วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีเดินเต่า


ประเพณีไทยท้องถิ่น ประเพณีเดินเต่า จังหวัดภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ต เป็นเกาะซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ประกอบด้วยเกาะบริวาร 33 เกาะ เช่น เกาะสิเหร่ เกาะแก้ว เกาะมะพร้าว เกาะนาคาใหญ่ เกาะนาคาน้อย เกาะโหลน เกาะเฮ เป็นต้น และถือว่าจังหวัดภูเก็ตนี้มีเต่าขึ้นมาวางไข่ในปีหนึ่งๆ มากพอสมควร เต่าที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำไทยมีประมาณ 5 ชนิด คือ เต่ากระ เต่าตนุ หรือเต่าจาระเม็ด เต่าตาแดง เต่าหญ้า และเต่ามะเฟือง จากการที่มีคนนิยมรับประทานไข่เต่ากันมาก จึงมีผู้ที่ไปขุดหาไข่เต่าเพื่อนำมาจำหน่าย ธรรมดาเต่าจะวางไข่ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเต่าจะขึ้นมาวางไข่ในที่ที่เคยมาวางเป็นประจำทุกปี ในช่วงนี้จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเฝ้าดูการวางไข่ของเต่าเป็นจำนวนมาก จึงเกิดเป็นประเพณีเดินเต่าขึ้นเต่าแต่ละตัววางไข่ในจำนวนที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเต่าและความสมบูรณ์แต่ส่วนมากอยู่ในระหว่าง 70 – 120 ฟอง หรืออาจจะมากกว่านั้น ในปีหนึ่งๆ เต่าจะวางไข่ 3 ครั้ง คือขึ้นมาวางไข่ครั้งแรก หลังจากนั้นประมาณ 15 วัน จะกลับมาวางไข่ในที่เดิมเป็นครั้งที่ 2 และหลังจากครั้งที่ 2 ประมาณ 15 วัน เต่าก็จะขึ้นมาวางไข่เป็นครั้งที่ 3 เต่าจะเริ่มวางไข่ได้เมื่อมีอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป
 ประเพณีไทย ประเพณีเดินเต่า
ภาพประกอบ kanchanapisek.culture.go.th

ประเพณีไทยที่สำคัญของชาวจังหวัดภูเก็ตอีกอย่างคือประเพณีเดินเต่า 

การเดินเต่า เป็นประเพณีไทยดั้งเดิมของชาวภูเก็ต สมชาย  สกุลทับ (๒๕๓๑ : ๑๕๙-๑๖๑) ได้อธิบายไว้ว่า เดินเต่า คือ การเดินหาไข่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย ในบริเวณที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่ คือ บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก หรือฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของเกาะภูเก็ตโดยตลอด ทางฝั่งทะเลตะวันตกของอำเภอท้ายเหมืองและอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ประเพณีเดินเต่ามีมานานแล้ว  โดยสมัยดั้งเดิมนั้นชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับชายหาดต่างๆ นิยม คดห่อ(ห่อข้าว) ไปกินกันที่ชายทะเลในตอนบ่ายๆ และจะอยู่กันจนสว่าง จุดไฟผิงกันแล้วถือโอกาสหาไข่เต่าซึ่งเป็นสิ่งที่หายากและเป็นอาหารที่โอชะ การเดินเต่านั้นเดินกันได้เฉพาะฤดูวางไข่เท่านั้น คือ ประมาณเดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ราวปลายเดือนตุลาคม หรือต้นพฤศจิกายนไปจนถึงเดือน ๔ หรือ ต้นเดือนกุมภาพันธ์  การเดินเต่าแต่เดิมนั้นสามารถเก็บไข่เต่ากันได้ทุกคน  แต่สมัยหลังๆ รับบาลเก็บภาษีโดยให้มีการสัมปทานเป็นหาดๆ ไป  การเดินเต่าเพื่อเก็บไข่เต่าจึงเป็นสิทธิของผู้รับสัมปทานตามกฏหมาย และคนอื่นๆ ไม่มีสิทธิที่จะเก็บได้แต่เพียงเดินเต่าเพื่อความสนุกสนาน และดูเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เท่านั้น
ในช่วงเวลาการเดินเต่า จะมีผู้คนคึกคักตามชายหาดเพื่อรอดูเต่าวางไข่  เต่าจะมีลักษณะพิเศษประจำตัว คือ ตัวใดที่เคยมาวางไข่บริเวณใดและในเวลาใด ก็จะมาประจำบริเวณนั้นทุกปี

ปัจจุบันเนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวเกิดขึ้นทุกชายหาดของภูเก็ต  ประกอบกับจำนวนเต่าทะเลลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และไม่ค่อยมีเต่าขึ้นมาวางไข่ตามชายหาด  จึงทำให้ประเพณีไทยการเดินเต่าเปลี่ยนเป็นการตั้งแค้มป์พักแรมตามชายหาด เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งไม่ใช่การเดินเต่าตามความหมายที่แท้จริงดังในอดีต

จากที่กล่าวมาข้างต้นว่าคนนิยมรับประทานไข่เต่ามากขึ้น ทำให้ปริมาณเต่าลดลง นอกจากนั้นยังมีคนฆ่าเต่าเพื่อนำเนื้อไปประกอบอาหารรับประทาน เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้เต่าสูญพันธุ์ไปในที่สุด ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ จึงห้ามมิให้มีการทำประมงเต่าทะเลและเต่ากระทะเลทุกชนิด แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาพันธุ์ไว้ได้ ดังนั้นศูนย์ชีววิทยาทางทะเลภูเก็ตจึงตั้งโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้น โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจาก สำนักงานประมงจังหวัดและผู้ประมูลหาดเก็บไข่เต่าทั้งในจังหวัดภูเก็ต พังงา และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มจำนวนเต่าทะเลให้มากขึ้น โดยการรับเลี้ยงและอนุบาลลูกเต่า จนถึงวันที่จะปล่อยลงทะเล นอกจากนั้นยังเป็นการทดลองเลี้ยงเต่าและหาอัตราการเจริญเติบโตของเต่าทะเลชนิดต่างๆ เพื่อส่งเสริมอาชีพประมงในการทำฟาร์มเลี้ยงเต่าต่อไป รวมทั้งเป็นการศึกษาการแพร่กระจายและแหล่งหากินของเต่าทะเลชนิดต่างๆ โดยติดเครื่องหมายที่เต่าแล้วปล่อยลงทะเล ซึ่งเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ต่อไปด้วยเหตุนี้ จึงจัดให้มีประเพณีปล่อยเต่าลงทะเลขึ้น และปฏิบัติประเพณีสืบต่อมาเป็นประจำทุกปี
เดิมนั้นจัดให้มีขึ้นในวันใดวันหนึ่ง แล้วแต่ความเหมาะสม โดยกระทำกันที่สถานที่ที่เต่าชอบขึ้นมาวางไข่ ต่อมาทางจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันขยายพันธุ์ปลาแห่งชาติ และกำหนดให้เป็นวันปล่อยเต่าด้วย สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ thai.tourismthailand.org

การปล่อยเต่านั้นเดิมจัดขึ้นที่หาดป่าตอง ต่อมาเปลี่ยนมาจัดที่หาดไนยาง ซึ่งเต่าได้ขึ้นมาวางไข่เป็นประจำทุกปี พิธีเริ่มด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้เป็นประธานในพิธีจะทำการปล่อยเต่าเป็นคนแรก จากนั้นชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนำเต่าเล็กๆ โดยขอจากสถานีประมง หรือบริจาคเงินสมทบทุนโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลตามแต่ศรัทธา นำไปปล่อยลงทะเล เต่าที่ปล่อยมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

นอกจากประเพณีปล่อยเต่าแล้วยังมีประเพณีไทยการละเล่นอื่นๆของชาวบ้าน เช่น มวยทะเล รำกลองยาว ชักเย่อ และการละเล่นอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้กรมประมงได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเต่าทะเล และสัตว์ทะเลอื่นๆ ให้ชมกันในงานด้วย

ที่มาประเพณีไทย วิถีชีวิต จังหวัดภูเก็ต ประเพณีเดินเต่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น