วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีไทย การทำขวัญผึ้ง


ประเพณีไทย การทำขวัญผึ้ง ของชาวคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย

ประเพณีการทำขวัญผึ้งเป็นประเพณีไทยที่สืบเนื่องมาจากการส่งส่วยน้ำผึ้งแทนแรงงานราษฎรของชาวตำบลศรีคีรีมาศ การส่งส่วยเป็นการปฏิบัติตามพระราชกำหนดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งกำหนดไว้ว่าชายฉกรรจ์ไทยที่มีร่างกายสมประกอบมิได้เป็นบรรพชิต นักบวช มิใช่ไพร่สมสังกัดเจ้าขุนมูลนายใด ๆ ท่านให้สักข้อมือขึ้นบัญชีเป็นไพร่หลวง สังกัดนครหลวงหรือหัวเมืองต่าง ๆ เป็นกำลังของบ้านเมืองและประเทศชาติ และจะต้องไปเข้าเวรรับราชการให้หลวงท่านใช้แรงงานตลอดช่วงอายุ 18-60 ปี จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีการลดหย่อนให้ไพร่หลวงที่เกินความต้องการใช้แรงงาน ไม่ต้องเข้ารับราชการ โดยเสียค่าส่วยแทนแรงงานได้ หัวเมืองที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวงไม่ต้องการตัวไพร่เข้าประจำการจึงได้กำหนดให้มีการส่งส่วยสิ่งของแทนแรงงาน เพราะหัวเมืองเหล่านี้มีป่าดงและภูเขา ซึ่งมีสิ่งที่บ้านเมืองหรือพระมหากษัตริย์ต้องการ


ประเพณีไทยการทำขวัญผึ้ง ของชาวตำบลศรีคีรีมาศที่อาศัยอยู่เชิงเขาหลวง ซึ่งอุดมไปด้วยป่าไม้และรังผึ้งมากมาย ต้องส่งส่วยน้ำผึ้งติดต่อกันมาเป็นเวลานาน การหารังผึ้ง การตีผึ้ง การทำขี้ผึ้ง จึงเป็นสิ่งที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวตำบลศรีคีรีมาศ ตลอดมา ด้วยเหตุที่ต้องการให้มีผึ้งมาทำรังตามต้นไม้มาก ๆ จะไม้มีน้ำผึ้งเพียงพอแก่การส่งส่วยตามจำนวนที่เมืองหลวงกำหนด จึงได้เกิดประเพณีการทำขวัญผึ้งขึ้น ซึ่งเป็นการอัญเชิญผึ้งให้มาทำรังตามต้นไม้ที่ผึ้งเคยเกาะอยู่ ประเพณีการทำขวัญผึ้งจึงได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เพิ่งจะมาสูญหายไปเมื่อประมาณ 40 ปี เศษมานี้เอง ต่อมาจึงได้มีการดำเนินการฟื้นฟูประเพณีทำขวัญผึ้งขึ้นในตำบลศรีคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับวันครูที่ 16 มกราคม 2526 เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีไทยในการทำขวัญผึ้งสืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น