วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชนชาติไทย


ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชนชาติไทย

ชนชาติกะเหรี่ยง ซึ่งชนชาติไตในรัฐฉานและชาวมณฑลพายัพรวมกันเรียกพวกเขาว่า ยางแดง อีกชนเผ่าหนึ่งเราพวกเขาว่า ยางขาวและพวกเขาเองซึ่งเป็นยางแดง เรียกชนชาติของเขาว่า กะยา พวกยางขาวเรียกชนชาติเขาว่า ก่อทูเล กะเหรี่ยงยางแดงและกะเหรี่ยงยางขาว แบ่งออกเป็นสองพวกด้วยกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติกะเหรี่ยงขาวกับกะเหรี่ยงยางแดงนั้น ได้มีปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์และพงศาวดารของเมืองเชียงใหม่ ในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยดังกล่าวนี้ ตรงกับปีเถาะ พ.ศ. 2326 ขณะนั้นเมืองเชียงใหม่ได้ตกอยู่ในความปกครองของกษัตริย์ไทยแห่งกรุงสยาม โดยมีพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละยังทรงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อยู่ในขณะนั้น พระอนุชาของพระองค์มีอยู่สองพระองค์คือ พระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือกธรรมลังกา (พระเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 2) ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่และเจ้าเศรษฐีคำฝั้น ซึ่งยังมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนหัวเมืองเชียงใหม่
พระเจ้ากาวิละ ได้ออกจากเมืองนครลำปาง เพื่อมารับตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นเมืองเชียงใหม่ยังเป็นป่ารก มีป่าไม้เคลือบคลุมหนาแน่น อีกทั้งกำลังผู้คนก็มีน้อย ไม่มากพอที่จะรักษาพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของเมืองได้ จึงได้หยุดกำลังทัพจัดตั้งเมืองอยู่ที่บ้านป่าซาง เมืองลำพูน ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเช่นเดียวกับเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นเหมือนกัน ในกาลครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พระอนุชาทั้งสองพระองค์ของพระเจ้ากาวิละ มารับตำแหน่งเป็นพระยาอุปราชและพระยารัตน หัวเมืองเชียงใหม่ร่วมกับพระเชษฐาด้วยกัน
ในปีเถาะ พ.ศ. 2326 พระเจ้ากาวิละกับพระอนุชาทั้งสองพระองค์ได้ทรงสืบทราบว่าทางด้านเหนือขึ้นไปนั้นเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้สักซึ่งขึ้นอยู่อย่างหนาแน่ตลอดสองแนวฝั่งแม่น้ำคง (สาละวิน) โดยมีชนชาติเผ่ากะเหรี่ยงยางแดง อยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำทางด้านทิศตะวันตกมีกะเหรี่ยงขาวอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แต่กะเหรี่ยงยางแดงและกะเหรี่ยงยางขาวทั้งสองกลุ่มนี้มิได้ขึ้นกับชนชาติพม่าแต่อย่างใด ได้ตั้งเมืองเป็นอิสระปกครองตนเองภูมิประเทศของเมืองยางแดงนี้ครอบคลุมไปด้วยป่าไม้สัก ซึ่งยากต่อการรุกรานของชนชาติพม่า ประกอบกับดินแดนของชนกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มนี้เป็นชัยภูมิหน้าด้านของเชียงใหม่ ซึ่งถ้าพม่าจะยกทัพเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่จะต้องข้ามบริเวณนี้เสียก่อนถึงจะผ่าน น้ำสาละวิน ได้อย่างรวดเร็ว
จากแผนการป้องกันชาติบ้านเมืองดังกล่าวพี่น้องทั้งสามองค์ได้นำปัญหานี้มาปรึกษาหารือกันและได้ตกลงกันว่าจะต้องเจริญสัมพันธะไมตรี ผูกมิตรต่อกันไว้ดีกว่าทั้งนี้จะได้พึ่งพาชนชาติกะเหรี่ยง ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นดินแดนผืนเดียวกันกับอาณาจักรล้านนา ให้เป็นเมืองด้านของเชียงใหม่ด้วย จึงได้ตกลงมอบให้พญาสามล้าน ผู้เป็นทั้งนักการทูตและนักการทหาร โดยนำถ้วยชาม 30 ชิ้น ผ้าแพรและหนังสือเป็นทูตสันถวะไมตรี เดินทางออกจากเมืองเชียงใหม่พร้อมคณะ ถึงบ้านหัวตาดเป็นอันดับแรก ซึ่งต่อมาภายหลังบริเวณเหล่านี้ ได้กลายเป็นแหล่งชุมชนหนาแน่นและกลายเป็นเมืองกันตะระวดี บรรดาเมืองเล็กเมืองน้อยในบริเวณใกล้เคียงต่างมีความสุขความเจริญขึ้นมาตามลำดับ
เจ้าแสนตาดดำ ประมุขกะเหรี่ยงแดงในขณะนั้นได้ต้อนรับคณะทูตจากเชียงใหม่ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่งต่อกัน พร้อมกับรับของที่ระลึกจากพระเจ้ากาวิละแห่งเมืองเชียงใหม่ ที่มอบของฝากคณะทูตสันถวะไมตรีมาให้ ได้แก่ ถ้วยชาม, ผ้าแพร และของใช้ที่จำเป็นอีกจำนวนหนึ่ง จากนั้นได้ให้ความกรุณาแนะนำหัวหน้าชาวเมืองเชียงใหม่ ให้คนเชียงใหม่และลำพูนมาที่ตั้งรกรานในถิ่นกะเหรี่ยงยางแดงจำนวนหลายร้อยครอบครัว ตามบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสาละ-วินหลายแห่งด้วยกัน ซึ่งส่วนหนึ่งอพยพลี้ภัยก่อนแล้วจากสงครามระหว่างเชียงใหม่กับพม่า กลับไปยังถิ่นฐานเดิมพร้อมกับรับรองความปลอดภัยโดยกลับมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านป่าซาง เพาะชาวเชียงใหม่นั้นหลบหนีภัยมายังด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน(คง) และพร้อมกันนั้นได้จัดกำลังทหารกะเหรี่ยงแดงให้เข้าร่วมในการเกลี้ยงกล่อมนายบ้าน นายแขวงบ้านตองโผะ (ตองปุ) ซึ่งเดิมทีมีรกรานอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ขอให้อพยพกลับไปยังถิ่นเดิม พร้อมกับรับรองให้ความปลอดภัยและให้ความอบอุ่นพวกเขาเหล่านั้นเป็นอย่างดี หัวหน้าบ้านตองโผะก็ได้รวบรวมพรรคพวกเดินทางอพยพมาแต่โดยดี โดยกลับมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านป่าซางเป็นการเพิ่มพลเมืองเป็นอันดับแรก ตามแบบฉบับของพระเจ้ากาวิละที่มีนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง “
ในปีเดียวกันเจ้าอุปราชธรรมลังกาและเจ้ารัตนเมืองแก้วคำผั้น ได้จัดถ้วยชาม 60 ชิ้น ผ้าไหมและของมีค่าจำนวนมากเดินทางไปยังเมืองหลาง และได้เข้าพบกับเจ้าแสนหลวง ประมุขกะเหรี่ยงขาว ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาความกันยอมเป็นมิตรไมตรีต่อกันพร้อมที่จะช่วยเหลือเมื่อถูกพม่ารุกราน เจ้าแสนเมืองได้ถือโอกาสชักชวนให้เจ้าจากเชียงใหม่ไปพบเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อ(ลูกชาย) เป็นพ่อเมืองทลาง (ผาปูน) และที่เมืองผาปูนแห่งนี้มีผู้คนจากเมืองเชียงใหม่และลำพูนหลบหนีสงครมพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและอยู่อย่างสุข เช่นเดียวกับกะเหรี่ยง จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ได้ทำพิธีสาบานเป็นมิตรต่อกัน โดยพิธีจัดขึ้นที่ท่าเมืองหลวงเรียกว่า “ท่าสะยา” พิธีเริ่มขึ้นโดยเจ้าฟ้าระภาผ่อได้สั่งฆ่ากระบือตัวใหญ่ที่สุดตัวหนึ่ง ผ่าเขากระบือออกเป็นสองซีก แล้วยื่นซีกหนึ่งให้แก่อุปราชธรรมลังกาถือไว้เป็นตัวแทนชาวเชียงใหม่ทั้งปวง อีกซีกหนึ่งเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อถือไว้เป็นตัวแทนของชาวกะเหรี่ยงทั้งมวล ทั้งสองฝ่ายกล่าวสัจจะปฏิญญาต่อกันว่า

 “ ตราบใดแม่น้ำคงไม่หายเขาควายไม่ซื่อ ถ้ำช้างเผือกไม่ยุบ 
เมืองยางกับเมืองเชียงใหม่ ยังเป็นไมตรีต่อกันตราบนั้น ”

ทั้งสองฝ่ายได้กล่าวเป็นภาษาของตนและต่างเก็บเขากระบือรักษาไว้ ถือเป็นวาจาสัตย์ที่มีต่อกันสืบต่อไปในภายภาคหน้า
ต่อมาเจ้ารัตนเมืองแก้วคำผั้น อนุชาของเจ้าอุปราชธรรมลังกา ซึ่งได้เดินทางไปด้วยในครั้งนี้ได้เกิดมีใจรักสมัครผูกพันธ์รักใคร่ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับเจ้านางตาเวย บุตรีของเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อ ทั้งคู่แต่งงานกันและตกลงปลงใจเป็นคู่ชีวิตต่อกัน หลังจากเสร็จพิธีการแล้วได้เดินทางกลับเมืองเชียงใหม่นับเป็นครั้งแรกที่เจ้านายเมืองเชียงใหม่ ได้ทำการสมรสกับเจ้าหญิงกะเหรี่ยง บุตรีเจ้าฟ้าเมืองยางแดง ซึ่งมีศักดิ์และมีฐานันดรเดียวกันและเจ้านางตาเวยองค์นี้ ต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฬ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) ว่า “เนตรนารีไวย”
เจ้านางเนตรนารีไวย เป็นทายาทเจ้าเมืองกะเหรี่ยงเจ้าของป่าไม้สัก ซึ่งทำความร่ำรวยมั่งคั่งให้แก่เศรษฐีคำผั้นและบุตรหลานในสกุล ณ เชียงใหม่
ภายหลังต่อมาได้มีราชบุตรและธิดากันกับเจ้ารัตนเมืองแก้วคำผั้นหรือเจ้าหลวงเศรษฐีคำผั้นถึง 5 องค์ด้วยกัน ราชบุตรองค์ใหญ่ชื่อว่า “เจ้ามหาพรมคำคง” ได้เข้ารับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ต่อมาได้เป็นเจ้าราชวงศ์ของเมืองเชียงใหม่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เจ้าราชวงศ์ทรงเป็นพระบิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (อินทนนท์ ณ เชียงใหม่) เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 ครองเมืองในปีพุทธศักราช 2416-2439 องค์สุดท้ายก่อนรวมกับสยามแบบสมบูรณ์ (หมายเหตุ *แต่ยังมีเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่อยู่ 2 องค์ แบบไม่มีอำนาจเจ้าเมืองสั่งการเต็มแล้ว อันดับที่ 8 คือ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เป็นโอรสของเจ้าอินทวิชยานนท์ และเป็นพระเชษฐาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในราชกาลที่ 5 ครองเมืองเชียงใหม่ ในระหว่างปี พ.ศ.2444-2452 และมีเจ้าครองเมืองเชียงใหม่ อันดับที่ 9 ซึ่งเป็นองศ์สุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการครอง ยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมือง คือ เจ้าแก้วนวรัฐ โอรสของเจ้าอินทวิทยานนท์ และเป็นอนุชาของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ได้ครองเมืองเชียงใหม่ ในระหว่าง พ.ศ.2454-2482 ซึ่งเป็นอันสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มาตั้งแต่บัดนั้นมา โดยเปลี่ยนระบบมาเป็นผู้ว่าราชการแทน ดังเช่นในปัจจุบันนี้)
แม่เจ้าเนตรนารีไวยเป็นทายาทเจ้าของป่าไม้สัก ซึ่งทำความมั่งคั่งให้กับเศรษฐีคำผั้นและบุตรหลานในสกุล ณ เชียงใหม่ ผู้สืบเชื้อสายตรงจากแม่เจ้าเนตรนารีไวยและสืบสายจากเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อ ครั้นต่อมาพระเจ้ากาวิละได้ถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าอุปราชธรรมลังกาได้ขึ้นเสวยเมืองเป็นพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ต่อมา มีนามว่า “พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา” ที่ขนานนามเช่นนี้เพราะว่าในสมัยของท่าน ได้นำช้างเผือกเชือกหนึ่งซึ่งได้พบในเมืองเชียงใหม่ไปทูตถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่2) ณ กรุงรัตนโกสินทร์ จนถือได้ว่าสยามกับลานนาและกะเหรี่ยงเป็นทั้งญาติสนิท เป็นทั้งมิตรสหายกันมาช้านาน และมีเชื้อสายสืบทอดกันมาแต่โบราณกาล ดังที่กล่าวมาแล้วด้วยประการฉะนี้แล.
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า เจ้ารัตนเมืองแก้วคำผั้นได้มีใจรักใคร่กันกับเจ้านางตาเวย บุตรีของเจ้าฟ้าน้อยระภาผ่อ ทั้งคู่แต่งงานกันและเดินทางกลับเชียงใหม่ นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ทำการสมรสกับเจ้าหญิงกะเหรี่ยง บุตรีเจ้าเมืองยางแดง ต่อมารัชกาลที่ 1 แห่งกรุงสยาม ได้พระราชทานนามเจ้านางตาเวยว่า “เนตรนารีไวย” แม่เจ้าเนตรนารีไวย เป็นทายาทเจ้าเมืองกะเหรี่ยงเจ้าของป่าไม้สัก ซึ่งทำความร่ำรวยมั่งคั่งไห้แก่เศรษฐีคำผั้นและบุตรหลานในสกุล ณ เชียงใหม่
ภายหลังต่อมาเจ้าเผือกธรรมลังกาได้ให้เจ้าหนามมหาวงศ์ไปตรวจราชการ และไปเยี่ยมเจ้าเมืองกะเหรี่ยง ด้วยความสนิทชิดเชื้อกับเจ้าแสนตาดคำเจ้าประมุขกะเหรี่ยงยางแดง เจ้าหนามมหาวงศ์จึงได้เจ้านางคำแผ่น บุตรีคนสุดท้ายของเจ้าแสนตาดคำมาเป็นเมีย ต่อมาเจ้านางคำแผ่นได้เป็นมารดาของเจ้าแม่อุษามหาเทวีในพระเจ้ากาวิโรรสสุริยะวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 และเจ้าแม่อุษามหาเทวีได้เป็นเจ้ามารดาของเจ้าแม่ทิพย์ไกรสร ซึ่งต่อมาเจ้าแม่ทิพย์ไกรสรเป็นมหาเทวีของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (เจ้าอินทนนท์) เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ให้กำเนิดสมเด็จพระราชชายา “เจ้าดารารัศมี” พระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 (เพชร์ลานนา เหนือแคว้นแดนสยาม โดยปราณี ศิริธร หน้าที่ 453-456 )
ส่วนประวัติศาสตร์ตำนานการสร้างนครพิงค์หรือนครเชียงใหม่นั้น โดยพญามังรายหรือพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงค์มังรายได้ทรงสร้างขึ้นให้เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาหรือที่เรียกกันว่า “อาณาจักรล้านนา” เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1,839 พญามังรายทรงได้รวบรวมเอาหัวเมืองหรือบ้านเล็กเมืองน้อย ซึ่งตั้งกระจัดกระจายกันอยู่โดยไม่ขึ้นแก่กัน เข้าไว้ในแผ่นดินของล้านนาให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน พญามังรายทรงเป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเมง ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าลาวจังกราช ซึ่งเป็นผู้สร้างอาณาจักรโยนก(เชียงแสน) พระมารดาของพระองค์คือ พระนางอั้วมิ่งจอมเมืองหรือพระนางเทพคำขยาย พญามังรายประสูติเมื่อปีพุทธศักราช 1781 ครั้นพระชนมายุได้ 22 ปี ก็ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเมืองหิรัญนครเงินยาง ต่อจากพระเจ้าลาวเมงพระราชบิดาในปีพุทธศักราช 1802 ต่อมาในปีพุทธศักราช 1805 พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงรายให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ ในขณะนั้นดินแดนทางเหนือก็ยังมีนครหิรัญนครเงินยางอยู่ โดยมีพญามังรายเป็นเจ้าผู้ครองนครและแคว้นภูกามยาวหรือเมืองพะเยา ก็มีพญางำเมืองผู้เป็นเครือญาติห่างๆ ครองนครนั้นอยู่ และทางแคว้นหริภุญไชยหรือเมืองลำพูน ก็ยังมีพญายี่บากษัตริย์ขอมเป็นผู้ครองนครนั้นอยู่เช่นกัน
ในขณะที่พญามังรายกำลังเรืองอำนาจอยู่ในอาณาจักรล้านนานั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกำลังเรืองอำนาจอยู่ในอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระสหายร่วมสำนักเดียวกันกับพญางำเมือง ผู้เป็นใหญ่แห่งอาณาจักรภูกามยาวหรือเมืองพะเยา ต่อมากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ก็ได้เป็นพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานต่อกัน *อาณาจักรล้านนา กษัตริย์ราชวงค์มังรายปกครองต่อเนื่องกันมารวม 18 พระองค์ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 1839-2121 นับจากนี้ต่อไปอีกเกือบ 200ปี ก็ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของพม่าคือปี พ.ศ.2121-2317 และเมื่อปีพุทธศักราช 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าสำเร็จเด็ดขาด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาณาจักรล้านนาก็ได้ตกเป็นของไทยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น