วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ศาสนาและพิธีกรรม


ศาสนาและพิธีกรรม

ระบบความเชื่อของกะเหรี่ยงมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ เชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติและมนุษย์กับสิ่งที่ลี้ลับ
ความเชื่อถือของกะเหรี่ยงได้แผ่แทรกซึมและมีอิทธิพลมากต่อการประพฤติปฎบัติในชีวิตประจำวัน ดังนั้นคนกะเหรี่ยงจึงให้ความสำคัญในทางศาสนามากนั่น คือการนับถือผีและพุทธรวมกัน ผีที่นับถือซึ่งมีความสำคัญ ได้แก่ ผีหน้าที่ และผีต่างๆ (ต่ามึข่า) ที่สิงสถิตอยู่ตามป่า ภูเขา ลำห้วย ในไร่ ในนา ในหมู่บ้าน และในเรือนของตนเอง เป็นต้น ผีที่ถือว่าเป็นผีร้ายนั้นเชื่อว่าเป็นผีที่จะทำให้ประสบภัยพิบัติทั้งปวงจึงต้องมีการเอาอกเอาใจด้วยการเซ่นสังเวยด้วยอาหารต่างๆ ซึ่งได้แก่ หมู,ไก่,เหล้า,ข้าว,ขนม เป็นต้น
นอกจากมีความเชื่อในเรื่องผีต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันต่อพวกเขาแล้ว กะเหรี่ยงยังเชื่อในเรื่องขวัญซึ่งมีประจำตัวของแต่ละคน กะเหรี่ยงยังเชื่อว่าในร่างกายคนเรามีอยู่ทั้งหมด 33 ขวัญ ส่วนใหญ่ไม่สามารถนับได้หมดว่า ขวัญอยู่ในส่วนไหนบ้างขวัญอยู่ที่ศรีษะ ขวัญสองที่ใบหูทั้งสองข้าง ขวัญจะละทิ้งหรือหายไปก็ต่อเมื่อคนๆนั้นได้ตายไป นอกจากนั้นแล้วเชื่อกันว่าขวัญชอบที่จะหนีไปท่องเที่ยวตามความต้องการของมันเอง และก็อาจจะถูกผีร้ายต่างๆ ทำร้ายหรือกักขังไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วย การรักษาพยาบาลหรือวิธีที่จะช่วยเหลือคนเจ็บป่วยได้ ก็คือการล่อและเรียกขวัญให้กลับมาสู่บุคคลที่เจ็บป่วย พร้อมกับทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญด้วย ในสังคมของกะเหรี่ยงนั้นถือเป็นปกติธรรมดา เมื่อวันในหมู่บ้านจะทำพิธีเลี้ยงผีและการเรียกขวัญของคนเจ็บป่วยแทนการรักษาด้วยสมัยใหม่ บางครั้งแม้หมอจะมีหมอข้าไปช่วยรักษาให้ตามแบบทันสมัย แต่ถ้าหากที่บ้านผู้ป่วยนั้นได้รักษาด้วยการเลี้ยงผีแล้วเขาจะปฏิเสธที่จะรักษาทันทีอย่างน้อย 3 วัน
คนกะเหรี่ยงนับถือทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และนับถือผี เกือบร้อยละเก้าสิบถือผี ผีมีอยู่ทุกแห่ง ในป่า ในไร่นา ในลำธาร ผีและวิญญาณเป็นบ่อเกิดของคุณธรรมและค่านิยมหลายประการ เช่นการอยู่อย่างผัวเดียวเมียเดียว ไม่ประพฤติผิดลูกเมียใคร หรือการเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ชรา กับความเชื่อที่ว่าวิญญาณของบรรพบุรุษ คือผีบ้านเรือนที่คอยคุ้มครองดูแลลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นต้น ผีที่นับถือ คือผีบ้านและผีเรือน ผีบ้านเป็นผีเจ้าที่ที่คอยปกป้องดูแลหมู่บ้าน ผีเรือนเป็นผีดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งคอยปกป้องรักษาบุตรหลานเหลนผู้สืบตระกูลของตนด้วยความห่วงใย นอกนี้ยังมีผีประจำไร่หรือผีนา ซึ่งจะช่วยทำให้ผลิตผลของไร่นาเจริญงอกงาม ดังนั้จึงมีการทำร้านเลี้ยงผีไร่หรือผีนาก่อนทำการปลูกข้าวหรือพืชไร่
เมื่อเก็บเกี่ยวได้ผล ก็จะมีการเลี้ยงอีกครั้ง เรียกว่าประเพณีงานกินข้าวใหม่ มีการฆ่าไก่ฆ่าหมูเป็นเครื่องเซ่นบูชาดังเช่นประเพณีขึ้นปีใหม่ ชาวกะเหรี่ยงที่นับถือพุทธก็จะนำอาหารหรือเงินมาถวายพระที่วัด
คนกะเหรี่ยงมีความเกรงกลัวผีป่า ซึ่งถือว่าเป็นผีร้าย คอยทำร้ายผู้คนมากกว่าจะคุ้มครองป้องกันภัย ผีป่ามี 2 พวกคือ ผีป่าบก และผีป่าน้ำ ผีป่าบกจะรวมไปถึงผีป่า ผีภูเขา ผีเจ้าบ้าน ผีเจ้าเมือง เจ้าที่ ผีหลวงและผีฟ้า ส่วนป่าน้ำ ได้แก่ ผีซึ่งสถิตอยู่ตามลำห้วย ลำธาร บึง หนองน้ำ เป็นต้น
กาเสี่ยงทาย
เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น จะมีการเสี่ยงทายถึงสาเหตุ โดยให้หมอผีปักกระดูกไก่หรือจับข้าวสารเสี่ยงทายดู เช่น เมื่อเดินป่ากลับมาบ้านและเกิดอาการเจ็บป่วย จะทำพิธีปักกระดูกไก่และถามดูว่า ไปถูกผีที่ไหนทำร้ายเอา เมื่อกระดูกไก่แจ้งตรงกับตำราว่าไปถูกผีประเภทนั้นประเภทนี้ ก็จะตามไปเลี้ยงผีตรงนั้น ถ้าอาการป่วยยังไม่ทุเลา ก็ปักกระดูกไก่ไต่ถามอีกว่าถูกผีป่าหรือผีน้ำทำร้ายเอา และถามว่าเป็นผีกินไก่ กินหมู กินเป็นคู่หรือเดี่ยว เมื่อกระดูกไก่บอกอย่างไรก็ไปเลี้ยงผีตรงนั้นอีก
การเลี้ยงผี
การเลี้ยงผีมีหลายพิธีและต่างวาระกัน เช่น การเลี้ยงผีเพื่อฉลองโชคฉลองชัย ในโอกาสย้ายหมู่บ้านไปตั้งอยู่ในที่แห่งใหม่ การเลี้ยงผีเพื่อขอขมาลาโทษต่อเจ้าบ้านเจ้าเมือง ซึ่งเป็นผีป่า ผีหลวง ผีฟ้า และการเลี้ยงผีเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
พิธีเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษ
ในสังคมกะเหรี่ยง การเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษจะทำกันปีละครั้ง หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนวันทำพิธีลูกหลานทุกคนจะต้องมาค้างคืนที่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน หากมีใครขาดผู้ทำพิธีจะต้องเอาข้าวก้อนที่คนต้องกิน เก็บไว้ให้เขากินเมื่อเขากลับมาบ้าน หากเขาไม่กลับมาได้ส่งไปให้เขา มิฉะนั้นจะถือว่าการเลี้ยงผีไม่ได้ผล ในพิธีนี้คนกะเหรี่ยงนิยมใส่เสื้ออย่างกะเหรี่ยงทุกคนต้องสำรวมกิริยาวาจา จะพูดมากไม่ได้ มิฉะนั้นจะต้องเลิกพิธีเสียกลางคัน และต้องทำพิธีกันใหม่ในเดือนถัดไป และยังมีข้อควรปฏิบัติและห้ามอื่นๆ เช่น ต้องกินข้าวในขันโตกเดียวกันหมด ต้องหุงข้าวหม้อเดียวกินเส็จแล้วแม่บ้านต้องล้างขันโตกล้างจานคนเดียวจะใหห้คนอื่นช่วยไม่ได้ ถ้ายังมีคนกินข้าวไม่เสร็จคนอื่นๆ จะลงจากบ้านไม่ได้ ในวันทำพิธีห้ามการตัดผม ห้ามกินของที่มีรสเปรี้ยวอีกด้วย การทำพิธีเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษมี 2 แบบคือ แบบไม่มัดมือ และแบบมัดมัดมือ
  • -แบบไม่มัดมือ พิธีเริ่มด้วยการที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวนั่งล้อมรอบโตกข้าว พ่อบ้านหรือแม่บ้านจะเริ่มรับประทานก่อนด้วยข้าว 1 คำ กับเนื้อไก่ต้มและน้ำ จากนั้นแม่บ้านหรือพ่อบ้านก็ทำตาม และลูกๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ลูกคนโตไปจนถึงลูกคนเล็กสุด ทุกคนกินได้คนละคำเท่านั้น และกินได้รอบเดียว พอกินครบทุกคน ผู้ทำพิธีก็หยิบข้าวสุก 1 ก้อนและเนื้อไก่ที่ต้มกับแกง วางลงบนพื้นแล้วสวดมนต์ขอเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษทั้งหลาย มารับอาหารเครื่องเซ่น และขอให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นช่วยปกป้องคุ้มครองกันภัย ขอให้ชีวิตความเป็นของครอบครัวดีขึ้น ให้มีความสุขไม่เจ็บป่วย ทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้นก็รับประทานอาหารร่วมกันได้
  • -แบบมัดมือ พิธีเริ่มด้วยการที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวนั่งล้อมรอบขันโตกข้าว ในขันโตกข้าวมีข้าวและกับข้าวที่ทำจากไก่หรือหมู และมีด้ายขวัญขาวพาดบนอาหาร จากนั้นแม่บ้านเริ่มทำพิธีด้วยการหยิบด้ายขวัญมามัดมือให้พ่อบ้าน พร้อมกับกล่าวถ้อยคำเรียกขวัญ และวิงวอนขอให้ผีบรรพบุรุษและผีเรือนอำนวยความสุขความเจริญให้แก่พ่อบ้าน จากนั้นพ่อบ้านก็ผูกมือให้แม่บ้านและเรียกขวัญในทำนองเดียวกัน เสร็จแล้วทั้งพ่อและแม่ก็ผูกมือให้ลูกๆ คน พร้อมให้พรและเรียกขวัญให้ เมื่อมัดมือทุกคนแล้ว พ่อบ้านหรือแม่บ้านก็หยิบก้อนข้าว 1ก้อน ให้ตกลงลงบนพื้นดินเพื่ออุทิศให้กับผีบ้านผีเรือน จากนั้นทุกคนก็ร่วมกันกินข้าวได้
การเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษทั้ง2 แบบ ไม่ใช้เหล้าในการประกอบพิธี การเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษ นอกจะทำตามปกติปีละครั้งแล้ว เมื่อสมาชิกในบ้านอยู่ไม่สุขสบายมีคนเจ็บป่วยบ่อย และเลี้ยงหมู,ไก่ไม่เติบโต ก็อาจมีการเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษอีกได้ การเลี้ยงในลักษณะนี้มีพิธีการมากมาย จะต้องใช้เหล้าในพิธี รวมทั้งทำข้าวเหนียวต้มด้วย ต้องมีการเชิญหมอผีมาทำพิธี และเชิญแขกมาร่วมกินด้วย ซึ่งต่างจากพิธีเลี้ยงผีเรือนตามปกติที่ห้ามคนนอกครอบครัวกินอาหารด้วยเป็นอันขาด
พิธีกรรมงานศพ
งานศพเป็นงานที่ทุกคนต้องไปร่วมพิธี โดยเฉพาะหนุ่มสาว จะได้มีโอกาสทำความรู้จักสนิทสนมกัน แสดงความรักต่อกัน และอาจตกลงปลงใจแต่งงานกันในเวลาต่อมา กะเหรี่ยงที่มีฐานะดีจะเก็บศพไว้นานหลายวัน ส่วนมาก3 วัน 3 คืนเท่านั้น ศพจะถูกบรรจุไว้ในโลงและประดับประดาอย่างดี และมีการทำบุญกันอย่างเต็มที่ถ้าฐานะไม่ดีก็ใช้เสื่อหุ้มห่อศพแล้วเอาเส้นด้ายดิบพันรอบ นำไปฝังหรือเผา ตามความประสงค์ของญาติผู้ใหญ่ ถ้าผู้ตายเป็นแม่บ้านหรือแม่เรือนจะรื้นบ้านทั้งหลัง เพราะของเหล่านี้เป็นสมบัติของแม่บ้าน ถ้าเก็บไว้จะไม่เป็นมงคล
ในงานศพจะมีการฉีกทำลายเครืองนุ่งห่มและเครื่องใช้สอยของผู้ตายทั้งหมด แล้วนำไว้ในป่าช้า บางทีมีการฉีกธนบัตรชนิดต่างๆ ของผู้ตาย ทิ้งไว้บนหลุมฝังศพหรือเผา และมักจะเอาเหรียญโลหะเงินไปฝังตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่ให้ผู้ใดทราบว่าฝังไว้ที่ไหน เพื่อว่าผู้ตายจะได้เอาไปใช้ในเมืองผี
ในตอนกลางคืน พวกหนุ่มสาวจะเดินเป็นแถวเรียงหนึ่งรอบๆ ศพ พร้อมกับร้องเพลงรำพันถึงผู้ตาย ไว้อาลัยแก่ผู้ตายตลอดคืน และผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าศพ
พวกชาวกะเหรี่ยงเวลาคนตายจะเก็บศพไว้นานสามวันสามคืน เพื่อรอญาติพี่น้องทุกคนผู้ทุกคนมาเคารพศพ หากผู้ตายเป็นหญิงสาวหรือชายโสด บิดามารดาก็จะแต่งตัวให้ด้วยเสื้อแม่บ้านหรือพ่อบ้าน และนำไม้ที่แกะสลักเป็นอวัยวะเพศตามลำดับ เมื่อนำไปเผาเพราะเชื่อว่าเมื่อเสียชีวิตลง ก่อนวิญญาณจะไปสู่สุคติจะต้องผ่านด่านพระยมบาลเสียก่อน ยมบาลจะค่อยตรวจสอบว่าคนใดแต่งงานแล้ว และคนใดยังไม่แต่งงาน
คนที่แต่งงานแล้วก็จะให้ผ่านด่านไปสุคติได้ แต่คนใดที่ยังไม่แต่งงานก็ไม่ให้ผ่านด่าน ถือว่ายังทำหน้าที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เมื่อตอนมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ อีกความหมายหนึ่งเพื่อเป็นการป้องกันผีเลวทรามและซุกซนทั้งหลาย ไม่ให้มาฉุดคร่าพาหญิงสาวและชายโสดไปจากสุคติ โดยเหตุนี้การนำไม้มาแกะสลักเป็นตามเพศจึงเป็นสัญลักษณ์บอกให้พระยมบาลรู้ว่าพวกเขาแต่งงานแล้วนะ ยอมให้พวกเขาไปสู่สุคติแต่โดยดีเถอะ
ในคืนแรก ช่วงหัวค่ำจะมีกลุ่มพ่อบ้านและหนุ่มๆ ขึ้นมาเดินรอบศพและขับลำนำสำหรับศพโดยเฉพาะ ซึ่งเนื้อหาจะมีความหมายไปในทางอวยพรและส่งวิญญาณสู่สุคติ ให้กลับไปอยู่ดีมีสุขในโลกหน้า ช่วงขับลำนำสำหรับศพนี้ จะไม่มีหญิงสาวขึ้นมาขับด้วยเพราะถือเป็นข้อห้าม บทลำนำที่ผู้ขับต้องการให้วิญญาณกลับไปอย่างมีความสุขในสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า และอีกบทหนึ่งที่กล่าวถึงการชี้หนทางให้วิญญาณกลับไปสู่สุคติ ซึ่งเชื่อว่ามีความตรงกันข้ามกับโลกนี้อย่างสิ้นเชิง ให้ผู้ตายรับรู้ล่วงหน้าว่ากาลข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เพื่อจะได้เห็นทางและกลับไปถึงที่หมายอย่างอย่างปลอดภัย
หลังจากเสร็จสิ้นการขับลำนำสำหรับศพแล้ว ก็จะเป็นโอกาสของหนุ่มสาวขึ้นมาขับลำนำต่อ ซึ่งการขับลำนำในช่วงที่สองนี้จะขับตลอดสามวันสามคืน จะไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศพเลย แต่จะเกี่ยวข้องกับการเกี๋ยวพาราสีและพูดจาหยอกล้อกันระหว่างหนุ่มสาว เพื่อสร้างบรรยากาศไม่ให้ญาติผู้ตายเศร้าโศกเสียใจมากจนเกินไป นับเป็นโอกาสพิเศษที่พวกเขาเหล่านั้นได้มาพบปะกันพูดคุยและเกี๋ยวพาราสีกันและกัน หลายครั้งหลายคู่ได้จับตาหมายหมั้นและตกลงปลงใจมาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นฝั่งเป็นฝา
เมื่อครบสามคืน ช่วงสายของวันรุ่งขึ้นญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านก็จะช่วยกันนำศพไปเผาที่ป่าประจำหมู่บ้าน โดยจะช่วยกันหามไปเมื่อถึงป่าช้าก็ช่วยกันหาเศษไม้แห้งบ้างและสดบ้างมากองไว้เป็นกองใหญ่ แล้ววางศพไว้บนกองนั้น จากนั้นก็จะจุดไฟเผาและรอจนกว่าจะไหม้ บางคนนิยมการฝังก็ไปฝังกัน
ส่วนเสื้อผ้าอาภรณ์และของใช้ของผู้ตายนั้นไม่มีการเผาพร้อมศพ แต่ญาติพี่น้องก็จะนำไปกองไว้ที่โคนต้นไม้คต้นในต้นหนึ่งระหว่างทางเดินไปป่าช้า กองเสื้อผ้าและของใช้เหล่านี้เรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า “เสอะเล” การที่ไม่มีการเผาและเก็บเอาไว้นี้เพื่อป้องกันวิญญาณไม่ให้กลับบ้านมาทางถามเสื้อผ้าอีก หากกลับมาให้กลับมาถึงเสอะเลก็พอแล้ว ด้วยเกรงว่าจะเป็นการมารบกวนลูกหลานหรือญาติพี่น้อง ซึ่งอาจทำให้พวกเขาล้มป่วยลงอีก
เมื่อผู้ร่วมไปเผาศพกลับมาถึงหมู่บ้านก็จะไม่กลับขึ้นบ้านของตนทันที จะต้องกลับไปที่บ้านของศพเสียก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่หามศพหรือจับต้องเครื่องใช้และเสื้อผ้าของคนตาย เพื่อกลับรดน้ำสระหัวด้วยส้มป่อยและขมิ้นที่ญาติของผู้ตายเตรียมไว้ให้แล้ว ซึ่งหมายถึงการขอขมาลาโทษ ขออย่าให้เจ็บไข้ได้ป่วยและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ประการใด
หลังจากนั้นสามวันสามคืน ลูกหลานหรือญาติพี่น้องจะไม่เข้าไปนอนตรงบริเวณที่ของผู้ตาย และช่วงเวลาเดียวกันนี้จะห้ามการออกไปทำงานด้วยเช่นกัน เรียกข้อห้ามนี้ในภาษากะเหรี่ยงว่า “ดึนา เกราะ” โดยถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องรอให้วิญญาณกลับจนว่าจะถึงสุคติเรียบร้อยและแน่ใจว่าจะไม่กลับมาที่บ้านอีกแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น