วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีและข้อห้าม


ประเพณีและข้อห้าม

การแต่งกาย
เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง แยกออกเป็นการแต่งกายของผู้ชาย,การแต่งกายของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และการแต่งกายของผู้หญิงโสด การปักและลวดลายประดิษฐ์มีทั้งลวดลายในการถักทอมีความหมายของลวดลายที่ถักทอลงไป ส่วนเครื่องประดับนั้นมี ต่างหู,เคาะกลอ,โข่กลอ,กิ๊ป,ลูกปัด,กำไลข้อมือ เป็นต้น ชาวกะเหรี่ยงในแต่กลุ่มจะมีเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะตัวในด้านสีสัน แต่รูปแบบลักษณะการแต่งกายจะเหมือนกันคือผู้ชายจะนิยมใส่ชุดเสื้อคอสีแดง ใส่กางเกงทรงกระบอก ส่วนผู้หญิงที่เป็นโสดจะใส่ชุดเสื้อทรงกระบอกผ้านี้ทอเองด้วยมือ มีทั้งสีขาวและสีแดง ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่ชุดเป็น 2 ส่วนคือผ้าซิ้นสีแดงและใส่เสื้อคอสีดำ บนเสื้อจะมีการประดับด้วยลูกเดือยหรือปักด้วยด้ายหลากสีในลวดลายชนิดต่างๆ ซึ่งแต่ละชนิดจะเลียนแบบจากธรรมชาติ ซึ่งมีการเรียกชื่อเฉพาะโดยจะให้ความรู้สึกและอารมณ์ที่แตกต่างกันไป
เนื่องด้วยในปัจจุบันผู้ชายกะเหรี่ยงสะกอ นิยมแต่งกายเหมือนคนไทยในท้องถิ่นทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีเสื้อสีแดงสำหรับไว้ใส่ในโอกาสสำคัญ เสื้อแดงตัวนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย นั่นคือความอดทนแข็งแรง ส่วนเด็กผู้ชายกะเหรี่ยงจะใส่เสื้อแดงตัวเดียวยาวถึงหัวเข่า
เสื้อสีแดงของชายกะเหรี่ยงเป็นเสื้อทรงกระสอบคอเสื้อรูปตัววี ตรงชายคาเสื้อจะติดพู่ห้อยลงมา สมัยก่อนเสื้อแดงของชายโสดจะมีพู่ห้อยยาวลงมาเลยชายเสื้อ ส่วนเสื้อแดงของชายที่แต่งานแล้วจะติดพู่ห้อยลงมาเสมอชายเสื้อ เพราะชายที่แต่งงานแล้วต้องทำงานมากขึ้น การที่ใส่เสื้อที่มีพู่ยาวจะทำให้รุงรัง ไม่สะดวกในการทำงาน ผู้ชายกะเหรี่ยงจะสวมกางเกงแบบคนไทยภาคเหนือหรือบางที่สวมใส่แบบโสร่งพม่า แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะสวมกางเกงขายาวตามสมัยนิยมและอาจจะสวมเสื้อแดงทับเสื้อสีขาวข้างในอีกทีหนึ่ง(ชุดสูท)
นอกจากนี้แล้ว เสื้อแดงของผู้ชายกะเหรี่ยงจะใช้ผ้าโพกศีรษะซึ่งมีลวดลายปักสีแดง และมีถุงย่ามซึ่งจะออกสีแดงเช่นเดียวกัน เนื่องจากกะเหรี่ยงสะกอนับถือบรรพบุรุษฝ่ายแม่ แม่จะเป็นเจ้าของบ้านและเป็นใหญ่ในบ้าน วันแต่งงานผู้หญิงที่เป็นเจ้าสาวจะต้องเตรียมเสื้อผ้า ผ้าโพกศีรษะ และถุงย่ามไว้ให้เจ้าบ่าว ย่ามนี้จะต้องมีลายที่ปากถุง เพราะเชื่อกันว่าสามารถป้องกันผีไม่ให้ทำร้ายเจ้าบ่าวได้
กะเหรี่ยงสะกอมีความเคร่งครัด ในการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง มีข้อห้ามการไปไหนต่อไหนด้วยกันตามลำพังและการถูกเนื้อต้องตัวกัน การได้เสียกันก่อนแต่งงานถือว่าเป็นความผิดอย่างแรง ต้องมีการถูกลงโทษปรับสินไหมและต้องทำพิธีขอขมาหัวหน้าหมู่บ้าน รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านมีการฆ่าหมู,ไก่,วัว,ควาย เป็นต้น (แล้วแต่หัวหน้าแต่ละหมู่บ้านกำหนดโทษมากน้อยเพียงใด) เป็นการป้องกันหนุ่มสาวเล่นไม่ซื่อและเป็นการสอนหนุ่มสาวไปในตัวว่าทำไปต้องมีการทำโทษเหมือนคู่นี้ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าละอาย การมีชู้โทษถึงโดนไล่ออกจากหมู่บ้าน กะเหรี่ยงมีการอยู่อย่างผัวเดียวเมียเดียวตราบจนตายไม่ประพฤติผิดลูกเมียใคร กะเหรี่ยงสะกอที่เป็นแม่หม้ายน้อยมากที่จะแต่งงานใหม่
ด้วยความเชื่อดังกล่าวข้างต้น จึงมีการแยกความแตกต่างของการแต่งกาย ระหว่างสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้ว ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดทอด้วยมือทรงกระสอบสีขาว(หมายถึงสาวพรหมจรรย์) ยาวกรอมถึงเท้า (ณ.ปัจจุบันแปลกตาขึ้นมีทั้งสีเขียวและสีแดงวิวัฒนาการ) ในสมัยก่อนถ้าสวมใส่กระโปรงมีความยาวแค่เข่า สาวก็จะอายมากจนมีนิทานเล่าว่า ถ้ามีชายมาเห็นเข่าอ่อน สาวผู้นั้นก็จะฆ่าตัวตาย (เท่ากับว่าเสียความบริสุทธิ์แล้ว) ชุดขาวนี้จึงเรียกว่า”เซ้ว้า” ผู้หญิงจะใส่ตั้งแต่เด็กจนถึงวันแต่งงานถึงจะเปลี่ยน การใส่ชุดขาวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หญิงใดที่ตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้เข้าพิธีแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี ก็ถือว่ามีความผิดอย่างร้ายแรง จนกระทั่งมีคำด่าที่ถือว่าเป็นคำหยาบคายมากในบรรดากะเหรี่ยงสะกอด้วยกัน คืออุ้มท้องทั้งชุดขาว หรือเรียกว่า“เด้อเซ้ว้า” สาวโสดมีผ้าโพกศีรษะเพื่อกันแดดในหน้าฤดูร้อน ให้ความอบอุ่นในหน้าฤดูหนาวและเพื่อป้องกันไม่ให้ผมสกปรกเร็วจนเกินไป ในวันแต่งงานหญิงสาวกะเหรี่ยงจะมีผู้ใหญ่ช่วยเปลี่ยนชุดขาวเป็นชุดสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะต้องมอบชุดขาวนั้นให้คนอื่นทั้งหมดเพราะไม่ต้องใช้แล้ว แต่จะให้น้องสาวซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียงกันไม่ได้เช่นกัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้น้องไม่ได้แต่งงาน
ผู้หญิงกะเหรี่ยงสะกอที่แต่งานแล้ว จะสวมเสื้อประดับประดาด้วยลูกเดือยและฝ้ายสี การประดิษฐ์ลวดลาย และการใช้สีสันต่างๆ คิดค้นขึ้นมาแทนสิ่งที่เห็นอยู่รอบตัว เช่น นำเม็ดลูกเดือยมาเรียงกัน 2 เม็ด หมายถึงรอยรอยเท้าสุนัข หรือการปักไขว้ด้วยด้ายสีแดงเป็นรัศมี หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นต้น เสื้อดังกล่าวเป็นรูปทรงกระสอบ ตัวสั้นเลยเอว คอเสื้อเป็นรูปตัววี แขนในตัว สั้นเลยไหล่มานิดหนอ่อย เสื้อนี้เรียกว่า “เซ้ ซุ “ และจะสวมผ้าซิ่น ทั้งเสื้อและผ้าซิ่นเป็นเครื่องหมายแสดงว่ามีเจ้าของแล้ว จะไม่มีชายอื่นมาเกี่ยวข้องอีก สาวโสดจะใส่ชุดของหญิงที่แต่งงานแล้วไม่ได้ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ไม่ได้แต่งงาน หรือมีลูกโดยยังไม่ได้แต่งงาน หรืออาจทำให้เป็นบ้าไปเลยก็ได้ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็จะกลับไปสวมใส่ชุดขาวอีกไม่ได้ เพราะเป็นการดูถูกความบริสุทธิ์ของหญิงสาว เสื้อของหญิงที่แต่งงานแล้ว จะต้องมีลายปัก เพระถ้าไม่มีเชื่อว่าจะทำให้ไม่มีลูก กะเหรี่ยงมีทั้งนับถือผี นับถือศาสนาพุทธ และนับถือศาสนาคริสต์
เสื้อของหญิงที่แต่งงานแล้วจึงต้องมีการปักลูกเดือย เพราะเชื่อกันผีได้ และมักจะทอลายลงไปเลย ใช้วิธีปักด้วยมือดังเช่นนี้เสื้อของกะเหรี่ยงที่นับถือผีจะใส่ผ้าซิ่นที่มีลายกี่ ผ้าซิ่นของหญิงที่แต่งงานแล้วลวดลายของผ้าซิ่นแสดงความขยันหมั่นเพียรของผู้ทำ ยิ่งลวดลายมีมากก็ยิ่งแสดงความขยันหมั่นเพียรมมากขึ้นเท่านั้น
การย้อมสีของผ้ากะเหรี่ยงนั้น จะใช้วัสดุธรรมชาติ วัสดุที่จะนำมาย้อม ได้แก่ เปลือกไม้สัก ไม้แต่ง ไม้ประดู่ เป็นต้น ผู้ชายจะเป็นผู้หามาให้จากป่า หรือที่ห่างไกลจากที่อยู่อาศัย ส่วนต้นไม้ที่ใช้ย้อมสีเป็นต้นเล็กๆ เช่น ต้นคราม ต้นแสดหรือเงาะป่า เป็นต้น การย้อมสีของลายกี่จะต้องไปเอาต้นไม้ชนิดหนึ่งในป่าซึ่งมีสีอย่างลายของกี่ เวลาไปเอาจะต้องไม่บอกใคร เพราะจะทำให้ย้อมไม่ติด
ผ้าซิ่นที่ทอเป็นลายกี่ เชื่อกันว่าป้องกันอันตรายได้ ผู้ชายที่เป็นทหารหรือนักรบ เวลาออกไปรบจะเอาเศษผ้าถุงของแม่มาติดไว้บนศีรษะ เพื่อป้องกันอันตราย นอกจากนี้ในสมัยก่อน อัตราการตายของหญิงมีครรภ์และของทารกแรกเกิดค่อนข้างสูง จึงเชื่อว่าลายกี่จะช่วยป้องกันไม่ให้ทารกตายได้ นอกจากนี้ ขณะที่ผู้หญิงกะเหรี่ยงกำลังอยู่ไฟหลังคลอดลูก จะเอากระบุงใส่ฟืนที่เรียกว่า”เส่กวะ” มาวางไว้ใกล้กับประตูบ้าน แล้วเอาเสื้อที่ติดลายลูกเดือยมาวางบนปากกระบุง เพื่อป้องกันไม่ให้ผีมาทำร้ายเด็ก เพราะเมื่อผีมาถึงจะต้องนับลูกเดือย นับลายเสื้อและลายของกระบุง จนมึนงงและตาลายไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ และเนื่องจากความหวาดกลัวการตายในระหว่างตั้งครรภ์ จึงเกิดคำด่าที่หยาบคายรุนแรงมาก คำว่า “ซี้ เทาะ เด้อ” ซึ่งแปลว่า “ตายทั้งท้องกลม”
เสื้อกะเหรี่ยง ส่วนใหญ่จะทอเองด้วยมือ การทอผ้านับเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ดั้งเดิมอย่างหนึ่งของกะเหรี่ยง ได้ทอผ้าใช้ในครอบครัวมาเป็นเวลานานแล้ว รูปแบบการทอผ้ามีลักษณะคล้ายกับการทอผ้าของชาวเปรูในสมัยโบราณ และเหมือนของชนเผ่าหนึ่งในแถบในประเทศกัวเตมาลา ฟิลิปปินส์ ปัจจุบันการทอผ้าแบบนี้ของกะเหรี่ยงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มว่าจะสูญหายไปในที่สุด การทอผ้าที่ปรากฏเป็นแบบ back strap ทั้งสิ้นซึ่งมีลักษณะดังนี้ คือ “ ขึงด้ายกับไม้คาน 2 อันในแนวนอน คานด้านหนึ่งผูกติดกับหลัก ส่วนคานอีกด้านหนึ่งผู้ทอจะใช้สายหนังวัวคล้องหัวท้าย ติดกับตัวเอวของตน ความตึงของด้ายยืนจึงไม่คงที่ ผู้ทอสามารถบังคับให้ด้ายยืน ตึงหรือหย่อนได้ตามความต้องการ ซึ่งทำให้เกิดผลดีคือ เนื้อผ้ามีความเรียบและแน่น สม่ำเสมอ ผู้ทอจะโน้มตัวไปข้างหน้าเมื่อต้องการให้ด้ายยืนหย่อน และเอนตัวมาด้านหลังเมื่อต้องการให้ด้ายตึง เครื่องทอแบบกะเหรี่ยงนี้พบในประเทศจีน ญี่ปุ่น พม่า ธิเบต และหมู่เกาะมลายู ปัจจุบันคงมีใช้อยู่ในประเทศเปรู กัวเตมาลา และเม็กซิโก (สารภี ศิลา และรัชดาภรณ์ กุณามา 2533:18)
ในปัจจุบัน กะเหรี่ยงนิยมซื้อด้ายสำเร็จรูปมาทอ เนื่องจากผลผลิตจากไร่ไม่เพียงพอ และไม่สามารถหาแหล่งซื้อปุยฝ้ายได้ ประกอบกับกรรมวิธีการผลิตเส้นด้ายนี้ ต้องใช้เวลามาก ในเรื่องเกี่ยวกับการทอผ้านี้ มีการแนะนำจากหน่วยงานราชการ ให้ใช้การทอผ้าแบบกี่กระตุกเพื่อทำให้เกิดความรวดเร็ว และได้ปริมาณมากขึ้นสามารถขายเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว แต่การทอผ้าแบบนี้ยังไม่พอแพร่หลายนัก (สารภี ศิลา และรัชดาภรณ์ กุณามา 2533:18)
พิธีมัดมือปีใหม่
งานมัดมือขึ้นปีใหม่หรืองานทำขวัญประจำปีของกะเหรี่ยงเรียกว่า “กิจึ๊” จะจัดขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน หมอผีประจำหมู่บ้านจะเป็นคนกำหนดวัน หากหมู่บ้านใดมีหมอผี 2 คนงานมัดมือก็จะมี 2 งานซึ่งวันจะไม่ตรงกัน พิธีมัดมือปีใหม่เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฤดูกาลการเพาะปลูก หลังจากงานมัดมือปีใหม่แล้วไม่นาน จะเริ่มถางไร่และเตรียมที่นาสำหรับเพาะปลูก ก่อนวันพิธี 1 วันชาวกะเหรี่ยงจะทำข้าวเหนี่ยวต้มเตรียมไว้ จะมีการฆ่าควายที่รวมเงินกันซื้อมา แล้วมาแบ่งกันทำอาหารรับประทาน เนื้อควายนี้เขาจะไม่ใช้ในพิธีกรรมเลย กับทั้งมีการต้มเหล้า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง และมีการตำข้าวปุ๊ก
พิธีมัดมือทำขวัญ เริ่มด้วยพ่อแม่เอาตะกร้าใส่สิ่งของต่างๆ เช่น เสื้อ ผ้าถุง ผ้าโพกหัวของแม่บ้าน ซึ่งเป็นของใหม่ ไก่ เหล้า ข้าวเหนียวต้ม เป็นต้น ไปวางไว้ที่หัวบันไดข้างหนึ่ง มือหนึ่งจับไก่2 ตัวเป็นไก่ตัวผู้กับตัวเมีย ไว้ให้อยู่นิ่งๆ อีกมือข้างหนึ่งใช้ไม้คนหม้อข้าวเคาะหัวบันได พร้อมทั้งสวดมนต์ เมื่อเสร็จแล้วก็ไปอีกหัวหนึ่งบันได จากนั้นยกตะกร้าเข้ามาไปในบ้าน เคาะและสวดมนต์ตรงด้านหัวนอนของพ่อบ้านและแม่บ้าน สวดเสร็จก็ฆ่าไก่เอามาลวก ถอนขนออกแล้วเอาไปย่างไฟให้หอมเพื่อนำไปทำกับข้าว เมื่อทำกับข้าวเสร็จก็จัดอาหารลงบนขันโตก อาหารมีข้าว กับข้าว ข้าวปุ๊ก ข้าวเหนียวต้มที่แกะออกแล้ว และเหล้า 1 ถ้วย
จากนั้นเอาเส้นฝ้ายทีมีความยาวประมาณ 14-15 นิ้วมาวางพาดบนขันโตกให้ถูกข้าวแกงและขนม เส้นฝ้ายนี้มีจำนวนเท่าสมาชิกของครอบครัว จากนั้น พ่อบ้านทำพิธีด้วยการเอาไม้คนหม้อข้าวเคาะขันโตก แล้วสวดมนต์เรียกขวัญมากินอาหาร พอสวดเสร็จ พ่อบ้านหรือแม่บ้านเอาด้ายขวัญผูกข้อมือลูกทุกคน จากลูกคนเล็กไปยังลูกคนโต พร้อมทั้งสวดมนต์เรียกขวัญให้อยู่กับตัว เมื่อผูกเสร็จพ่อบ้านกับแม่บ้านจะผลัดกันผูกมือแก่กันและกัน พร้อมที่ทั้งสวดมนต์ให้แก่กัน จากนั้นพ่อบ้านจะยกถ้วยเหล้าขึ้นจบเทลงไปพอเป็นพิธี แล้วสวดมนต์ให้ผีลงมาดื่มสุราถ้วยนั้น และขอให้ปกป้องดูแลรักษาโรคภัยให้แก่สมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลการทำมาหากินสะดวก ปลูกพืชได้ผลดี พอสวดเสร็จทุกคนก็ดื่มเหล้าด้วยกัน และกินข้าวในโตกร่วมกันเป็นอันเสร็จพิธี
พอตกกลางคืน จะมีการดื่มเหล้าและร้องเพลงกัน การร้องและการดื่มนี้จะต้องวนเวียนไปจนครบทุกบ้านกล่าวแต่คำอันเป็นมงคลแก่ชีวิต พิธีมัดมือขึ้นปีใหม่นี้ มีเรื่องความเชื่อและกฎเกณฑ์ที่ควรปฏิบัติเกี่ยวข้องอีกมาก มีความแตกต่างในรายละเอียดระหว่างหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้าน และแตกต่างตามความเชื่อของหมอผีแต่ละคน แต่มีความเชื่อที่สำคัญคือ หากเดือนที่กำหนดจะมีงานมัดมือขึ้นปีใหม่นี้ เกิดเหตุการณ์ไม่ดีไม่งามในหมู่บ้าน เช่น มีคนตาย มีเสือเข้ามากินสัตว์เลี้ยงในบ้าน มีหนุ่มสาวได้เสียกัน เป็นต้น ก็ต้องยกเลิกหมดถือว่าการเตรียมการครั้งนี้ไม่ดี ทำต่อไปไม่เกิดผลดีต่อคนในหมู่บ้าน ต้องเลื่อนไปจัดในเดือนต่อไป หรือหากจัดพิธีไปแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นทีหลัง จะถือว่างานที่จัดไปแล้วนั้นใช้ไม่ได้เช่นกัน ต้องจัดพิธีกันใหม่อีก ( สุริยา รัตนกุล และลักขณา ดาวรัตนหงษ์ 2531)
การเกิด
เมื่อทารกเกิดสายรกที่ตัดออกไปแล้วก็จะบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่ปิดฝาด้วยเศษผ้า แล้วนำไปผูกไว้ตามต้นไม้ในป่ารอบหมู่บ้าน ต้นไม้ต้นนั้นเรียกชื่อว่า “เดปอทู่” แปลว่าต้นสายรก และต้นไม้ต้นนี้จะห้ามตัดโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญของทารกจะอาศัยอยู่ที่นั่น หากตัดทิ้งจะให้ขวัญของทารกหนีไปและทำให้ทารกล้มป่วยลง หากว่าผู้ใดผู้หนึ่งตัดต้นไม้ต้นนี้โดยเจตนาหรือไม่เจตนา จะต้องถูกปรับด้วยไก่หนึ่งตัว พ่อแม่ก็นำไก่ตัวนี้ไปทำพิธีเรียกขวัญทารกกลับคืนมา
วันที่ไปผูกสายทารกติดกับต้นไม้นั้นเพื่อนบ้านทุกคนจะไม่ออกไปทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นข้อห้าม เรียกข้อห้ามนี้ว่า “ดึต่าเบล” เป็นกฎหมายประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต เมื่อถึงเวลาขั้วสายรกหลุดออกไปผู้เป็นพ่อก็จะไปทำพิธีผูกมือเรียกขวัญทารก โดยไปทำพิธีที่ใต้ต้นไม้ที่ผูกติดสายทารกต้นนั้น เพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่ที่บ้าน เรียกพิธีผูกขวัญนี้ว่า “กี่เบลจือ” คือพิธีผูกขวัญครั้งแรกของบุคคลผู้นี้ที่เกิดมาลืมตาอยู่บนโลก คนกะเหรี่ยงเชื่อว่าขวัญของคนมีอยู่ 37 ขวัญที่อยู่ในรูปของสัตว์ชนิดต่างๆ การผูกขวัญครั้งแรกของทารกนี้ก็จะทำให้ทารกได้รับขวัญที่ 37 ขวัญนี้ โดยครบถ้วน ซึ่งได้แก่
1.ขวัญหัวใจ, 2.ขวัญมือซ้าย, 3.ขวัญมือขวา, 4.ขวัญเท้าซ้าย, 5.ขวัญเท้าขวา, 6.ขวัญหอย,7.ขวัญปู,8.ขวัญปลา, 9.ขวัญเขียด,10.ขวัญแย้,11.ขวัญจิ้งหรีด,12.ขวัญตั้กแตน,13.ขวัญตุ๊กแก,14.ขวัญแมงมุม, 15.ขวัญนก,16.ขวัญหนู,17.ขวัญชะนี, 18.ขวัญหมูป่า, 19.ขวัญไก่ป่า, 20.ขวัญเก่ง, 21.ขวัญกวาง, 22.ขวัญสิงห์ ,23.ขวัญเสือ, 24.ขวัญช้าง, 25.ขวัญข้าว, 26.ขวัญงู, 27.ขวัญตุ่น, 28.ขวัญเม่น, 29.ขวัญเลียงผา, 30.ขวัญแรด, 31.ขวัญเต่า, 32.ขวัญตะกวด, 33.ขวัญกุ้ง, 34.ขวัญอีเห็น, 35.ขวัญกระทิง, 36.ขวัญต่อ, 37.ขวัญนกแก๊กนกแกง.
พิธีแต่งงาน
หนุ่มและสาวกะเหรี่ยง มักมีโอกาสพบปะสนทนากันในตอนกลางคืน หนุ่มกะเหรี่ยงจะไปหาสาวที่บ้าน และนั่งสนทนากันบนบ้านซึ่งอาจเป็นนอกห้องหรือในห้อง ส่วนใหญ่จะเป็นในห้อง เพราะมีเตาไฟที่ให้แสงสว่างอยู่กลางห้อง เนื่องจากบ้านของกะเหรี่ยงมีห้องเพียงห้องเดียว ในขณะที่สนทนากัน พ่อแม่ก็จะนอนอยู่ใกล้เตาไฟนั่นเอง นอกจากที่บ้านของหญิงสาวแล้ว โอกาสที่หนุ่มสาวกะเหรี่ยงจะได้พบกัน คือ ในงานศพเวลากลางคืนพวกหนุ่มสาว จะเดินรอบๆ ศพ และกอดคอกันร้องเพลงระหว่างหญิงกับหญิง ชายกับชายนั้นอวยพรให้ผู้ตายไปสู่ที่ชอบ (ห้ามกอดกันเด็ดขาดชายกับหญิง) โอกาสนี้เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้ใกล้ชิดและสนิทสนมกันมาก การร้องเพลงในงานศพนี้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะโต้ตอบบทเพลงกันและกันอย่างสนุกแบบมีศิลปะ หนุ่มๆ สาวๆ คู่ไหนชอบพอกันฝ่ายชายใดที่มีลูกคอเสียงดีโชว์ออกมาด้วยเสียงที่ไพเราะมีความหมาย มีความซาบซึ้งให้ฝ่ายหญิงที่ตนจับคู่ได้ฟัง หญิงสาวบางคนมีความซาบซึ้งในบทเพลงที่ฝ่ายชายร้องโต้กลับมาถึงน้ำตาซึมร่วงก็มี ฝ่ายผู้หญิงก็เหมือนกันโต้กลับฝ่ายชายด้วยเสียงที่ไพเราะผู้ชายถึงน้ำตาร่วงก็มีเหมือนกัน การร้องเพลงในงานศพจุดมุ่งหมายก็คือ

1. เพื่อให้เกิดความสมานสามัคคีในงานการจัดงานศพ 
2. เพื่อให้ชายหนุ่มหญิงสาวจะได้มีโอกาสเกี้ยวพาราสีกัน 
3. เพื่อให้หนุ่มสาวฝึกร้องเพลงให้เป็น 
4. เพื่อส่งดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สุคติ เป็นต้น

หากหนุ่มสาวได้เสียกันก่อนแต่งงาน ก็จะต้องมีการขอขมาต่อผีเจ้าที่ ซึ่งเป็นผีบ้านไม่ใช่ผีเรือนและให้มีการขอขมาต่อผู้เฒ่า รวมทั้งหัวหน้าหมู่บ้านและหมอผีด้วย วันต่อมาจึงจะจัดให้มีการแต่งงานกัน พิธีการแต่งงานของหนุ่มสาว ที่ได้เสียกันก่อนแต่งงานจะไม่มีงานสนุกสนานรื่นเริงเหมือนงานแต่งที่เป็นหนุ่มสาวบริสุทธิ์ แต่ทำพอเป็นพิธีเท่านั้นกะเหรี่ยงหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์ จะไม่ยอมไปร่วมในพิธีด้วย เพราะเกรงว่าจะเอาตัวอย่างเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีมาใช้ และถือว่าเป็นการผิดประเพณีกะเหรี่ยงทำให้วงศ์ตระกูลให้เกิดเรื่องน่าละอาย ถ้าหนุ่มสาวคู่ที่ได้เสียกันไม่ใช่หนุ่มสาวหรือสาวโสด ก็จะต้องถูกปรับเป็นเงินและสัตว์เลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ และควาย เป็นต้น
หลักการพิธีแต่งงาน เริ่มด้วยการให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาทาบทามเพื่อถามความสมัครใจทั้งสองคนก่อน จากนั้นจะเป็นการสู่ขอโดยฝ่ายหญิงได้ให้ผู้อาวุโสชาย 2 คนไปหาฝ่ายชาย ประเพณีการสู่ขอของกะเหรี่ยงผู้หญิงจะเป็นผู้สู่ขอผู้ชาย หลังจากยินยอมตกลงกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ได้นัดหมายกันว่า อีกเจ็ดวันจะทำพิธีแต่งงาน เมื่อฝ่ายชายเต็มใจรับการสู่ขอ ก็จะมีผู้อาวุโสชายฝ่ายชาย 2 คนและหนุ่มโสด 1 คน ที่ไม่ใช่พี่น้องของเจ้าบ่าว รับการสูขอเพื่อนัดหมายวันแต่งงาน ชายหนุ่มโสดคนนี้จะเป็นตัวประกันในการแต่งงาน หากเจ้าบ่าวตัวจริงเกิดขัดข้องด้วยเหตุใดก็ตาม ชายหนุ่มคนนี้จะต้องแต่งงานแทนเจ้าบ่าวตัวจริง ไปยังบ้านฝ่ายหญิงก็จะมีการฆ่าไก่เพื่อต้มหรือแกง และมีการเตรียมเหล้าเลี้ยงพวกที่มาเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้ว ฝ่ายนั้นจะหาคู่ครองยาก เพราะไม่มีสัจจะ จะมีการกำหนดวันแต่งงาน ซึ่งจะจัดขึ้นภายใน 7-9 วัน หลังจากวันสู่ขอ และต้องเป็นวันที่คี่ เช่น วันที่ 3 วันที่ 5 วันที่ 7 หรือวันที่ 9 หลังจากการสู่ขอ จะเป็นวันไหนก็ใช้วิธีปักกระดูกไก่ดูเอา เมื่อกำหนดวันแล้วก็บอกไปยังญาติมิตรทั้งหลาย จะได้เตรียมตัวช่วยเหลือ เช่น เตรียมหมู ไก่ หรือเหล้าสำรับใช้ในพิธีแต่งงาน
ในวันแต่งงาน ฝ่ายชายจัดขบวนแห่ซึ่งมีกรร้องทำเพลง ตีฆ้องกลองกันอย่างสนุกสนาน เดินไปบ้านเจ้าสาว ทุกคนแต่งกายแบบกะเหรี่ยง เจ้าบ่าวจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ ในขบวนแห่ เจ้าบ่าวต้องเตรียมสิ่งของใส่ตะกร้า แล้วให้หญิงอาวุโสพาดไป การพาดก็คือ การใช้สายคล้องสะพายอยู่ตรงหน้าผาก และตะกร้าอยู่ข้างหลัง ในตะกร้าจะมีของมีเครื่องมือ เช่น พร้า จอบเสียม เงินก้อนโบราณ เงินเหรียญซึ่งเป็นโลหะเงิน ผ้าโพกศรีษะ เสื้อและผ้านุ่งใหม่ของแม่บ้าน เป็นต้น ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดขบวนที่มีแต่ผู้ชายไปรับและนำเข้ามาในบ้าน ในขบวนของแต่ละฝ่ายจะมีผู้ร่ายเวทย์มนต์คาถาไปด้วย
เมื่อขบวนเจ้าบ่าวไปถึงลานบ้านเจ้าสาว ก็จะมีพิธีดื่มเหล้า โดยเจ้าสาวเอาเหล้าที่เป็นเหล้าขวดแรกจากากรต้มกลั่นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า”ซิโข” หมายถึงหัวเหล้า แก้วสุดท้ายเรียกว่า”ซิคี” หมายถึงก้นเหล้า (เรียกพิธีกรรมนี้ว่าแควะ ซิ หมายถึงพิธีหัวเหล้าและก้นเหล้า) รินให้เจ้าบ่าว 1 แก้ว เจ้าบ่าวจะส่งให้หัวหน้าผู้รอบรู้เวทย์มนต์คาถาอาคม ทำการเสกเป่าและอวยพรให้อยู่ดีมีสุข เสร็จแล้วหัวหน้าจะรินเหล้าลงพื้นดินนิดหน่อย แล้วเจ้าสาวส่งกลับให้เจ้าบ่าวดื่มจนหมด สุราที่เหลือในขวดก็ส่งให้ญาติพี่น้องดื่มกันจนหมด จากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวก็รินเหล้าของตนให้เจ้าสาวและทำพิธีเช่นเดียวกัน เมื่อทำพิธีดื่มเหล้าแล้ว ก็ขึ้นบนบ้านขณะขึ้นถึงหัวบันไดบ้านจะมีญาติอาวุโสฝ่ายหญิงเอาน้ำเย็นราดลงบนเท้าของคู่บ่าวสาวเพื่อล้างเสนียดจัญไร พร้อมกล่าวคำอวยพร พรรคพวกของทั้งสองฝ่ายที่ตามมา ก็จะมีการสรรดน้ำที่เท้าทุกคน จากนั้นทำพิธีป้อนข้าว โดยเจ้าสาวเอาข้าวและอาหารใส่ถ้วยเล็กให้เจ้าบ่าวกินให้หมดจำนวนหนึ่งคำ จากนั้นญาติของทั้งสองฝ่ายก็จะทำแบบเดียวกัน แล้วจึงลงมือรับประทานอาหารกันตามปกติ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว พรรคพวกของทั้งฝ่ายจะดื่มเหล้าและร้องเพลงของเผ่า (ทาแต่งงาน) ตามบ้านญาติพี่น้องของเจ้าสาว แล้วพากันกลับมาบ้านเจ้าสาว มาดื่มเหล้ากันอีก โดยหัวหน้าทั้งสองฝ่ายต่างอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว
ประเพณีของกะเหรี่ยงก็เป็นเช่นนี้ถือว่าข้าวเป็นชีวิต จึงให้ความสำคัญกับเหล้าที่มาจากข้าวสำหรัญทำพิธีกรรมทุกๆ อย่าง เหล้าสองแก้วแรกที่ริลนลงไปเรียกว่า “ซิโข” หมายถึงหัวเหล้า สองแก้วสุดท้ายเรียกว่า “ซิคี “หมายถึง ก้นเหล้า และเรียกรวมพิธีกรรมนี้ว่า “แควะ ซิ” หมายถึงพิธีดื่มหัวเหล้าและก้นเหล้า
ตอนนั่งดื่มเหล้า เจ้าสาวนำสายกระพวนมาคล้องคอเจ้าบ่าว และนำบุหรี่สองมวนมาให้ มวนหนึ่งจุดไฟให้เจ้าบ่าว อีกมวนหนึ่งให้เจ้าบ่าวถือไว้ในมือ แล้วเจ้าสาวก็ตระเวนทั่วในบ้านไล่แจกสายกระพวนแก่เพื่อนบ้านที่มากับเจ้าบ่าว ระหว่างพิธีดื่มหัวเหล้า-ก้นเหล้า คนอื่นๆ ก็ดื่มเหล้าด้วย พร้อมกับขับลำนำโต้ตอบกันอย่างสนุกสนานเจ้าบ่าวจะก่อ แขกผู้มาเยือนจะรับเนื้อหาลำนำเป็นการถามไถ่กันถึงการเดินทางว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีความทุกข์ยากลำบากใจอะไรบ้างไหม เจอะเจอกับอะไรบ้าง หลังจากนั้นหลายคนอกจากบ้านแยกย้ายไปยังบ้านอื่น พาเจ้าบ่าวไปด้วย เจ้าบ่าวคืนแรกไปนอนอีกบ้านหนึ่งซึ่งไม่ใช่บ้านเจ้าสาวแต่อาจบ้านของหัวหน้าผู้มาขอนัดวันแต่งงานเจ้าบ่าวสาวนั่นเอง หรือคืนนี้เจ้าบ่าวไม่ได้นอนเลยทั้งคืนเพราะไปกับผู้ใหญ่ซึ่งขับเสียงลำนำโต้ตอบกันทั้งคืน วันรุ่งขึ้นผู้ชายฝ่ายเจ้าสาวมารับเจ้าบ่าวมาบ้านของเจ้าสาว เพราะมีพิธีอีกขั้นตอนหนึ่งคือการผูกข้อมือร่วมกัน ให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวนั่งลงใกล้กันใกล้ขันโตก ผู้อาวุโสคนหนึ่งในหมู่บ้านนำด้ายขาวสองเส้น ผูกข้อมือเจ้าบ่าวก่อนแล้วผูกข้อมือเจ้าสาวต่อ ขณะผูกข้อมือท่านอธิษฐานอวยพรแก่เจ้าบ่าวและเจ้าสาว จากนั้นแม่เจ้าสาวนำขวดเหล้าให้เจ้าบ่าวริน หัวเหล้าเขาให้เจ้าบ่าวดื่ม ก้นเหล้าให้เจ้าสาวดื่ม แล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวพร้อมกับพ่อแม่ญาติพี่น้องก็ลงมือกินข้าว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวก็ขึ้นมากินข้าวในเวลานั้นด้วย
เมื่อทุกคนกินข้าวอิ่มแล้ว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวพากันกลับบ้าน ทิ้งเจ้าบ่าวไว้คนเดียวที่หมู่บ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อตามองตามเพื่อนบ้านกลับไป (คงเศร้าสร้อยจนน้ำตาไหลรินแน่เลย)เจ้าบ่าวต้องนอนที่หมู่บ้านนี้อีกหนึ่งคืน ตกกลางคืนเจ้าสาวจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดแม่บ้านสีดำใหม่เอี่ยมที่เรียกว่า “เชซู” (คือผ้าเสื้อท่อนบนของชุดแม่บ้านผู้ออกเหย้าออกเรือนแล้ว หมายถึงเสื้อดำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “เชเบอะ” หมายถึงเสื้อปักลูกเดือย ที่เรียกว่าเสื้อดำและเสื้อปักลูกเดือย เพราะท่อนล่างยังมีอีกเรียกว่า “หนี่หรือซิ่น” เป็นพื้นสีแดงและมีลายมัดหมี่ตัดขวางตลอดทั้งผืน) ส่วนเจ้าบ่าวนั้นต้องใส่เสื้อแดงที่เรียกว่า “เชก๊อ” ซึ่งเจ้าสาวเป็นผู้ทอให้เจ้าบ่าว ยื่นให้เจ้าบ่าวด้วยมือของเจ้าสาวเอง (เชก๊อ หมายถึงเสื้อผู้ชายเป็นผ้าสีแดง คำนี้มีความหมายสวยสดงดงามและมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง) เวลานี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่างอยู่ในชุดแต่งงานทั้งสองคน รอเวลาพิธีส่งเข้าเรือนหอต่อไป ค่ำคืนนี้ยังมีข้าวเย็นอีกมื้อหนึ่ง ซึ่งญาติเจ้าสาวไปเชิญชวนผู้อาวุโส 3-4 ท่าน ที่นำทางเจ้าบ่าวไปเยี่ยมตามบ้านต่างๆ เมื่อตอนกลางวันให้มากินข้าวด้วย เพื่อมาเป็นพยานในการส่งเจ้าสาวเจ้าบ่าวสู่เรือนหอ ทุกคนกินข้าวพร้อมกันดื่มเหล้าเสร็จแล้ว จากนั้นผู้อาวุโสเดินออกจากบ้านไปทีละคนๆ จนหมด และบอกกับเจ้าบ่าวว่า “หลานเอ๋ย ขอให้โชคดีมีสุข มีไข่ดกออกลูกดี สืบลูกสืบหลานต่อๆ ไปเถอะ”
หลังจากเจ้าสาวเจ้าบ่าวดื่มเหล้า และรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เจ้าสาวจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เจ้าบ่าวใหม่ จากนั้นหัวหน้าฝ่ายเจ้าบ่าวจะแจกของในตะกร้า ที่นำมาให้ญาติอาวุโสซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวของเจ้าสาว ส่วนเงินหล่อแท่งเก็บเอาไว้เป็นของประจำตระกูลต่อไป
เป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานที่บ้านเจ้าสาว ชาวกะเหรี่ยงนิยมจัดงานแต่งงาน 2 วัน วันที่สองจะทำพิธีที่บ้านเจ้าบ่าว วันแรกเจ้าสาวยังไม่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายชุดขาวทรงกระสอบที่แสดงความเป็นสาวพรหมจารีย์ แต่จะไปเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อสำหรับหญิงมีเรือนในวันรุ่งขึ้น พิธีในวันที่สอง ดำเนินไปในลักษณะเดียวกับวันแรก เช่น หญิงอาวุโสฝ่ายหญิงจะเตรียมของใส่ตะกร้าร่วมขบวนแห่ไปยังบ้านเจ้าบ่าว เป็นต้น
สองคืนกับหนึ่งวันที่ค้างอยู่ที่บ้านเจ้าสาว วันนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกลับไปยังบ้านเจ้าบ่าวพร้อมกับเพื่อนบ้านที่เป็นฝ่ายเจ้าสาวเป็นพยาน เมื่อรวมกันที่บ้านเจ้าสาวแล้ว จากนั้นก็ออกเดินทางไปยังหมู่บ้านเจ้าบ่าว เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าวก็จะมีเพื่อนบ้านรอรับมากมาย เพื่อมาทำพิธีกันในฝ่ายของเจ้าบ่าวต่อ พ่อแม่ของเจ้าบ่าวยืนรอลูกชายและลูกสะใภ้ใหม่ที่เชิงบันได ในมือถือกระบอกไม้ไผ่ตักน้ำคนละกระบอก มีก้อนหินหนึ่งก้อนวางอยู่ข้างหน้าให้ลูกชายกับลูกสะใภ้เหยียบบนก้อนหิน เจ้าบ่าวเหยียบเท้าขวาเจ้าสาวเหยียบเท้าซ้าย พ่อแม่เทน้ำลงไปบนเท้าของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว พร้อมกับอธิษฐานว่า “มีแรงกิน มีแรงทำ มีอายุยืนดั่งก้อนหิน มีความร่มเย็นดั่งน้ำ อย่าได้เจอะเจอกับความทุกข์ยากลำบากใจเลย”
จากนั้นขึ้นบนบ้าน รินเหล้าให้ผู้อาวุโสของหมู่บ้านและท่านก็อธิษฐานอวยพรให้ ตกตอนกลางคืนก็มีเสียงร้องเพลงกะเหรี่ยงขับลำนำโต้ตอบกันดังระงมทั้งหมู่บ้านระหว่างแขกฝ่ายเจ้าสาวกับฝ่าบเจ้าบ่าว ที่หมู่บ้านของเจ้าบ่าวไม่มีพิธีอะไรอีกแล้ว นอกจากการเลี้ยงอาหารและฉลองกันเท่านั้น
พิธีกรรมทั้งหมดอยู่ที่บ้านฝ่ายเจ้าสาว เพราะตามวัฒนธรรมกะเหรี่ยงพิธีกรรมภายในบ้านจะเป็นของผู้หญิง วันรุ่งขึ้นมีการเลี้ยงอาหารแขกและเพื่อนบ้านอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเพื่อนบ้านของเจ้าสาวต่างพากันกลับบ้านทิ้งเจ้าสาวให้ร้องไห้ไว้เพียงผู้เดียวให้อยู่กับเจ้าบ่าว เจ้าสาวน้ำตาคลอมเบ้าล้นเอ่อ คงมีความรู้สึกเช่นเดียวกับตอนเจ้าบ่าวครั้งถูกเพื่อนบ้านทิ้งไว้เพียงผู้เดียวในหมู่บ้านของเธอเมื่อวันก่อนนั่นเอง
ในพิธีแต่งงานเจ้าสาวจะต้องแสดงฝีมือในกาารต้มกลั่นเหล้าให้บิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าวดื่ม โดยเจ้าสาวยังค้างอยู่ที่หมู่บ้านเจ้าบ่าวอีกประมาณ 7 วัน ระหว่างนี้เจ้าสาวได้ต้มเหล้าให้พ่อแม่สามีหนึ่งหม้อ เพราะประเพณีกะเหรี่ยง สิ่งที่ลูกสะใภ้ต้องทำให้กับพ่อแม่สามีอันดับแรกคือการต้มเหล้า ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่าลูกสะใภ้เก่งกาจในหน้าที่ของสตรีหรือไม่
เมื่อเจ้าสาวต้มเหล้าเสร็จแล้วพ่อแม่เจ้าบ่าวก็เรียกญาติพี่น้องทุกคนมาร่วมกันดื่ม ทุกคนแสดงความคิดเห็นต่างๆ เช่นว่า มีรสชาติดีและอร่อยกล่าวชมเชยในฝีมือทั้งพ่อแม่เจ้าบ่าวและญาติพี่น้องต่างพึงพอใจทั่วหน้า เพราะนี่แสดงถึงนิมิตหมายอันดี ที่ชีวิตครอบครัวของเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะมีแต่งความราบรื่นและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ในวันที่ 8 เขาทั้งสองคนต้องกลับไปยังหมู่บ้านเจ้าสาวเพราะผู้ชายกะเหรี่ยงเมื่อแต่งงานแล้ว ต้องไปอยู่อาศัยบ้านผู้หญิง ก่อนกลับนั้นแม่เจ้าบ่าวได้เตรียมกระชุหนึ่งใบให้ลูกสะใภ้ใหม่แบกกลับไปด้วย ข้างในบรรจุเสื้อผ้าซึ่งเป็นชุดแม่บ้านหลายชุดด้วยกัน เป็นของที่แม่สามีต้องให้กับสะใภ้ตามประเพณี เมื่อกลับไปหมู่บ้านเจ้าสาวแล้วแม่ยายบอกว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกเขยและลูกสาวของท่านต้องทำ คือการไปหาของกินร่วมกันครั้งแรก เรียกว่า “ฆือ เอาะ ชุ ตา”
การไปหาของกินร่วมกันครั้งแรกนี้ต้องมีสามีภรรยาหนึ่งคู่ไปเป็นพี่เลี้ยงไม่เช่นนั้นถือว่าไม่ดี ไปหาของกินจำพวกกุ้ง ปู ปลา ที่ห้วยหรือแม่น้ำ ไม่ไกลจากหมู่บ้านเท่าใดนัก เมื่อได้กุ้ง ปู ปลาและอื่นๆ แล้วมาล้างใส่ลงหม้อคนทำอาหารนำหินก้อนเท่าหัวแม่มือสองก้อนใส่หม้อลงไปด้วยเป็นความเชื่อที่ต้องทำเช่นนี้เป็นการอวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้งสองให้มีอายุยืนดั่งก้อนหินสองก้อนนี้และร่วมกันกินข้าว เจ้าสาวเก็บไว้ให้ดีอย่าโยนทิ้งหากมันหายขอให้มันหายมันเอง นี่เป็นธรรมเนียมประเพณีขั้นสุดท้ายสำหรับการแต่งงาน คนกะเหรี่ยงถือว่าชีวิตงานแต่งงานสำคัญมาก จึงมีขั้นตอนธรรมเนียมประเพณีมากมายและใช้เวลายาวนานเป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงาน ที่สมบูรณ์แบบของกะเหรี่ยง สำหรับบางคนนั้นงานแต่งใช้เวลานานถึง 14-21 วัน คือนับตั้งแต่การไปสู่ขอจนถึงการไปหาของกินร่วมกันครั้งแรก
ข้อห้าม
การอยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องยึดถือระเบียบข้อบังคับ กฎจารีตประเพณี และเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชุมชนดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ข้อห้ามระหว่างคนกับธรรมชาติ 
-ป่าช้า ป่าช้าจะเป็นป่าหวงห้ามสำหรับหมู่บ้าน ห้ามเข้าไปตัดต้นไม้และทำประโยชน์ใด ทุกคนต้องเคารพเพราะถือกันว่าเป็นแหล่งพักพิงของวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งพวกท่านก็ต้องการความสงบร่มเย็นเช่นเดียวกัน

-สัตว์ป่า เช่น ชะนี ชะนีตายหนึ่งตัวป่าเจ็ดป่าต้องเงียบเหงา นกกก นกกกตายหนึ่งตัวต้นโพธิ์เจ็ดต้นต้องวังเวง เพราะเป็นนกที่ซื่อสัตย์ต่อคู่หากคู่มันตายมันก็จะฆ่าตัวตายตาม และสัตว์ป่าขนาดใหญ่หลายชนิดจะห้ามการล่า และเมื่อถึงฤดูวางไข่ผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกอ่อนจะห้ามล่าสัตว์ป่าทุกชนิด เพราะเป็นช่วงที่สัตว์ป่าขยายพันธุ์ หากมีการล่าในช่วงนี้จะทำให้สัตว์สูญพันธุ์ได้ แม่น้ำลำธารบริเวณต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะตาน้ำผุดจะห้ามการตัดไม้ทำลายป่า ปลาที่อยู่ในตาน้ำผุดหรืออยู่ในถ้ำห้ามจับ เพราะเชื่อกันว่าปลาเหล่านี้มีเจ้าของเลี้ยงไว้ หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามผู้นั้นเจ้าของธรรมชาติเหล่านี้จะลงโทษ โดยการทำให้เจ็บป่วยได้
-ผักและต้นไม้ ห้ามโค่นต้นโพธิ์ต้นไทรเดี๋ยวนางพญาแมกไม้จะลงโทษ ผลไม้จะต้องรอให้มันสุกก่อนถึงจะเก็บมากินได้ ห้ามเก็บกินขณะยังเป็นลูกอ่อน พืชผักและต้นไม้ทุกชนิดห้ามตัดทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ห้ามกาต้นไม้ เพราะเชื่อว่าต้นไม้ก็มีชีวิต รู้จักเจ็บรู้จักร้องไห้เช่นเดียวกับมนุษย์ ต้นไม้ที่ให้ผลเป็นอาหารแก่มนุษย์ห้ามนำมาสร้างบ้าน

ข้อห้ามระหว่างคนกับชุมชน 
ในสังคมกะเหรี่ยงจะมีกฎของชุมชนเพื่อให้คนในหมู่บ้านยึดถือปฎบัติในทิศทางเดียวกันเพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างปกติสุข ดังนั้นจึงมีกฎข้อห้ามหลายประการ เช่น


ข้อห้ามที่เกี่ยวกับกาลเวลา 
-ข้อห้ามที่เกี่ยวกับการย้ายเข้า ย้ายออกของคนในชุมชน 
-ห้ามตั้งหมู่บ้านบนเนินน้ำล้อม(เกาะ) 
-ห้ามเก็บหน่อไม้เกินกอละสามหน่อ 
-ห้ามตัดไม้ไผ่เกินกอละสามลำ 
-ห้ามเก็บชะอมกินในฤดูฝน 
-ห้ามเก็บสมุนไพรเกินขนาด หากเก็บเกินจะไม่เป็นยา


ข้อห้ามระหว่างคนกับคน 
-ห้ามเกี่ยวกับคนที่มีครรภ์ อย่ากินเนื้อหมูป่าและสัตว์ที่ถูกเสือกัดตาย 
-ห้ามเกี่ยวกับการเลือกคู่ครองและการแต่งงาน 
-ห้ามทะเลาะกันบนขันโตก 
-ห้ามข้ามหัวเหยียบเท้าผู้อาวุโส

เรื่องราวของข้อห้ามในชีวิตคนกะเหรี่ยงมีมากมาย ที่บรรพบุรุษยึดถือปฎิบัติกันมายาวนาน เช่น ข้อห้ามเกี่ยวกับการกินอาหารเป็นกุศโลบายสอนเด็กให้เชื่อฟังพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่ เช่น…

หัวไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะมีสมองไม่ใส 
คอไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะชอบเถียงพ่อแม่ 
ปีกไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะมีความเชื่องช้า 
ขาไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะชอบเที่ยวเตร่ 
กึ๋นไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะดื้อ 
ตับไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะขี้เกียจ 
ก้นไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะพูดมาก 
หัวใจไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กกินเด็กจะเกิดความอ่อนไหว เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น