 ตำบลของอำเภอห้วยราชและจากอำเภอต่าง ๆ อาทิ ผ้าไหม เครื่องจักสาน ฯลฯ

งานประเพณีมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันว่าวแอกโบราณ ว่าวแอกพัฒนา ว่าวแอกยักษ์ ว่าวประดิษฐ์เยาวชน ว่าวสวยงาม ว่าวแอกเยาวชน รวมทั้งการแข่งขันแกว่งแอก และชมการละเล่นศิลปะพื้นบ้านสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชนสี่เผ่า ลาว เขมร ส่วยและโคราช ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์มาช้านาน นอกจากนั้น ยังจัดให้มีขบวนแห่และประกวดธิดาว่าว จากทุกอำเภอ กิ่งอำเภอ รวมถึงการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์จากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ ส่วนในภาคกลางคืนเชิญชมมหรสพสมโภช การแสดงดนตรี การละเล่นพื้นบ้านอีกมากมาย

ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม


ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม จังหวัดขอนแก่น

ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม จังหวัดขอนแก่น เป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปลายเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม เวลา ๑๐ วัน ๑๐ คืน ณ บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด

ประเพณีผูกเสี่ยว คำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้, เพื่อนแท้, เพื่อนตาย มีความผูกพันซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกันประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นนี้เป็นประเพณีไทยดั้งเดิม ที่มุ่งให้คนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมานสามัคคีกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนั้นในงานนี้จึงมีขบวนแห่คู่เสี่ยวและพานบายศรีของอำเภอต่างๆ ในตอนเย็น ของวันเปิดงานจะมีการจัดเลี้ยงพาแลง ณ บริเวณคุ้มวัฒนธรรม ซึ่งจัดสร้างขึ้นในงาน เพื่อใช้เป็นเวทีการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ

 ประเพณีผูกเสี่ยว
ภาพประกอบจาก facebook.com/Y.Shinawatra
เทศกาลงานไหมนี้เป็นงานที่จังหวัดได้จัดขึ้นโดยมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมมัดหมี่ และเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นประเพณีไทยดั้งเดิมไว้ ในงานจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน มาร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ของที่ระลึก มีการประกวดธิดาไหม มีการประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ประกวดขบวนแห่ และประกวด การออกร้าน 

 ประเพณีผูกเสี่ยว
ภาพประกอบจาก facebook.com/Y.Shinawatra
อุปกรณ์ที่สำคัญในประเพณีผูกเสี่ยวมีพานบายศรีอาจเป็นบายศรี ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือ ๗ ชั้น และมีเครื่องประกอบอีกหลายอย่าง คือ สุรา ๑ ขวด ไข่ไก่ต้ม ๑ ฟอง ข้าวต้มมัด ๔ ห่อ กล้วยสุก ๔ ผล ข้าวเหนียวนึ่ง ๑ ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน เชิญแขกมงคลมาร่วมพิธี คู่เสี่ยวนั่งล้อมพานบายศรี หมอพราหมณ์เริ่มพิธีด้วยการจุดเทียนที่พานบายศรี อัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน กล่าวถึงงานบายศรีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส มีบุตรใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ การเลื่อนยศ การผูกเสี่ยว การบวชนาค ฯลฯ แล้วกล่าวคำอัญเชิญขวัญตามโอกาส เมื่อถึงบทเชิญขวัญผู้ร่วมพิธีจะตะโกนเรียกขวัญของผู้ร่วมพิธีให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว จบแล้วหมอพราหมณ์และแขกจะนำด้วยมงคลผูกข้อมือของคู่ขวัญ พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ให้รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อจากนั้นคู่ขวัญก็จะผูกข้อมือซึ่งกันและกัน

เทศกาลงานไหมเป็นงานที่จังหวัดขอนแก่นได้จัดขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง (ผ้าไหม) และของที่ระลึกอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประเพณีผูกเสี่ยว ก็เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นพร้อมกันกับงานเทศกาลไหม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนในท้องถิ่นและคนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันคำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย มีความผูกพัน ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น