วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม


ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม จังหวัดขอนแก่น

ประเพณีผูกเสี่ยวและเทศกาลงานไหม จังหวัดขอนแก่น เป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปลายเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม เวลา ๑๐ วัน ๑๐ คืน ณ บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด

ประเพณีผูกเสี่ยว คำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้, เพื่อนแท้, เพื่อนตาย มีความผูกพันซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกันประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นนี้เป็นประเพณีไทยดั้งเดิม ที่มุ่งให้คนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมานสามัคคีกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนั้นในงานนี้จึงมีขบวนแห่คู่เสี่ยวและพานบายศรีของอำเภอต่างๆ ในตอนเย็น ของวันเปิดงานจะมีการจัดเลี้ยงพาแลง ณ บริเวณคุ้มวัฒนธรรม ซึ่งจัดสร้างขึ้นในงาน เพื่อใช้เป็นเวทีการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ

 ประเพณีผูกเสี่ยว
ภาพประกอบจาก facebook.com/Y.Shinawatra
เทศกาลงานไหมนี้เป็นงานที่จังหวัดได้จัดขึ้นโดยมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมมัดหมี่ และเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นประเพณีไทยดั้งเดิมไว้ ในงานจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน มาร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ของที่ระลึก มีการประกวดธิดาไหม มีการประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ประกวดขบวนแห่ และประกวด การออกร้าน 

 ประเพณีผูกเสี่ยว
ภาพประกอบจาก facebook.com/Y.Shinawatra
อุปกรณ์ที่สำคัญในประเพณีผูกเสี่ยวมีพานบายศรีอาจเป็นบายศรี ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือ ๗ ชั้น และมีเครื่องประกอบอีกหลายอย่าง คือ สุรา ๑ ขวด ไข่ไก่ต้ม ๑ ฟอง ข้าวต้มมัด ๔ ห่อ กล้วยสุก ๔ ผล ข้าวเหนียวนึ่ง ๑ ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน เชิญแขกมงคลมาร่วมพิธี คู่เสี่ยวนั่งล้อมพานบายศรี หมอพราหมณ์เริ่มพิธีด้วยการจุดเทียนที่พานบายศรี อัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน กล่าวถึงงานบายศรีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส มีบุตรใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ การเลื่อนยศ การผูกเสี่ยว การบวชนาค ฯลฯ แล้วกล่าวคำอัญเชิญขวัญตามโอกาส เมื่อถึงบทเชิญขวัญผู้ร่วมพิธีจะตะโกนเรียกขวัญของผู้ร่วมพิธีให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว จบแล้วหมอพราหมณ์และแขกจะนำด้วยมงคลผูกข้อมือของคู่ขวัญ พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ให้รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อจากนั้นคู่ขวัญก็จะผูกข้อมือซึ่งกันและกัน

เทศกาลงานไหมเป็นงานที่จังหวัดขอนแก่นได้จัดขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง (ผ้าไหม) และของที่ระลึกอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประเพณีผูกเสี่ยว ก็เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นพร้อมกันกับงานเทศกาลไหม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนในท้องถิ่นและคนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันคำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย มีความผูกพัน ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น