วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กั่นตอ ประเพณีไทยใหญ่


กั่นตอ ประเพณีไทยใหญ่ เมืองปาย ประเพณีขอขมาผู้เฒ่า

ประเพณีสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยของทุกปี นอกจากการเข้าวัดเพื่อทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงปีใหม่แล้ว อีกสิ่งที่คนไทยมักจะปฏิบัติสืบต่อกันมาก็คือ ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่า เพื่อขอขมาในสิ่งที่อาจเคยล่วงเกินไป พร้อมกับขอให้ผู้ใหญ่อวยชัยให้พร

ประวัติความเป็นมา สมัยพระพุทธกาลนั้นมีสามีภรรยาคู่หนึ่งไปกราบทูลสมเด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ในวันออกพรรษานี้อยากจะพบพระอรหันต์ โดยที่ครอบครัวนี้ไม่รู้ว่าพระที่กำลังสนทนาอยู่นั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นบอกให้สองสามีภรรยากลับไปที่บ้านก่อน ก็จะพบพระอรหันต์ซึ่งเป็นคนแก่ๆ สองคนนั่งอยู่ใกล้กัน นั่งหย่อนขาลงและใส่รองเท้ากลับข้างกันแกว่งขาไปมาอยู่ที่บ้านนั่นแหละ

 ประเพณีไทยใหญ่
ภาพประกอบจาก khonkhurtai.org

พอครอบครัวนี้พากันกลับมาหาพระอรหันต์ที่บ้านก็พบว่าคุณพ่อคุณแม่ซึ่งแก่เฒ่ามากแล้ว ความจำก็เสื่อม ใส่รองเท้าผิดข้างนั่งคุยกันอยู่สองคน ครอบครัวนั้นจึงนึกขึ้นได้ว่า ที่แท้คุณพ่อคุณแม่ที่บ้านเรานี่แหละเป็นพระอรหันต์ที่แท้จริง เราจักต้องกราบไหว้ก่อนใคร ดังนั้นจึงเอาข้าวตอกดอกไม้ ธูป เทียนใส่พานยกขึ้นทูนเหนือศีรษะ กล่าวข้ามากั่นตอคุณพ่อคุณแม่ แล้วยื่นพานข้าวตอกดอกไม้ให้บุพการีทั้งสองรับพานนั้นไป คุณพ่อคุณแม่ก็ให้พรสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ คนไตจึงยึดถือปฏิบัติมานับแต่นั้น

ประเพณีไทยแบบเดียวกันนี้ของคนไทยใหญ่ หรือคนไตแห่งเมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน ก็มีเป็นประจำทุกปีเช่นกัน หากแต่แตกต่างกันในเรื่องของวันเวลาและชื่อที่เรียกขาน

“จอมฮอย ทุงจ่ามไต กั่นตอคนเฒ่า เหลินห้า” เป็นชื่อตามภาษาไทยใหญ่แบบเต็ม ๆ ของประเพณีขอขมาผู้สูงอายุในเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทยใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี หลังเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้น โดยเริ่มประเพณีที่เรียกสั้นๆ ว่ากั่นตอด้วยวันแต่งดา ซึ่งเป็นวันที่จะออกประกาศไปทั่วอำเภอเมืองปายให้ผู้คนได้รับรู้ถึงประเพณีขอขมาผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 วันข้างหน้า

ก่อนจะตามมาด้วยวันจัดเตรียมความพร้อม โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การจัดทำห่อข้าวไทยใหญ่ย้อนยุค ที่มีกับข้าวหลากหลายบรรจุอยู่ภายในใบตองตึงที่ใช้เป็นวัสดุในการห่อ ทั้งจิ้นลุง ตำมะหนุน ถั่วฟูคั่ว ไข่คั่ว จิ้นทอด รวมถึงน้ำพริกตาแดง โดยแบ่งหน้าที่กันทำใน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเมืองแพร่ ต.เวียงใต้, บ้านแม่ฮี้ ต.แม่ฮี้ และบ้านแม่นาเติงนอก ต.แม่นาเติง

คำว่า “กั่นตอ” เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่า ขอขมา นิยมทำสองครั้งในแต่ละปีคือ หลังสงกรานต์และออกพรรษา การกั่นตอที่ว่านี้จะกั่นตอต่อพ่อแม่ก่อน แล้วไปกั่นตอพระสงฆ์ และก็กั่นตอต่างหมู่บ้าน

ประเพณีกั่นตอ ของชาวไตแห่งเมืองปาย หลังจากจัดเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วในวันที่สามของงาน ช่วงเย็นชาวไทยใหญ่ในชุดแต่งกายตามแบบไทยใหญ่จะเริ่มตั้งขบวน ณ วัดหลวง แม่อุ้ยจะเริ่มออกเดินพร้อมเครื่องขอขมาที่ประกอบด้วยหัวอุ๊บทำจากใบตอง ผ้าห่ม ข้าวห่อไทยใหญ่ และกระเทียม แม่อุ้ยไทยใหญ่บอกว่าเป็นของที่จะเอาไปใช้ไปกินได้ด้วย นำโดยขบวนขันพลู-ขันหมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีประกอบทุกครั้งที่มีงานบุญแบบไทยใหญ่ ก่อนจะตามมาด้วยขบวนขันโตก แล้วเดินวนอ้อมไปทางถนนคนเดินก่อนจะตัดเข้าสู่ที่ว่าการอำเภอ

ก่อนจะมีการแสดงพื้นเมือง มีพระมาเทศนา และตบท้ายด้วยพิธีกั่นตอ โดยเอาตะกร้าที่ใส่เครื่องสมาไว้มาขอขมาผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาจากหมู่บ้านต่าง ๆ นับร้อยคน พร้อมรับคำให้พรจากผู้เฒ่าผู้แก่ตอบกลับมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น