วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ระดับของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย


ระดับของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย

ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย แบ่งได้เป็น ๒ ระดับ คือ ประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ 
  • ประเพณีหลวง คือ ประเพณีที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้กระทำ 
  • ประเพณีราษฎร์ คือ ประเพณีที่ราษฎร ชาวบ้านร้านตลาดจัดทำ
ศูนย์กลางของประเพณีหลวงคือ พระมหากษัตริย์ ส่วนประเพณีราษฎร์นั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านหรือวัด 

ทั้งประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ ต่างก็มีความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน การนับถือศาสนา การละเล่น วรรณกรรม และศิลปกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น ประเพณีการเล่นเพลงฉ่อย โนรา และหมอลำ ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ฮีตสิบสอง พระราชพิธีสิบสองเดือน ตลอดจนการสร้างวัดวาอาราม และการเขียนภาพในโบสถ์วิหาร


ความสัมพันธ์ของประเพณีทั้งสองระดับนั้น มีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดมา คือ ได้มีการหยิบยืม และเลียนแบบซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ประเพณีหลวงได้แบบอย่างของประเพณีราษฎร์มาขัดเกลาให้ละเอียดประณีตวิจิตร และมีความขลังศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น เพราะประเพณีหลวงรับแบบแผนมาจาก อินเดีย จีน เปอร์เซีย รวมทั้งมอญ เขมร และชวา เข้ามาผสมผสานด้วย ทำให้มีความสมบรูณ์มากขึ้น แล้วค่อยขยายอิทธิพลไปสู่ประเพณีราษฎร์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์นี้


แต่เดิมมีประเพณีไทยพื้นบ้านเป็นพื้นฐานโดยทั่วไปอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อตั้งขึ้นเป็นเมือง ก็จะรับอิทธิพลทั้งประเพณีพื้นบ้าน และประเพณีหลวง จนกลายเป็นประเพณีพื้นเมือง ที่มีลักษณะพิเศษขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่พร้อมจะส่งอิทธิพลไปสู่ประเพณีพื้นบ้านต่อไป ดังนั้น การที่จะทำความเข้าใจประเพณีหลวง โดยละเลยการทำความเข้าใจประเพณีราษฎร์ หรือในทางกลับกัน จะศึกษาประเพณีราษฎร์ โดยไม่มีพื้นฐานความเข้าใจพัฒนาการของประเพณีหลวง ย่อมอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะจะไม่สามารถทำความเข้าใจภาพรวม ของพัฒนาการ ของวัฒนธรรมไทยได้เลย เนื่องจากโดยสภาพแวดล้อม ทั้งทางภูมิศาสตร์ สังคม และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แล้ววัฒนธรรมไทยมีลักษณะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ มีความพร้อมอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มีความแปลกและใหม่กว่า ประเพณีหลวงจึงมักมีอิทธิพลเหนือประเพณีราษฎร์อย่างมาก การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไทยมักจะเริ่มที่ประเพณีหลวงก่อนเสมอ หรืออีกนัยหนึ่งเริ่มจากชนชั้นผู้นำก่อน แล้วจึงส่งผลมายังระดับประเพณีราษฎร์ของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เป็นเงาตามตัว จนทำให้ประเพณีราษฎร์ในบางท้องถิ่น สลายตัวไปในปัจจุบัน

ดังนั้น การศึกษาพัฒนาการของวัฒนธรรมไทย จึงควรศีกษา ทั้งประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ เพื่อจะได้มองเห็นภาพรวมของวัฒนธรรมไทยได้ชัดเจนขึ้น เพราะวัฒนธรรมไทยมีลักษณะค่อนข้างจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มีความแปลกและใหม่กว่า เมื่อใดที่ประเพณีหลวงมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นประเพณีราษฎร์ก็มักจะได้รับอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยเสมอ ยิ่งในสมัยปัจจุบันการคมนาคมเจริญมากขึ้น สื่อมวลชน และการนิยมวัฒนธรรมสมัยใหม่ แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
ที่มา สารานุกรม สำหรับเยาวชน เล่มที่ 18

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น